อียู-สหรัฐจับตา กฎหมายประมงใหม่ หวั่น NTB รีดค่าธรรมเนียมการค้าสัตว์น้ำ

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประมง

ลุ้นกฎหมายประมงใหม่ คลอดทัน มิ.ย. 2567 หลังสภาผ่านวาระ 2 ตั้ง “ปลอดประสพ สุรัสวดี” ประธาน กมธ.วิสามัญกฎหมาย รวมร่างอีก 8 ฉบับ ส.ประมงหวังแก้ให้สอดคล้องบริบทปัจจุบัน “หอการค้า” หารือธรรมนัสวอนทบทวน หลัง “สหรัฐ-อียู” ส่งสัญญาณค้านแก้กฎหมาย ตั้งกำแพงเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาท/กก. สะเทือนตลาดส่งออก

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … เรียบร้อยแล้ว

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. … ซึ่งมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานคณะกรรมาธิการ คาดว่าน่าจะสามารถสรุปผลการพิจารณาร่างได้ทันในการเปิดสภาในเดือนมิถุนายน 2567 นี้แน่นอน

ทางสมาคมยังให้ความสำคัญในการแก้ไขเรือประมงพาณิชย์ โดยเฉพาะเรื่องของกฎระเบียบ ขั้นตอนการขึ้นทะเบียน เอกสารที่เป็นต้นทุนของเรือประมงให้สอดคล้องกับปัจจุบัน แรงงาน การขนย้ายสินค้าสัตว์น้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. อยู่ในชั้นกรรมาธิการในการพิจารณา ซึ่งต้องรอความชัดเจนและรายละเอียดถึงจะสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ว่าร่างกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นไปตามความต้องการหรือสอดคล้องกับปัจจุบันมากน้อยแค่ไหนที่ชาวประมงต้องการ

อย่างไรก็ดี จากข้อมูลพบว่า การแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ดังกล่าว เพื่อต้องการช่วยเหลือประมงพื้นบ้านชายฝั่ง ใน 20 จังหวัดที่มีอยู่กว่า 6 แสนกว่าครัวเรือน และได้รับผลกระทบ และต้องเลิกอาชีพไป จาก พ.ร.ก. ปี 2558 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี 2560 ซึ่งเมื่อ 8-9 ปีก่อน ที่ต้องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ของประเทศคู่ค้า และได้เอาผิดทั้งประมงพาณิชย์นอกน่านน้ำ และประมงพื้นบ้านชายฝั่งทั้งหมด โดยไม่ได้แยกประมงพื้นบ้านออกมา

Advertisment

ดังนั้นจึงได้ดำเนินการแก้ไข เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด และเพื่อช่วยเหลือภาคการผลิตสินค้าประมงภายในประเทศ

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) เมื่อเร็วๆนี้ เพื่อให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพิจารณาการปรับแก้ไข พ.ร.บ.ประมง อย่างรอบคอบให้สอดรับกับเรื่องกฎระเบียบของโลกที่เปลี่ยนไป

“การแก้ไขกฎหมายต้องตามให้ทัน แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นและจำเป็นต้องดูดี ๆ เรื่องกฎหมายในแง่ของกฎระเบียบของกระทรวง ซึ่งบางครั้งเป็นการแก้ไขเพื่อตอบโจทย์การทำงานของพรรคการเมือง สุดท้ายจะไปขัดกับกฎระเบียบโลก ยกตัวอย่าง เช่น พ.ร.บ.ประมง ที่มีการแก้ไข วาระ 2 เราได้รับสัญญาณจากคู่ค้าต่างประเทศทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป (EU) ว่า ถ้าแก้แบบนี้ก็จะกลับไปเหมือนเก่า ทางหอการค้าจึงได้ส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล และได้ประชุมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

พร้อมทั้งให้มุมมองต่อประเด็นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสัตว์น้ำ ตามบทแนบท้าย ว่าหากจะเรียกเก็บทั้งหมดทั้งนำเข้าและส่งออก อัตรา 20 บาท/กก. เรื่องนี้จะกลายเป็นมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTB) ที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อไทยได้

Advertisment

“ปกติแล้วไทยส่งออกมากกว่านำเข้า ถ้าไทยตั้งกำแพงเรื่องนี้เมื่อไหร่ประเทศอื่นจะตั้งกำแพงนี้บ้างเหมือนกัน”

สำหรับการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามที่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอพร้อมกับร่างกฎหมายเดียวกันอีก 7 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคการเมืองต่าง ๆ

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) 2567 การส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป มีมูลค่า 1,291.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูปมูลค่า 207.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.4%

ส่วนการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป ของไทยมีมูลค่า 723.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน