ปลายปีที่ผ่านมา “เจ เวนเจอร์ส” บริษัทพัฒนาเทคโนโลยีของกลุ่มเจมาร์ท เปิดหน่วยธุรกิจใหม่ DX (digital transformation) สำหรับพัฒนาโซลูชั่นในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นให้กับองค์กร เริ่มจากบริษัทในเครือก่อน ไม่ว่าจะเป็นเจมาร์ท, ซิงเกอร์, สุกี้ตี๋น้อย เป็นต้น ทั้งหมดก็เพื่อนำไปเป็นต้นแบบในการให้กับลูกค้ารายอื่น ๆ ต่อไป ล่าสุดยังเป็นหนึ่งในทีมซัพพอร์ตยุทธศาสตร์ new J-Mart กับภารกิจในการยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือเวอร์ชวลแบงก์ (virtual bank) ด้วย
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด ดังนี้
การเปิดหน่วยธุรกิจ DX
เครือเจมาร์ทมีธุรกิจที่หลากหลาย หลักการทำงานในแง่โครงสร้างการทำงานของระบบหลังบ้านในแต่ละธุรกิจแยกกัน ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาสะพาน หรือถนนสายเดียวกันให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถใช้งานร่วมกันหรือเป็นฐานข้อมูลที่เห็นพ้องต้องกัน บล็อกเชนจึงมาตอบโจทย์นี้ เจ เวนเจอร์ส พัฒนาบล็อกเชน JFIN Chain เพื่อเป็นโครงสร้างหลักในการทรานส์ฟอร์ม และเปลี่ยนแปลงวิธีการดำเนินธุรกิจ ทำให้ใช้งานได้ง่าย
หลัก ๆ เรามีกลไกที่สร้างขึ้นมา หากเล่าให้ฟังจะได้ภาพ เริ่มที่เรามีเหรียญ JFIN และบล็อกเชน JFIN จากนั้นเรามีกระเป๋า join App ตอนนี้เราพัฒนาเหรียญที่เป็น stable coin (คริปโตเคอร์เรนซีที่ตรึงค่ากับสกุลเงินจริง) เพื่อลองใช้ภายในองค์กร ผ่านเหรียญ join
ตอนแรกที่ออกเหรียญ JFIN ดูเป็นการเก็งกำไร แบงก์ชาติให้เอาออกมาใช้เป็นเงินไม่ได้ แต่จอย (join) ไม่ได้เป็นเงิน เป็นยูทิลิตี้โทเค็น ไม่ใช่เพื่อการระดมทุน ในกลไกนี้เกณฑ์ของ ก.ล.ต. ทำให้เหรียญเราเป็นยูทิลิตี้โทเค็นประเภทหนึ่ง JFIN เข้าข่ายประเภทสอง
นอกจากนี้ เกณฑ์ยังทำให้เพิ่มเติมว่าเราสามารถออกเหรียญให้ใครก็ได้ เรียกว่า tokenization คือ การเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นโทเค็น ฉะนั้นกลไกทั้งหมดที่มีภายใน เราหยิบไปหาองค์กรไหนก็ได้ ที่เริ่มเห็นแล้ว มี NFT ของสุกี้ตี๋น้อย ใช้กลไกการ tokenize ที่เรามีออกเป็น token NFT เป้าหมาย คือ สุกี้ตี๋น้อยอยากให้แฟนคลับของเขาที่มากิน สะสมแต้มเป็น NFT ต่าง ๆ เพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ
อันนี้คือส่วนแรกของ DX ที่เป็นกลไกทางบล็อกเชนที่เราพัฒนาขึ้น และพร้อมนำไปเป็นโซลูชั่นสำหรับองค์กร
มีอีกกลไกที่เอาไปใช้ เช่น เรื่อง location base services เป็นบริการแบบรู้ว่าคน-ลูกค้าอยู่ตรงไหน เรานำไปใช้กับบริษัทภายใน เช่น เจเอ็มที, ซิงเกอร์ แคปปิตอล ที่ทุกวันนี้เขาจะเปลี่ยนระบบในการปล่อยกู้ให้ลูกค้า แล้วอยากจะรู้ตัวตนลูกค้าอยู่ที่ไหน ในกระบวนการปล่อยกู้ ระบบการยืนยันตัวตน หรือ KYC เป็นพื้นฐานสำคัญอยู่แล้ว แต่เราต้องรู้จักลูกค้ามากขึ้น ด้วยโลเกชั่นเบส เรานำมาใช้ประกอบกันเพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดนี้ทำในส่วนการส่งเสริมธุรกิจและองค์กรหรือ B2B
คลี่ยุทธศาสตร์ New JMART
เจมาร์ทแบบปกติก็จะทำเหมือนที่เคยทำ เป็นค้าปลีกปกติ การทำไฟแนนซ์หรืออะไรต่าง ๆ ก็จะเป็นแบบปกติ แต่แบบใหม่ หรือ New JMART จะมีวิธีในการขายของแบบใหม่ เช่น การขายของโดยไม่ใช้ตัวตน ขายของโดยแพลตฟอร์ม ขายแบบ e-KYC หรือใช้ e-Payment ต่าง ๆ ต้องบอกว่าสิ่งที่ผมกำลังทำ คือ ทำ “ร่างทรง” ใหม่ให้เจมาร์ทเป็นโปรเจ็กต์ภายในที่จ้างบริษัทที่ปรึกษาอย่างแมคเคนซีมาช่วยเฟรมหน้าตาใหม่ของเจมาร์ท
ถามว่าทำเพื่ออะไร การเป็น New JMART คือ การขายของบนอิเล็กทรอนิกส์ บนแพลตฟอร์ม จะกลายร่างเป็นการปล่อยกู้บนแพลตฟอร์ม ซึ่งจะนำไปสู่การทำเวอร์ชวลแบงกิ้งต่อ หรือที่เราเรียกว่าทำ buy now pay later ได้
เพราะการที่เราอยากได้โทรศัพท์ ไม่จำเป็นต้องเดินไปหาแอปของแบงก์เพื่อขอกู้ซื้อโทรศัพท์ อันนั้นเป็นการขายแบบเก่า ขายแบบใหม่คือ การให้ buy now pay later ไม่จำเป็นต้องไปเอาเงินจากแบงก์เพื่อมากู้ สามารถใช้วงเงินที่มีบนแพลตฟอร์มได้เลย ฉะนั้นคนที่ให้วงเงินได้ ต้องเป็นคนขายของ แปลว่า คนขายของจะกลายเป็นแบงก์ คือ ปล่อยกู้ได้ รับฝากเงินได้บนเว็บไซต์ของเจมาร์ท
นี่คือเส้นทางที่เราต้องไป ซึ่งก็คือ เวอร์ชวลแบงกิ้ง
ปรับจากค้าปลีกเดิมสู่อีคอมเมิร์ซ
การนำเจมาร์ทไปสู่อีคอมเมิร์ซ เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่าหากทำในกรณีมาร์เก็ตเพลซ โดยธรรมชาติต้องมีสินค้าหรือมีของที่หลากหลายจากหลายคู่แข่ง ตอนแรกเราอาจต้องใช้ของที่เรามี และที่พันธมิตรมี เพราะอย่างร้านเจมาร์ทอยู่บนห้าง ซิงเกอร์อยู่ข้างนอกห้าง ก็มารวมกันบนแพลตฟอร์มได้ แต่การที่อยากทำเวอร์ชวลแบงก์ ก็ต้องหาจุดทัชพอยต์ที่บรรดาร้านค้า หรือสินค้าที่มีมาขายร่วมกัน
กำลังซื้อตอนนี้ ถ้าตอบเลยคงบอกได้ว่าลดลงแน่นอน แต่ลดลงในแง่ที่ว่าพฤติกรรมคนซื้อก็เปลี่ยนไปด้วย ด้วยช่องทางและการเข้าถึงบริการมันหลากหลายขึ้น คนเปลี่ยนไปซื้อขายในกลุ่ม ในโซเชียลหรือกับคนที่รู้จัก ดังนั้นเราเลยคิดว่า หากจะเขย่าองค์กรให้ใช้วิธีการขายของแบบใหม่ ๆ ก็จะสามารถกระตุ้นแรงซื้อกลับมาที่เราได้
การพยายามทำ New JMART ก็เป็นส่วนหนึ่งในการหาวิธีใหม่ ๆ
เวอร์ชวลแบงกิ้งมาเชื่อมยังไง
คือ การทำเวอร์ชวลแบงก์ ตัวละครต้องเป็นคนขายของเท่านั้น ธนาคารไปขอเวอร์ชวลแบงกิ้งไม่มีใครห้าม เพราะเป็นแบงก์อยู่แล้ว เชื่อผมไหมว่าแบงก์ไม่ขอหรอก เพราะเขามีใบอนุญาตเป็นธนาคารอยู่แล้ว จะไปขอทำไม การที่มีแบงก์อยากได้ใบอนุญาตนี้ หมายความว่าแบงก์อยากแปลงร่างเป็นคนขายของ
ทีนี้ในบรรดาคนขายของที่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นลาซาด้า ช้อปปี้ แกร็บ ต้องจับมือกับบริษัทในท้องถิ่นใครสักคน เพื่อสวมเสื้อเวอร์ชวลแบงกิ้ง อาจจับกับแบงก์ก็ได้ จับกับเจมาร์ทก็ได้
พอตัวบริษัทที่จะไปจับมือกันมันใหญ่ ก็ใหญ่ชนใหญ่ อาจไม่ยืดหยุ่นสำหรับแพลตฟอร์มยักษ์เหล่านี้ เขาจะจับกับผมก็ได้ ทุกคนล้วนคุยกันในขณะนี้ ผมคุยกับแพลตฟอร์มใหญ่ แพลตฟอร์มใหญ่คุยกับผม หรือแพลตฟอร์มไปคุยกับแบงก์ แต่ไม่มีใครที่ชัดเจน เพราะทุกคนก็รอแบงก์ชาติประกาศให้ยื่นขอใบอนุญาต
ที่เห็นชัด คือ SCBx ประกาศจับมือกับ Kakao Bank เขาใหญ่กันทั้งคู่ Kakao เป็นเวอร์ชวลแบงก์ที่ประสบความสำเร็จในเกาหลี กำไร 6-7 พันล้าน เอสซีบี เอกซ์ ก็ใหญ่ แต่เอสซีบี เอกซ์ ไม่ได้ขายของ ส่วน Kakao ทำอีคอมเมิร์ซในเกาหลี แต่ไม่ได้ขายของในไทย ไม่มีใครใช้ในไทย ถ้า 2 คนร่วมกันแล้ว เวลาปล่อยกู้จะต่างอะไรจากเดิม เพราะกู้แบงก์เหมือนเดิม
2 คนนี้ต้องมีใครขายของสักคน หรืออาจไปจับกับช้อปปี้ไหม ก็เป็นไปได้ แต่ยักษ์เจอยักษ์ ช้อปปี้เจอ Kakao เจอ SCBx จะลงตัวไหม ถ้าลงตัวก็ดี สบาย แต่ทุกคนต่างรอหลักเกณฑ์ของแบงก์ชาติ
แต่ที่แน่นอนที่ผมมองคืออย่างไรก็ต้องเป็นคนขายของ
ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทรัล ซี.พี. คอมเซเว่น คนขายของทุกคนมีศักยภาพในการทำเวอร์ชวลแบงก์ อยู่ที่ว่าคุณจะประกอบร่างให้ชัดเจนได้ไหม อีโคซิสเต็มเป็นอย่างไร
นี่คือสิ่งที่ผมเรียกว่าเป็น New JMART คือ การพยายามประกอบร่างตรงนี้
จุดอ่อนของคนขายของ และข้อห้ามของแบงก์
ทุกวันนี้เราซื้อของขายของออนไลน์อยู่ แต่ข้อมูลธุรกรรมอยู่ที่แบงก์ เพราะไปรูดบัตรของแบงก์ เราใช้จ่ายอะไร ร้านค้า ลูกค้ามาซื้ออะไรกัน กับใครบ้าง แบงก์รู้หมด แต่คนขายของรู้เฉพาะลูกค้าคนเดียวกันที่มาซื้อกับเรา ส่วนไปซื้อขายที่อื่นเราไม่รู้ เพราะข้อมูลอยู่ที่แบงก์
แต่ว่าแม้แบงก์จะมีข้อมูล แต่ก็เอามาขายของไม่ได้ เพราะแบงก์คือแบงก์ สมมุติเอาข้อมูลบัตรเครดิตมาวิเคราะห์ว่าแต่ละเดือนต้องซื้ออะไรบ้าง พบว่าเราซื้ออาหารสัตว์เยอะ บ้านนี้เลี้ยงสัตว์ชัวร์ งั้นไปจับมือกับเวนเดอร์เอาอาหารสัตว์มาเสนอขายคนนี้ดีไหม แล้วแบงก์มีวงเงินให้ใช้ด้วย การที่แบงก์จะเอาข้อมูลลูกค้ามาทำแบบนี้ทำไม่ได้ แบงก์ชาติห้าม ไม่เช่นนั้นธนาคารก็ไปเปิดร้านอาหาร เปิดโรงแรม เปิดอะไรขายแข่งคนอื่นไปหมด
ในทางตรงข้าม คนขายของไม่มีข้อมูลธุรกรรมอย่างแบงก์ ก็ได้แต่ขายของอย่างเดียว ถ้าสมมุติคนขายของมีข้อมูลแล้ว ก็อยากจะปล่อยกู้บนร้านค้าของเรา อยากให้ฝากเงิน อะไรอย่างนี้ก็สามารถทำได้ เหมือนแอปเปิลหรือสตาร์บัคส์ ให้ลูกค้าเอาเงินไปฝากไว้กับบัตรสมาชิกเพื่อรอใช้จ่ายค่ากาแฟ ผมเองก็ยังเติมเงินทิ้งไว้ในบัตรเผื่อใช้
ฉะนั้น พอเราเอาเงินไปฝากไว้ รวมกันมาก ๆ มีมูลค่ามหาศาล มีเงินฝากอยู่ในบัตรสตาร์บัคส์หลายหมื่นล้าน คนพูดกันว่าสตาร์บัคส์ คือ ธนาคารที่ขายกาแฟ
ลูกค้าสตาร์บัคส์ เอาเงินใส่ไว้ในบัตรหมุนเวียนใช้ อย่างผมใส่ไว้พันหนึ่ง เหมือนเราฝากไว้โดยที่ไม่ได้ดอกเบี้ย หากมี 10 ล้านใบ ใส่เงินเฉลี่ยเท่า ๆ กันกับผม เท่ากับเขามีเงินหมุนฟรี ๆ 1 หมื่นล้านบาท
คุณคิดว่าในโลกของตลาดการเงิน สมมุติมีเงินหมื่นล้าน เอาไปฝากซื้อพันธบัตรสหรัฐตอนนี้ได้ผลตอบแทน 5% แล้วในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น หมื่นล้านปีหนึ่งได้กำไรเฉย ๆ ห้าร้อยล้านแล้ว
เวอร์ชวลแบงก์ไม่ใช่ธนาคารรูปแบบใหม่
เวอร์ชวลแบงก์ไม่ใช่ธนาคารแบบใหม่ ไม่ใช่ธนาคารออนไลน์ เพื่อจะไปแข่งกับธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ แบบเดิม ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมคงสู้เขาไม่ได้ ดังนั้นผมคิดว่าผมมีข้างหนึ่งคือข้างคอมเมิร์ซ ที่ยังไม่ค่อยมีใครขยับไปทำเป็นเวอร์ชวลแบงก์ เราเห็นฝั่งธนาคารขยับไปแล้ว มีจากอุตสาหกรรมอื่นบ้างอย่างเอไอเอส และกัลฟ์ เขามีฐานข้อมูลเยอะ มีเงินเยอะ แต่ผมมองว่าเขาก็ยังไม่ใช่คนขายของ
ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีแรกมานี้ผมพยายามทำเจมาร์ทในยุคใหม่ควรจะดำเนินธุรกิจอย่างไร มีอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มดีไหม จะไปตอบโจทย์ลูกค้าแบบไหนอย่างไร มีกระเป๋าให้ลูกค้าเติมเงิน ให้ลูกค้าเอามาใช้ไหม
ผมทำสิ่งเหล่านี้ เพราะเมื่อยื่นขอไลเซนส์จากแบงก์ชาติ ผมก็จะบอกว่า New JMART มีรูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ผมขอเวอร์ชวลแบงกิ้ง และผมสามารถตอบสนองกลุ่มลูกค้าของผมได้