คิกออฟ กฎหมายคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ภารกิจท้าทาย ETDA

ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์

พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ มีผลบังคับใช้แล้ว เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของการกำกับ ดูแล และส่งเสริมบริการดิจิทัลให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์” ผู้อำนวยการ สพธอ. หรือ ETDA เกี่ยวกับกฎหมายดิจิทัลแพลตฟอร์มในหลากหลายแง่มุม ดังนี้

เป้าหมาย พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์ม

ดร.ชัยชนะกล่าวว่า กฎหมายนี้เป็นกลไกที่ทำให้ภาครัฐเข้าถึงข้อมูลของแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร มีทั้งข้อมูลที่แพลตฟอร์มส่งมาเองตามเงื่อนไขการแจ้งจดและข้อมูลที่ต้องไปหาซื้อมาเก็บไว้ ซึ่งโดยทั่วไปธุรกิจไม่อยากเปิดเผย แต่ภาครัฐจำเป็นต้องมี เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยง และหาวิธีสร้างมาตรฐาน แนวทาง ความโปร่งใสเป็นธรรมให้กับบริการได้

“แต่ละแพลตฟอร์ม แต่ละบริการ มีวิธีกำกับดูแลที่ซับซ้อนต่างกัน ต้องใช้หลายภาคส่วน เป็น Co Creation Regulator มีการเปิดระบบให้แพลตฟอร์มดิจิทัลมาจดแจ้งเพื่อทำตามมาตรฐานการส่งเสริม และกำกับธุรกิจ ทั้งบุคคลธรรมดาที่ต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท หรือนิติบุคคลที่มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้เกิน 5,000 ราย ปัจจุบันมีแล้ว 700-1,000 ราย แต่เราก็ไม่ได้รอให้เขามาจดแจ้งอย่างเดียว เรามีข้อมูลบางอย่างที่อาจผสมการวิเคราะห์ หรือซื้อข้อมูลบ้าง ถึงรู้ว่าแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้มีเท่าไหร่ และพยายามแกะไปถึงอีกชั้นว่าที่คนใช้เยอะประเภทใดบ้างที่ต้องวางกฎเกณฑ์ในการดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงบริการดิจิทัลภาครัฐ”

ภารกิจของ ETDA คือ ทำให้มั่นใจได้ว่าแพลตฟอร์มมีมาตรฐานในการรักษาความปลอดภัย มีการศึกษาเทคโนโลยีที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ และมาตรฐานเหล่านี้ขยายไปยังเอกชนได้

เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน

“เจตนาเราไม่อยากให้แพลตฟอร์มที่มีคนใช้เยอะรู้สึกต่อต้าน ว่ามาขึ้นทะเบียนแล้วต้องทำตามเงื่อนไขหลายอย่าง ข้อกฎหมายอาจทำให้รู้สึกว่าเป็นการบังคับไปเพิ่มต้นทุนแล้วไปขึ้นราคาผู้ใช้ ไม่อยากให้แพลตฟอร์มต่อต้าน อยากให้เป็นการเชิญชวนให้ลงทะเบียน เพื่อหาทางกำหนดวิธีการในการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส เป็นธรรมร่วมกันมากกว่า ซึ่งจะดีต่อแพลตฟอร์มและกับประชาชนด้วย”

ดร.ชัยชนะกล่าวด้วยว่า เวลามีความเสี่ยงหรือมีข้อพิพาทในการให้บริการทางดิจิทัลจะมีความซับซ้อนในเชิงกฎหมาย เช่น เมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ ก็จะมีหลายส่วน มีผู้ใช้, ผู้ซื้อ และผู้ขาย มีเรื่องราคาสินค้า ค่าธรรมเนียม เช่นกันกับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ ที่ยังเกี่ยวกับไรเดอร์ มีเรื่องแรงงานที่ต้องให้หน่วยงานด้านแรงงานและค่าแรงกำกับดูแล มีกฎหมายอื่นที่ใหญ่กว่ากำกับอยู่แล้ว หรือกรณีราคาสินค้าและค่าบริการจะมีหน่วยงาน เช่น กรมการค้าภายใน ดูแลราคาสินค้าและบริการที่จำเป็น

ถ้าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซพร้อมใจกันขึ้นค่าธรรมเนียม หรือมีสภาพเป็นการผูกขาดตลาด ทำให้ผู้ใช้จำยอมต้องรับเงื่อนไข ก็ต้องดูว่ามีการประกาศให้ผู้ใช้ทราบไหม หากมี และผู้ใช้ยอมรับราคาที่เพิ่มขึ้นได้ก็คงทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าประเมินได้ว่าการขึ้นราคาพร้อมกันเป็นการบีบบังคับให้ยอมทำตาม ก็ต้องไปดูว่าเป็นธรรมหรือไม่

ชู Co Creation Regulator

“เราต้องดูผลกระทบเป็นเรื่องแรก สมมติแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้น ๆ มีร้านค้า 5 แสนร้าน มูลค่าการค้าขาย หมื่นล้าน ถ้ามีปัญหากับ 500,000 ร้าน เศรษฐกิจไทยเสียหาย นี่คือความเสี่ยงที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการจำกัด ตามมาตรา 32 ของ พ.ร.ฎ.ETDA จะเข้าไปดูได้ หรือให้ข้อมูลที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูว่าราคาที่ขึ้นมาโปร่งใส เป็นธรรมต่อผู้ใช้ และสถานการณ์ตลาดหรือไม่ ตรงนี้ต้องกำหนดแนวทาง โดยช่วยกันทั้งหน่วยงานที่ดูแล และแพลตฟอร์ม รวมถึงผู้ใช้ เรียกว่าเป็น Co Creation Regulator”

ตัวอย่างแพลตฟอร์มโอทีที (สตรีมมิ่ง) โดยลักษณะต้องมาจดแจ้งแต่หลักเกณฑ์ และการกำกับดูแลมาจาก กสทช. หรือในส่วนภาพยนตร์ และวิดีโอ มี พ.ร.บ.ภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรมฯ คุมเนื้อหา ขณะที่ กสทช.ยังไม่ได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลจึงอนุโลมให้ใช้แนวทางของ พ.ร.ฎ.นี้ไปพลาง

“กรณีที่การดูแลเรื่องการแข่งทางการค้า รัฐต้องการประเภทแบบข้อมูลธุรกรรมร้านค้าก็ส่วนหนึ่ง ก็จะเป็นข้อมูลที่มีการเก็บสะสมไว้ เช่น เรื่องรายได้ รายจ่าย จำนวนผู้ใช้เฉลี่ยต่อเดือน เป็นข้อมูลที่หน่วยงานภายในอยากได้ หากต้องใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงภายใต้บริบทที่กฎหมายกำหนด การดูแลแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียถือเป็นความท้าทาย บ้างก็ว่าเราจะไปกำกับแพลตฟอร์มข้ามชาติทำไม แต่ที่ผ่านมาก็เห็นความเสียหายจากการหลอกลวงบนโซเชียลมีเดีย ปี หนึ่งเสียหายกว่าหมื่นล้าน แม้แต่ตัวแพลตฟอร์มก็เข้าหาการดูแลมากขึ้น โซเชียลมีเดียเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นการทำงานแบบ Co Creation Regulator ที่ค่อย ๆ ขยับไปได้จากข้อมูล”

การกำกับดูแลต้องเริ่มด้วยการแบ่งปันข้อมูล กำหนด best practice เพื่อดูการใช้งานและประเมินความเสี่ยง เมื่อข้อมูลเพียงพอ ขั้นตอนต่อไป เอตด้าและหน่วยงานกำกับดูแลอาจออกเป็น recommend แนะนำให้แพลตฟอร์มทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจน และเมื่อมีการกำหนดแนวทางร่วมกันแล้วก็ออกเป็น “หลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่ต้องทำ”

“เราเก็บข้อมูลมาจนเห็นว่าควรมีหลักเกณฑ์ให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียยืนยันตัวตนให้รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ก่อนใช้แค่อีเมล์ก็เพียงพอในการสมัครบัญชี แต่ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่ามีการหลอกลวงและเกิดความเสียหายมหาศาล จึงทำเฮียริ่ง และยกร่างเป็น recommend ที่โซเชียลมีเดียต้องทำตามซึ่งต้องเตรียมข้อมูลให้แน่น หากแพลตฟอร์มทำตามเงื่อนไข เขาก็จะบอกว่าเป็นภาระ เพิ่มต้นทุนแล้วจะมาเก็บเงินกับผู้ใช้เพิ่ม การออกเป็นหลักเกณฑ์ที่บังคับให้แพลตฟอร์มทำ จึงต้องมีข้อมูลมากพอ มั่นใจว่าไม่กระทบ และเกิดประโยชน์”