
บอร์ด กสทช. ชุดล่าสุดปฏิบัติหน้าที่มา 1 ปี 4 เดือนแล้ว ท่ามกลางความท้าทายทั้งต่อภูมิทัศน์อุตสาหกรรมสื่อ และโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ลงรอยกันของกรรมการ กสทช. ที่ปรากฏชัดขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกรณีการสรรหาเลขาธิการ กสทช. และการปรับโครงสร้างองค์กร
วาระร้อนเลือกเลขาฯ กสทช.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมบอร์ด กสทช.ในวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาต้องล่มลง เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบจึงต้องจะเลื่อนไปเป็นวันที่ 21 ก.ย. ซึ่งเป็นการประชุมสัญจรที่กำหนดไว้นานแล้วที่จังหวัดนครพนม และคาดว่าจะมีวาระการพิจารณาหลายเรื่องสำคัญรวมถึงเรื่องการคัดเลือก เลขาธิการ กสทช.
แหล่งข่าวจาก กสทช.เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กสทช.เดิมคือวันที่ 6 ก.ย. แต่เนื่องจากประธาน กสทช. และ กสทช.บางท่านต้องเดินทางไปต่างประเทศ จึงเลื่อนเป็นวันที่ 4 ก.ย. แต่ในวันดังกล่าวกสทช.หลายท่านมีภารกิจอื่นเช่นกัน ทำให้การประชุมวันที่ 4 ก.ย.ต้องล่มไปในที่สุด ทั้งที่มีวาระคั่งค้างมากกว่า 60 เรื่อง
“การคัดเลือกเลขาฯ กสทช. เป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่บอร์ดต้องพิจารณา ซึ่งก่อนหน้านี้ ประธาน กสทช. ได้ขอใช้อำนาจประธานในการสรรหาเลขาธิการ กสทช.แต่เพียงผู้เดียว ด้วยเหตุผลว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องขึ้นตรง และทำงานด้วยกันมากที่สุด พร้อมกับยืนยันว่าเป็นสิทธิตามกฎหมาย แต่กรรมการ กสทช.หลายท่านไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ การคัดเลือกเลขาฯ กสทช. จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองว่าใครจะมาเป็น เลขาธิการ กสทช.คนใหม่ หลังว่างเว้นมานานเกือบ 3 ปี โดยมีรองเลขาธิการ กสทช.ปัจจุบัน (นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล) รักษาการ และเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ ร่วมกับอีก 7 คน”
เขย่าโครงสร้างองค์กร
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กร เริ่มมาจากการที่คณะกรรมการ กสทช. มีความเห็นร่วมกันว่า ควรเพิ่มสายงานวิชาการ เพื่อเป็นรากฐานให้งานด้านนโยบาย และแผนปฏิบัติการจึงมอบหมายให้ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ตั้งคณะทำงานศึกษา และร่างแผน ภายใต้โจทย์ “คน และงบประมาณ” ต้องเท่าเดิม และสอดคล้องกับคำแนะนำของ ITU จึงต้องมีเพิ่ม และปรับเปลี่ยนสายงานภายในองค์กร ลดภารกิจซ้ำซ้อน และเพิ่มส่วนที่ยังขาด
“โครงสร้างเดิมมี 6 สายงาน 1.สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ 2.สายงานยุทธศาสตร์ และกิจการองค์กร 3.สายงานบริหารองค์กร 4.สายงานวิชาการ 5.สายงานกิจการภูมิภาค และ 6.สายงานกิจการโทรคมนาคมแต่เดิมทุกสายงานจะมีสำนักคอยทำแผน ก็รวมกันเป็นสายงานเดียว จึงต้องปรับและเปลี่ยนเนื้องาน มีการเพิ่มสายงานใหม่รวมเป็น 8 สายงาน มีรองเลขาธิการ 8 คน และปรับลดผู้เชี่ยวชาญลง เพื่อควบคุมงบประมาณ”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ลักษณะงานภายใต้โครงสร้างใหม่อาจทำให้หลายฝ่ายรู้สึกว่าเป็นการล้างไพ่ เพราะสายงานใหม่ไม่ได้ใช้ชื่อเดิม ทั้งต้องเลือกรองเลขาธิการใหม่หมด โดยเป็นอำนาจของ บอร์ด กสทช. ซึ่งอาจกระทบสายบังคับบัญชาเดิม ทำให้ภายในองค์กรมีความคิดเห็นแตกต่างกัน เช่นกันกับกรรมการ กสทช.ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
เห็นต่างจุดยืนเดียวกัน
“รองเลขาฯเดิมอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะโดนย้ายไปอยู่ในสายงานใด ขณะที่บอร์ดก็แบ่งเป็นกลุ่มเสียงข้างมากที่สนับสนุนให้เปลี่ยนโครงสร้างองค์กร กับเสียงข้างน้อยที่อยากให้ชะลอออกไป ส่งผลให้ประชุมล่มมา 3 รอบ”
โดยวาระการปรับโครงสร้าง เข้าที่ประชุมครั้งแรก 26 มิ.ย. เลื่อนเป็น 9 ส.ค. และได้มีการปิดประชุมกะทันหันเมื่อมีการถามเรื่องการปรับโครงสร้าง และครั้งที่สองเมื่อ 6 ก.ค. แต่ประธาน กสทช.ป่วยจึงเลื่อนเป็น 6 ก.ย. ซึ่งเปลี่ยนมาเป็น 4 ก.ย. แต่ล่มไปในที่สุด
ศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช. กล่าวถึงการปรับโครงสร้างองค์กรว่า ต้องมีเสียงที่เป็นเอกฉันท์ร่วมกันเช่น การเพิ่มสายงานวิชาการเข้ามาในสำนักงานก็เพราะทุกคนเห็นชอบ และเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีผลต่อพนักงานทุกระดับ จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรใช้หลักเสียงข้างมากอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นก็จะมีการเสนอเปลี่ยนแปลงโครงสร้างได้เรื่อย ๆ จึงไม่ควรทำภายใต้คณะทำงาน แต่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนภายใต้คณะอนุกรรมาธิการการบริหารงานบุคคล และคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย โดยคำนึงถึงสภาพปัจจุบันของ กสทช. ที่มีรายได้ลดลง และจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะการใช้บริการโทรคมนาคมในส่วนของเสียง และข้อความลดลง
หลอมรวมการทำงาน
ก่อนหน้านี้ “ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต” กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ในอุตสาหกรรมสื่อ และโทรคมนาคม ทำให้การกำกับดูแลหลายอย่างคาบเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม และอื่น ๆ เช่น การละเมิดเนื้อหา แพลตฟอร์มวิดีโอแชริ่ง อย่างติ๊กต๊อก หรือยูทูบ ที่มีความไฮบริดมากขึ้น ล้วนสร้างความท้าทายในการแบ่งแยกระหว่างเน็ตเวิร์ก และคอนเทนต์ ซึ่งในระยะยาวอาจต้องพิจารณาว่าควรออกใบอนุญาต แยกระหว่างผู้ประกอบการเครือข่ายกับเซอร์วิสในอนาคต
“นี่คือภาพใหญ่ที่เราพูดข้างเดียวไม่ได้ ต้องคุยกับฝั่งโทรคมนาคม กสทช. คงต้องมานั่งคุยกันทั้ง 7 คน ต้องปฏิรูปโครงสร้างองค์กรที่ทำไปด้วยกันได้ไม่ใช่คิดเป็นซ้ายขวา กรอบความคิดต้องเปลี่ยน”