เหรียญ 2 ด้านอาลีบาบาเอฟเฟ็กต์ แนะธุรกิจไทยปรับตัวรับมือสินค้าจีนบุก

ธุรกิจไทยเตรียมรับมือ”อาลีบาบา” เอฟเฟ็กซ์ บุกหนักทั้ง “อีคอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์” ฟาก “ตลาดดอทคอม” ย้ำเหรียญมีสองด้าน ดันสินค้าไทยโกอินเตอร์-เปิดช่องสินค้าจีนบุกไทย ปลุกผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว ด้าน “เทพช็อป” แนะภาครัฐหามาตรการหนุนเอสเอ็มอีไทย “ไปรษณีย์ไทย” ลงทุนไอที รักษามาร์เก็ตแชร์ “ดีเอชแอล-ชิปป๊อป”เล็งจับมือยักษ์อีคอมเมิร์ซชี้แข่งดุผู้บริโภคได้ประโยชน์

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สไตล์การลงทุนส่วนใหญ่ของจีนจะเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) จึงได้เห็นกรณีอาลีบาบาเข้ามาลงทุนโลจิสติกส์ในประเทศไทย ผลดี คือมีช่องทางนำสินค้าไทยส่งออกไปขายในจีนดีขึ้น แต่อีกจุดประสงค์คือเทสินค้าจากจีนมาในไทย โดยอาศัยเขตการค้าเสรีทำให้มีข้อได้เปรียบ ทั้งก่อนนี้ได้ซื้อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ลาซาด้า” ที่เข้าถึงคนไทยได้มาก ทำให้ปัจจุบันแทบผูกขาดตลาดการนำสินค้าจีนมาขายในไทย ตนจึงอยากให้ภาครัฐมอนิเตอร์ดูว่าการขายสินค้าในลาซาด้าที่นำสินค้าจีนเข้ามาขายในแต่ละปีมีมากน้อยแค่ไหน และเติบโตปีละเท่าไร เทียบระหว่างสินค้าเข้ากับออกอะไรเยอะกว่ากัน เพราะในระยะยาวเชื่อว่าการนำเข้าจะสูงกว่าการส่งออก

เปิดทางสู่ผูกขาด

“ตอนนี้อาลีบาบาพูดความจริงครึ่งเดียวว่าจะช่วยนำสินค้าไทยส่งออก ช่วยเรื่องท่องเที่ยว แต่ที่ไม่ได้พูดคือ เขาจะขนสินค้าจีนเข้ามาขายในไทยเท่าไร ภาครัฐต้องมองหลาย ๆ มุม ไม่ใช่แค่มุมที่เขามาลงทุน เพราะอนาคตทุกอย่างจะไปออนไลน์ และลาซาด้าคุมหมด”

ด้านผลกระทบจะเกิดกับผู้ประกอบการ, ผู้ผลิตสินค้า SMEs และพ่อค้าคนกลาง ที่ต้องนำเข้าสินค้าจากจีน หรือผู้ที่ผลิตไทยที่ผลิตสินค้าเหมือนประเทศจีน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องพยายามหาตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งออกสินค้าให้ได้มากขึ้น สร้างแบรนด์สินค้า และขยายไปต่างประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่แค่ขายสินค้าในประเทศไทย นอกจากนี้ยังกระทบกับตลาดอีคอมเมิร์ซทำให้แข่งขันยาก เพราะลาซาด้ากลายเป็นรายใหญ่สุด ขณะที่อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของไทยแทบไม่มีรัฐต้องมีมาตรการรับผลกระทบ

นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ “เทพช็อป” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนของอาลีบาบามีหลายมิติ เช่น การท่องเที่ยว และการศึกษา แต่ที่น่าจับตาคือ การนำสินค้าไทยส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะประชากรจีนมีมหาศาล แต่ในทางกลับกันต้องมีการนำเข้าสินค้าจีนมาในไทย แม้ปัจจุบันจะมีสินค้าจีนไหลเข้ามาอยู่แล้ว แต่การที่อาลีบาบาได้สิทธิพิเศษ เช่น ภาษีนำเข้าถูกลง ทำให้ผลกระทบตกกับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น ต้องเร่งปรับตัว เช่น สร้างแบรนด์ และภาครัฐควรหามาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ

ไทยปรับตัวเพื่ออยู่รอด

นอกจากนี้ ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลซรายอื่นจะยิ่งแข่งกับลาซาด้ายากขึ้น เพราะสินค้าที่คนไทยซื้อส่วนใหญ่ผลิตจากจีน เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น, อุปกรณ์ไอทีและส่วนใหญ่ขายบนลาซาด้า ทำให้ผู้ให้บริการมาร์เก็ตเพลซในไทยทำตลาดน้อยลง เพราะเม็ดเงินสู้ไม่ได้

“การที่รัฐจับมือกับอาลีบาบา มีทั้งข้อดีข้อเสีย รัฐจะทำอย่างไรเพื่อช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แม้รัฐไม่ร่วมกับอาลีบาบา สักวันก็ต้องเกิดผลกระทบ เพราะการค้าเสรีเปิดกว้างขึ้นในระดับโลก”

ไปรษณีย์ไทยเร่งปรับตัว

ด้านนางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการรักษามาร์เก็ตแชร์ให้มากขึ้นไปอีก แม้จะยังมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดที่ 52% และตลาดอีคอมเมิร์ซจะเติบโตสูงขึ้น ทำให้ปริมาณงานขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม

“ปีนี้เป็นปีที่เราคุยกันเรื่องมาร์เก็ตแชร์ว่าจะต้องรักษาไม่ให้ลดลงไปกว่านี้ จะมีการลงทุนเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านไอที เคาน์เตอร์อัจฉริยะที่ต้องขยาย รถขนส่ง เครื่องจักร เครื่องคัดแยกอัตโนมัติ ตู้นำส่ง ตู้นำจ่ายอัตโนมัติ เพื่อซัพพอร์ตงานให้ดีขึ้น ขยับมาร์เก็ตแชร์ให้เพิ่มขึ้นให้ได้ใน 2-3 ปีนี้”

โดยเฉพาะส่วนที่ซัพพอร์ตอีคอมเมิร์ซ เตรียมแยกระบบออกจากศูนย์ EMS ปกติ มาตั้งเป็นศูนย์ส่งสำหรับอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ เพื่อให้ดูแลลูกค้า B2C ได้ดีขึ้น ไม่ปะปนกับ EMS เดิมที่มีทั้งลูกค้ารายเล็กและรายใหญ่ เพื่อใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดแข็งของไปรษณีย์ไทย รวมถึงมีการพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อีวอลเลต) สำหรับผู้ค้าออนไลน์ให้ใช้บริการขนส่งกับไปรษณีย์ไทยได้สะดวกขึ้นประหยัดขึ้น จะเปิดให้บริการ พ.ค.นี้

DHL เล็งจับมืออาลีบาบา

นายเกียรติชัย พิตรปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท ดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยังเชื่อว่าการเข้ามาลงทุนด้านอีคอมเมิร์ซและโลจิสติกส์ของอาลีบาบาในไทย ยังอาศัยพาร์ตเนอร์ช่วยขยายธุรกิจ ไม่ได้ทำเองทั้งหมด เพื่อบริหารต้นทุนและเริ่มทำธุรกิจได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมา DHL เป็นพันธมิตรกับอาลีบาบากรุ๊ป และเริ่มพูดคุยกันเพื่อหาแนวทางความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย

ขณะเดียวกัน บริษัทปรับปรุงเพิ่มคุณภาพการให้บริการให้ดีขึ้น เพื่อให้แบรนด์เป็นที่จดจำทั้งฝั่งผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า ให้นึกถึง DHL เมื่อต้องการส่งสินค้า เน้นลงทุนเพิ่มบริการให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งในกลุ่ม C2C (ผู้บริโภคถึงผู้บริโภค) อย่างบริการ SameDay เพิ่มบริการอีวอลเลตเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และเร่งเพิ่มเซอร์วิสพอยต์รวมถึงขยายศูนย์กระจายสินค้าให้มากขึ้น

“การเข้ามาลงทุนของอาลีบาบากรุ๊ปในไทยเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำสินค้าจากจีนเข้ามาไทย ก่อนนี้ใช้ Taobao เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในเครือเข้ามาบุกเบิก การลงทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้เห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซไทยมากขึ้น ดีกับธุรกิจโลจิสติกส์”

ยิ่งแข่งผู้บริโภคยิ่งได้

ขณะที่นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกลางเชื่อมระบบโลจิสติกส์ครบวงจร กล่าวว่า การลงทุนด้านโลจิสติกส์ในไทยของอาลีบาบายังไม่กระทบภาพรวมในระยะสั้น เพราะน่าจะเน้นใช้ซัพพอร์ตธุรกิจตนเองเป็นหลัก แต่จากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซส่งผลให้มีความต้องการในตลาดมากขึ้น ทั้งจากอีมาร์เก็ตเพลซและโซเชียลคอมเมิร์ซ จึงเป็นไปได้ที่ในระยะยาวอาลีบาบาจะเข้ามาตลาดโลจิสติกส์จริงจัง ซึ่งจะทำให้การแข่งขันที่สูงอยู่แล้วสูงขึ้นไปอีก แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์เป็นผู้บริโภค, พ่อค้าแม่ค้า เพราะการแข่งขันทำให้ค่าบริการถูกลง บริการดีขึ้น

“ชิปป๊อปไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ได้ แต่ถ้าอาลีบาบาไม่สนใจเป็นพาร์ตเนอร์ก็ยังมีคู่แข่งรายอื่นที่จะร่วมกับบริษัท เพื่อสู้กับอาลีบาบา”