แพลตฟอร์มยักษ์ Facebook-Google-TikTok เข้าจดแจ้งตามกฎหมายการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบแล้ว เดินหน้าการกำกับดูแลร่วมกันระหว่างรัฐ-เอกชน-ประชาชน เป็น Cocreation Regulator
วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ซึ่งมีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ ได้เข้าจดแจ้งตามกฎหมาย DPS หรือ พ.ร.ฎ.การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หลังบังคับใช้กฎหมายนี้มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม บริษัทแพลตฟอร์มไทย-ต่างชาติทยอยเข้ามาจดแจ้งอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง “บิ๊กเทค” เหล่านี้ ได้เข้าจดแจ้งตามกำหนดเส้นตายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
กฎหมายดังกล่าว กำหนดให้ “ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ที่เป็นบริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดการเชื่อมต่อ เกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ต้องมาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ทราบ
เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญของแพลตฟอร์มในการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม หรือเพื่อให้เกิดการ “กำกับดูแลที่ดี” โดยตัวของแพลตฟอร์มเอง
บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ข้ามชาติ เป็นที่จับตามองของหลายภาคส่วน เพราะการมาจดแจ้งตามกฎหมายนี้ ส่งผลให้เกิดการยอมรับมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติบางประการตามที่กฎหมายของไทยกำหนด
ที่สำคัญคนไทยจำนวนมาก ใช้บริการแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของบิ๊กเทคในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น โดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ หรือแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ต่าง ๆ
และยิ่งมีคนไทยใช้งานมาก แพลตฟอร์มเหล่านั้นยิ่งส่งอิทธิพลต่อเศรษฐกิจและสังคมที่อาจเกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ ที่มักมาตามโซเชียลมีเดีย หรือการขายของไม่ตรงปก หรือซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จึงเป็นการชี้วัดว่าความพยายามในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของ ETDA นั้น สำเร็จมากน้อยเพียงใด
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2566 ปรากฏรายชื่อของ “บิ๊กเทค” ในระบบแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่ Meta Platform, Inc. จดประกอบบริการแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram ประเภทโซเชียลมีเดีย
TikTok จดแจ้งให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีฟังก์ชั่นสนับสนุนการซื้อขายในชื่อ TikTok และ TikTok Shop
ส่วนบริษัท Google จดแจ้งบริการดิจิทัล 10 รายการ ได้แก่
- Google Assistant บริการผู้ช่วยเสมือนจริง
- Google Chrome บริการเว็บบราวเซอร์
- Google Ads บริการโฆษณาออนไลน์
- Google Cloud Platform บริการคลาวด์
- Google Maps บริการแผนที่ออนไลน์
- Google News บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร
- Google Search บริการสืบค้นแหล่งที่ตั้งของข้อมูลคอมพิวเตอร์
- Google Play ตลาดบริการ
- Google Workspace บริการสื่อสังคมออนไลน์ทั่วไป
- YouTube บริการสื่อโสตทัศน์และเพลง
นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้งบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) ทั้งตลาดสินค้าและบริการ อาทิ Lazada, Foodpanda, Robinhood, Traveloka, Grab, www.nocnoc.com, LINE SHOPPING, SCGHome, Website GWM เป็นต้น
บริการรวบรวมและเผยแพร่เนื้อหาข่าวสาร (News Aggregator) เช่น LINE TODAY, Dek-D.COM, คิดเรื่องอยู่ (Think of Living), WISESIGHT TREND เป็นต้น บริการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) อาทิ AIS eBusiness Portal, LINE Official Account, ออมสินหนุนทุน ลาซาด้าหนุนโปร, บริการเสนอขาย ประกันภัยผ่านเว็บไซต์ของธนาคาร เป็นต้น
บริการ Sharing Economy Platform ทั้งบริการแบ่งปันแรงงาน แบ่งปันพื้นที่ แบ่งปันความรู้/การศึกษา บริการรถยนต์/รถจักรยานยนต์รับจ้างโดยสารสาธารณะ เช่น Grab, inDrive, Bolt, airasia Superapp Robinhood, FreelanceBay.com, Jobs Prompt, บิทคับ อะคาเดมี, YourNextU, OpenDurian เป็นต้น
บริการคลาวด์ (Cloud Service) อาทิ INET Cloud, True IDC Cloud, Samart Safe Cloud, OLS Cloud Service เป็นต้น
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เคยอธิบายกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลภายใต้กฎหมายนี้ ต้องดูผลกระทบเป็นเรื่องแรก
“สมมุติแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้น ๆ มีร้านค้า 5 แสนร้านค้า มีมูลค่าการค้าขายหมื่นล้านบาท ถ้าแพลตฟอร์มมีปัญหากับ 500,000 ร้าน เศรษฐกิจไทยเสียหาย นี่คือความเสี่ยงที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการจำกัด ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.ฎ.นี้
ETDA จะเข้าไปขอดูรายละเอียดได้ หรือให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าราคาที่ขึ้นมาโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ใช้ และสถานการณ์ตลาดหรือไม่ ตรงนี้ต้องกำหนดแนวทาง โดยช่วยกันทั้งหน่วยงานที่ดูแล และแพลตฟอร์ม รวมถึงผู้ใช้ เรียกว่าเป็น Cocreation Regulator”
“การดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถือเป็นความท้าทาย บ้างก็ว่าเราจะไปกำกับแพลตฟอร์มข้ามชาติทำไม แต่ที่ผ่านมาก็เห็นความเสียหายจากการหลอกลวงบนโซเชียลมีเดีย ปีหนึ่งเสียหายกว่าหมื่นล้าน แม้แต่ตัวแพลตฟอร์มก็เข้าหาการดูแลมากขึ้น โซเชียลมีเดียเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นการทำงานแบบ Cocreation Regulator ที่ค่อย ๆ ขยับไปได้จากข้อมูล”
“การกำกับดูแลโซเชียลมีเดียต้องเริ่มด้วยการแบ่งปันข้อมูล กำหนด Best Practice เพื่อดูการใช้งานและประเมินความเสี่ยง เมื่อข้อมูลเพียงพอ ขั้นตอนต่อไป เอตด้าและหน่วยงานกำกับดูแลอาจออกเป็น Recommend แนะนำให้แพลตฟอร์มทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน และเมื่อมีการกำหนดแนวทางร่วมกันแล้วก็ออกเป็น “หลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ต้องทำ”