โจทย์ยาก กสทช.ยุคหลอมรวม ปั้น “แพลตฟอร์มโอทีทีแห่งชาติ”

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร

ภารกิจ “กสทช.” หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามชื่อก็ชัดเจนว่าต้องดูแลทั้งฝั่งของธุรกิจโทรคมนาคม และบรอดแคสติ้ง หลังนั่งทำงานครบ 1 ปี 4 เดือน

“ศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร” กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาแบ่งได้เป็น 5 นโยบายคือ 1.การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (online migration) สู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 ถัดมาเป็นเรื่อง OTT แนวทางการกำกับดูแลเพื่อรองรับการหลอมรวมในมิติต่าง ๆ 3.ส่งเสริมการผลิตคอนเทนต์คุณภาพและความหลากหลาย/สร้างบุคลากรและอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านเทคโนโลยีและจริยธรรม สู่ดิจิทัลที่ยั่งยืน 4.การกำกับเนื้อหาและส่งเสริมรายการคุณภาพ และ 5.การส่งเสริม local content/สื่อท้องถิ่น-ชุมชน

“เรื่องเทคโนโลยีด้านคมนาคม ไม่ยากเท่าด้านบรอดแคสต์ ที่มีความซับซ้อนทั้งด้านเทคโนโลยี ผู้ใช้ และพฤติกรรม เช่น กฎหมาย cross media ownership ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ทั้งยังไม่สามารถมองเห็นสภาพตลาดของกิจการโทรทัศน์ได้ ทั้งซัพพลายเชน แพลตฟอร์มเปลี่ยนไป มีเจ้าของทั้งต่างประเทศและในประเทศ ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนและเพียงพอ”

ไอเดียที่น่าจะทำได้คล้ายกับ MYTV ของมาเลเซีย การทำแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ หรือ National OTT Platform (Linear TV/On Demand/Ad Management) โดยจะมีลักษณะคล้ายกับ MYTV ของมาเลเซียที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีคอนเทนต์ live streaming นำมาเผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม MYTV แพลตฟอร์มเดียว

“ในบ้านเราสถานีโทรทัศน์ต่างคนต่างทำ แพลตฟอร์ม OTT ก็แยกของตัวเอง ทั้งมีการเผยแพร่บนแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างยูทูบ จึงคิดว่าถ้ามี portal เดียว เชื่อมต่อดิจิทัลทีวีทั้งหมด โดย กสทช. ผลักดันร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกคนมาใช้จะลดต้นทุน และที่สำคัญคือข้อมูลที่จะได้จากการเผยแพร่คือ ได้ eyeballs รู้ว่ามีคนดูเท่าไหร่ ชอบแบบไหน จะส่งผลดีกับผู้ประกอบการทั้งอุตสาหกรรม ไม่ว่าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ นักโฆษณา เพราะก่อนหน้านี้เราไม่มีข้อมูลส่วนนี้ ทำให้นักโฆษณามีปัญหา ไม่รู้เรตติ้งรายการในแพลตฟอร์ม OTT ต่าง ๆ และผู้ประกอบการเองก็ไม่มีข้อมูลพอให้ตัดสินใจพัฒนาคุณภาพคอนเทนต์ ข้อมูลผู้ชมเหล่านี้เราไม่เคยเก็บ และไม่สามารถเก็บได้เลย”

ดังนั้น สิ่งที่จะต้องทำคือ ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลให้อยู่รอด เพื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่ออนไลน์ เพื่อกำหนดแนวทางกำกับดูแลใหม่ภายในปี 2572 ที่ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดลง โดยได้มีการจัดทำ TOR เพื่อหาบริษัทวิจัยต่างประเทศมาศึกษา “ฉากทัศน์” ของกิจการแพร่ภาพกระจายเสียง หลังสิ้นสุดใบอนุญาตด้วย

“นี่คือสิ่งที่กำลังดำเนินการในนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ออนไลน์ ทั้งยังต้องพิจารณาว่าในอนาคตจะมีการใช้คลื่นมือถือ 5G แพร่ภาพมากขึ้น ผู้ประกอบการทีวีรุ่นใหม่ ๆ ใช้ภาพ 4K กินแบนด์วิดท์มาก จึงต้องมีการจัดสรรคลื่น 600Mhz ใหม่ให้รองรับเนื้อหาแบบวิดีโอออนดีมานด์ และวิดีโอแชริ่งมากขึ้น”

ส่วนการปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่เทคโนโลยีและภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป ก็ได้ดำเนินการแล้ว มีทั้งที่เสร็จแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) เพื่อให้ผู้ได้รับอนุญาตโครงข่ายไม่ใช้คลื่นนำ “ช่องรายการไม่ใช้คลื่น” แทรกลงในหมวดหมู่ช่องรายการประเภทธุรกิจระดับชาติ ที่ให้บริการเป็นการทั่วไปที่ว่างอยู่ ภายใต้โครงข่ายไม่ใช้คลื่นของตนได้, มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ พ.ศ. 2566, หลักเกณฑ์การส่งเสริมชุมชนที่มีความพร้อม และสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชนที่มีคุณภาพ เป็นต้น

“การดำเนินงานหลายอย่างของ กสทช. โดยเฉพาะการพิจารณาวาระสำคัญ ต้องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด ซึ่งบอร์ดยังมีความเห็นไม่ตรงกัน การสร้างความเข้าใจระหว่างกรรมการ กสทช.จึงเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการทำงาน การวางนโยบายการกำกับดูแลยุคหลอมรวมสำคัญมาก เพราะภายในบอร์ดเองก็ยังเข้าใจคำว่าการกำกับ OTT ไม่ตรงกัน”