จาก “เต่าบิน” ถึง “กิ้งก่า” เจน 2 “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น”

กิ้งก่า GINKA EV แท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ดิษนีย์ นาคเจริญ

ถึงวันนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จักแบรนด์คาเฟ่อัตโนมัติ “เต่าบิน” เพราะบินไปอยู่ตามคอนโดฯ ห้างสรรพสินค้า ย่านชุมชน และออฟฟิศบิลดิ้งกว่า 5 พันแห่งทั่วประเทศแล้ว กับเป้าหมาย 2 หมื่นตู้ใน 3 ปีข้างหน้า แต่อาจมีไม่มากนักที่จะรู้ ว่าทั้งแบรนด์ และโปรดักต์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

“เต่าบิน” เป็นอีกธุรกิจในเครือ “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” เจ้าของตู้เติมเงิน “บุญเติม” ซึ่งในแวดวงธุรกิจไอทีและโทรคมนาคมเมืองไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี

คุณตอง-วทันยา อมตานนท์ เป็นบุตรสาวคนโตของ “พงษ์ชัย อมตานนท์” เจ้าของอาณาจักรฟอร์ทฯ เป็นเจน 2 ที่ถือเป็นลูกไม้ใต้ต้นอย่างแท้จริง

เธอจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรม ที่อิมพีเรียลคอลเลจ ปริญญาโทด้านบริหารที่ UCL (University College London) หลังเรียนจบก็ทำงานที่เมืองนอกมาตลอด ทั้งในบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ และบริษัทสตาร์ตอัพ

“ถ้าไม่มีโควิดแล้วกลับมาไทย ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าคงจะวนเวียนทำงานอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีเหมือนเดิม ไม่กับบริษัทสตาร์ตอัพ ก็คงเป็นบริษัทเทคฯใหญ่ ๆ โดยส่วนตัวตองชอบทำงานกับอะไรที่มีอินโนเวชั่นใหม่ ๆ เผอิญช่วงโควิดกลับมาไทย แล้วมาเห็นว่ามีโปรเจ็กต์ตู้เวนดิ้งแมชีนตัวนี้พอดี พอดูแล้วก็คิดว่าไปได้อีกไกล เลยเริ่มพัฒนา เริ่มโฟกัสว่าจะอยู่ไทยต่อ ทั้งที่ตอนแรกกะว่าจะกลับมาเที่ยว มาเยี่ยมบ้านเฉย ๆ”

ที่มาของชื่อ “เต่าบิน” เธอเล่าว่า เป็นชื่อที่อยู่ดี ๆ ก็นึกออกขึ้นมา ซึ่งเหมาะเจาะพอดีกับการเป็นตู้ชงเครื่องดื่มที่ต้องใช้เวลาชง แต่เมื่อใครได้ลองก็จะรู้สึกว่า “อร่อยเหาะ” จึงกลายมาเป็น “เต่าบิน”

ความดังของ “เต่าบิน” วันนี้ อาจทำให้หลายคนมองว่าประสบความสำเร็จแล้ว แต่เธอบอกว่าผ่านอุปสรรคมาไม่ใช่น้อย

“ปัจจุบันก็ยังมีอุปสรรคอยู่เรื่อย ๆ ตู้ที่เห็น ๆ อยู่หลายคนอาจเห็นว่า ตู้หน้าตาเดิม ๆ มาตลอด แต่ความจริงแล้วข้างในมีการเปลี่ยนโมดูลเกิน 20 โมดูล กว่าที่จะเริ่มคงที่และพัฒนามาได้ขนาดนี้ มีปัญหาที่ต้องปรับปรุงหลายอย่าง กว่าจะมาได้ถึงจุดนี้ ยกตัวอย่างหลายคนที่ได้มีโอกาสทานเต่าบินรุ่นแรก ก็จะสังเกตว่ากาแฟแต่ละแก้วใช้เวลานานกว่านี้มาก เครื่องแรก ๆ ยังทำเครื่องดื่มปั่นไม่ได้ด้วยซ้ำ”

“วทันยา” ย้ำว่า วันแรกของ “เต่าบิน” ไม่ใช่เกิดมาแล้วบินได้เลย แต่มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุุด

“เรื่องการบริหารจัดการเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ สำหรับเต่าบิน เราให้ความสำคัญกับซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี เราลงทุนเพื่อทำให้ทุกอย่างง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยวางแผนล่วงหน้า เช่น ถ้าแก้วแบบนี้จะเริ่มใช้เดือนหน้า ก็จะต้องมีการแพลนว่าเป็นวันไหนในการเริ่มใส่อะไรเข้าไป”

และได้ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์การทำงานกับเทคโนโลยีในต่างประเทศมาช่วย เช่น บริษัทเทคโนโลยีของต่างประเทศจะโฟกัสเรื่อง “อินโนเวชั่น” ทำให้การออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องนำสมัยกว่าคนอื่นเสมอ ทำให้ “ตู้เต่าบิน” ไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ

นอกจากโปรดักต์หรือตัวตู้แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนระบบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการ โดยมี “อินเฮาส์ทีม” คิดค้นและพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองโดยเฉพาะ มีการนำ “แมชีนเลิร์นนิ่ง” มาใช้เพื่อลดต้นทุนต่าง ๆ โดยไม่ลืมให้ความสำคัญกับการมองไปยังความต้องการของ “ลูกค้า” เป็นตัวตั้ง

กับโปรดักต์ใหม่ ตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “กิ้งก่าอีวี” ก็ด้วย เป็นชื่อที่นึกออกเป็นชื่อแรก ๆ และคิดว่าเหมาะเจาะกับโปรดักต์ตรงที่ “กิ้งก่า” เป็นสัตว์ที่มักอยู่กับต้นไม้และธรรมชาติ สอดคล้องกับความเป็น “อีวี” ทั้งโดยคอนเซ็ปต์ยังตั้งใจว่าจะทำหน้ากากด้านหน้าของตัวตู้ให้เปลี่ยนได้ตามพื้นที่ เหมือนกับ “กิ้งก่า” ที่เปลี่ยนสีได้ คาดว่าจะเริ่มเห็นในไตรมาส 3 ปีนี้

ทั้งเต่าบินและกิ้งก่าอีวี จึงเป็นโปรดักต์ของเจน 2 ที่ต่อยอดความสำเร็จของเจน 1 อมตานนท์-ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น ได้อย่างน่าสนใจ