
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนสำรวจเหตุผลว่า ทำไม CEO ของบิ๊กเทคระดับโลกมักเป็นชาว “อินเดีย”
วันที่ 11 ธันวาคม 2566 หากมองภาพรวมของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในปัจจุบัน จะพบว่าบิ๊กเทคระดับโลกที่หลายคนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันเป็นอย่างดีมักจะมีซีอีโอหรือ “แม่ทัพ” ที่กุมบังเหียนการบริหารงานเป็นชาว “อินเดีย”
ตัวอย่างเช่น สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอของไมโครซอฟท์ (Microsoft), ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) ซีอีโอของอัลฟ่าเบท (Alphabet) บริษัทแม่ของกูเกิล (Google) และชันตานุ นาราเยน (Shantayu Narayen) ซีอีโอของอะโดบี (Adobe) เป็นต้น
ทำไมผู้บริหารหรือซีอีโอของบิ๊กเทคระดับโลกมักเป็นชาวอินเดีย ? “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลจากสำนักข่าวบีบีซี (BBC) มาสรุปไว้ดังนี้
“อาร์. โกภาลากฤษณันท์” (R. Gopalakrishnan) อดีตผู้อำนวยการบริหารของ Tata Sons บริษัทข้ามชาติในอินเดีย และผู้เขียนร่วมของ The Made in India Manager กล่าวว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่ทำให้พลเมืองจำนวนมากมีความเป็นนักรบในตัวได้เท่ากับอินเดียอีกแล้ว
“คนอินเดียต้องใช้ชีวิตท่ามกลางการต่อสู้ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ตั้งแต่เข้าเรียนไปจนถึงทำงาน เนื่องจากความไม่เพียงพอของโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ชาวอินเดียต้องดิ้นรนในการเอาตัวรอดอยู่เสมอ จนกลายเป็นทักษะติดตัวที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวอินเดียทุกคน ซึ่งทักษะการแก้ปัญหาและใช้ไหวพริบในการเอาตัวรอดเป็นทักษะที่ผู้บริหารระดับสูงต้องมี”
นอกจากทักษะการเอาตัวรอดจะหล่อหลอมให้ชาวอินเดียมีคุณสมบัติในการเป็นผู้นำที่หลายองค์กรต้องการแล้ว โครงสร้างหลักสูตรที่มีความโดดเด่นด้าน STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) หรือหลักสูตรที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอินเดียยังได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอีกด้วย
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อินเดียจะสามารถผลิต “ทาเลนต์” หรือคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งความแข็งแกร่งของหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้อีโคซิสเต็มของการก่อตั้งสตาร์ตอัพแข็งแกร่งตามไปด้วย พิสูจน์ได้จากการที่อินเดียมีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นในประเทศมากกว่า 100 บริษัท
“พิพัฒน์ พิเชฐจำเริญ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิศวะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวในเวทีเสวนา How Public-Private partnership can support growth of e-Transaction ที่จัดโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือทีเอ็มเอ (TMA) ว่า
โครงสร้างหลักสูตรและวิธีการวัดผลในอินเดีย ทำให้นักเรียนสายวิทยาศาสตร์ต้องมีความรู้รอบด้านโดยอัตโนมัติ เช่น การสอบภาคปฏิบัติที่อาจารย์จะสุ่มภาษาในการเขียนโค้ดให้กับนักเรียนแต่ละคน หมายความว่าต่อให้คุณจะถนัดภาษาซี (C) มากที่สุด แต่ถ้าคุณสุ่มได้ภาษาจาวา (Java) ก็ต้องเขียนให้ได้
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้ทาเลนต์ชาวอินเดียมีโอกาสโลดแล่นในวงการบิ๊กเทคมากขึ้น ยังมีเรื่องของทักษะภาษาอังกฤษที่ทำให้ชาวอินเดียปรับตัวต่อสังคมการทำงานได้ง่าย และวีซ่าทำงานประเภท “H-1B” ที่แต่ละปีสหรัฐจะอนุมัติวีซ่าประเภทนี้ให้คนอินเดียมากกว่า 70% โดยเฉพาะกลุ่มที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สะท้อนถึงการโอบรับและเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศปลายทางมากขึ้นเรื่อย ๆ
สอดคล้องกับรายงานจากสำนักข่าวบีบีซี ที่ระบุว่า ในปี 2564 สัดส่วนของชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐคิดเป็นประมาณ 1% ของประชากรทั้งหมด รวมถึงในซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) ที่เป็นศูนย์รวมของสตาร์ตอัพและบริษัทเทคโนโลยีน้อยใหญ่ มีพนักงานชาวอินเดียอยู่ราว 6%
“วิเวก วัดวา” (Vivek Wadhwa) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนักวิชาการชาวอินเดีย กล่าวด้วยว่า ซีอีโอชาวอินเดียส่วนใหญ่มักมีเส้นทางอาชีพเริ่มจากการเป็นพนักงานธรรมดา และค่อย ๆ ไต่เต้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดการทำงานที่ผ่านมา คือการประพฤติตนอย่างอ่อนน้อม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ
“พอพวกเขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้บริหาร ก็จะเอาสิ่งเหล่านี้ติดตัวมาด้วย ซึ่งต่างจากภาพลักษณ์เจ้าอารมณ์ของซีอีโอและผู้บริหารบางคนที่หลายคนคุ้นเคย นั่นทำให้ชาวอินเดียได้รับความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นผู้นำระดับสูงขององค์กรมากขึ้น”