โจทย์ใหญ่ “ทีมคลัง” 4 รัฐมนตรีปั๊มเศรษฐกิจ-เพิ่มรายได้-ลดภาระรัฐ

team

กระทรวงการคลังถึงยุคที่ต้องมีรัฐมนตรีถึง 4 คนอีกครั้ง หลังการปรับ ครม. “เศรษฐา 1/1” สะท้อนให้เห็นว่า จากนี้ “นโยบายการคลัง” จะมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

4 รัฐมนตรี “ทีมคลัง”

โดย “พิชัย ชุณหวชิร” เข้ามานั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ควบกัน และแน่นอนว่าคงจะเป็นรองนายกฯ ที่รับหน้าที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ หรือเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” นั่นเอง

ขณะที่ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ไม่ได้ขยับไปไหน เนื่องจากเป็น “คีย์แมน” สำคัญในการผลักดันนโยบาย “เรือธง” ต่าง ๆ ของ “พรรคเพื่อไทย”

เช่นเดียวกับ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” รมช.คลังอีกราย แม้จะเป็นโควตา “พรรครวมไทยสร้างชาติ” แต่ก็ช่วยงานรัฐบาลได้มาก เนื่องจากสามารถกุมสภาพข้าราชการกระทรวงการคลังได้ทั้งหมด เพราะเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังที่ลาออกก่อนเกษียณมารับตำแหน่ง รมช.คลังนั่นเอง

สุดท้าย “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลังคนใหม่ป้ายแดง คนรุ่นใหม่ที่พรรคเพื่อไทยไว้วางใจ และมีบทบาทสำคัญในทีมเศรษฐกิจของพรรคมาตลอด ซึ่งช่วงที่ผ่านมาการทำงานบนเก้าอี้เลขานุการ รมว.คลัง ก็ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ ๆ หลายเรื่อง

Advertisment

เศรษฐกิจต้องการแรงกระตุ้น

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังเป็นการฟื้นตัวแบบ “หงอย ๆ” และ “โตต่ำ” จากเดิมที่เคยคาดกันว่าปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3-4% ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ประเมินว่าน่าจะโตได้แค่ 2.4% เท่านั้นเอง จากเดิมที่คาดการณ์ครั้งที่แล้วว่าจะโต 2.8% เช่นเดียวกับอีกหลายสำนักที่ปรับประมาณการลดลงกันอย่างต่อเนื่อง

โดย “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า สศค.ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงจากการส่งออกที่ชะลอกว่าคาด และงบประมาณที่ล่าช้า ซึ่งหลังจากนี้คงต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายอย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน การประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะโต 2.4% นั้น เป็นกรณีที่ไม่มีโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet แต่ถ้ามี และสามารถเริ่มมีการใช้จ่ายได้ภายในไตรมาส 4 นี้ ก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ต่อปี

“ดร.อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า คาดหวังว่าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่จะเข้ามาขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้น-ประคองเศรษฐกิจ เช่น มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อที่อ่อนแอ การลดค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง ทั้งครัวเรือนและกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีแบบไม่หว่านแห รวมถึงแผนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ผ่านมาตรการภาษีต่าง ๆ ตลอดจนแผนการพัฒนาด้านตลาดทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนและต่างชาติ

Advertisment

“ระยะกลางยังคงต้องติดตามโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลตต่อไป ซึ่งไม่อยากให้นำงบประมาณมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเลตเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีการจัดสรรเม็ดเงินนำไปใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วย”

“ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า นโยบายการคลังตอนนี้สำคัญมาก เนื่องจากช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้านี้ งบประมาณปี 2567 ยังเบิกจ่ายไม่ได้ตามปกติ เม็ดเงินหายไปมาก ซึ่งก็ต้องเข้ามาเร่งรัดเบิกจ่ายให้เร็วขึ้น ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องดิจิทัลวอลเลตที่คงมีการผลักดันกันต่อไป

“ส่วนระยะกลางและระยะยาวก็ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพการคลัง เนื่องจากปัจจุบันหนี้เริ่มสูงขึ้น และต้องขาดดุลงบประมาณตลอด ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของกระทรวงการคลังก็คือ จะเพิ่มรายได้ต่อ GDP ได้อย่างไร”

ภารกิจสำคัญต้องเร่งรัด

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าภารกิจสำคัญอย่างแรกของ “ทีมคลัง” ก็คงต้องเป็นเรื่องเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท เนื่องจากล่าช้าออกมาเกือบครึ่งปีแล้ว จนทำให้การลงทุนต่อเนื่องชะงักไปหมด ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้มีความต่อเนื่องไปด้วย

ด้านการริเริ่ม หรือผลักดันโครงการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะสร้างการเจริญเติบโต สร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ยังมีเรื่องความเชื่อมั่นตลาดทุน ที่ต้องดำเนินการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กำลังสรรหาผู้จัดการคนใหม่ ก็ต้องเลือกผู้ที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดทุนได้เข้ามาทำงาน

นอกจากนี้ โครงการดิจิทัลวอลเลตที่เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือไว้ ว่าจะเป็นตัว “จุดชนวน” ทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพ ประเด็นสำคัญตอนนี้ ก็คือต้องเคลียร์เรื่อง “แหล่งเงิน” ให้ชัดเจน

ขณะเดียวกัน “โจทย์ใหญ่” ที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ การขยายฐานรายได้ภาครัฐ เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง ไม่ให้กลายเป็น “ความเสี่ยงทางการคลัง” ต่อไปในอนาคตนั่นเอง