
แม้ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในวงการไอทีมากมาย ทั้งจากความนิยมในการใช้ AI ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และดิจิทัลดิสรัปชั่น หรือการที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น แต่เมื่อองค์กรต่าง ๆ มีความเข้าใจและประยุกต์ใช้เครื่องมือทางดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในปีก่อนหน้าอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายในวงการเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในปี 2567 เท่านั้น
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมความเห็นของผู้บริหารในวงการไอทีมาสรุปไว้ดังนี้
AI-การค้าข้ามพรมแดน
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ปี 2567 สภาพเศรษฐกิจจะอยู่ในแบบเดิม คือ มีภาวะสงคราม ปัญหาเดิมยังคงอยู่ แต่ความรุนแรงชัดขึ้น การบริโภคทรงตัว ทิศทางการลงทุนอาจดีขึ้นจากการที่ต้องแย่งชิงทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีน้อยลง จึงต้องอาศัยโซลูชั่นใหม่ ๆ เช่น เรื่องการทำ Cross Border หรือ Digital Trade ให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งต้องใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ไม่ถึงกับต้องใช้อย่างเข้มข้น แต่ต้องมีการนำมาปรับใช้บ้างในกระบวนการผลิต ลดการสูญเสีย พัฒนาสินค้าและบริการแบบใหม่ ๆ รวมถึงหาคู่ค้าใหม่ ๆ

“สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไทยต้องรู้พื้นฐานทักษะ ไม่ว่าการเขียนโค้ด ไม่ใช่แค่ระดับวัยเรียน แต่มีทั้งโค้ดดิ้งสำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ข้าราชการ ภาคอุตสาหกรรม แม้จะมีความจำเป็นและความเข้มข้นต่างกัน แต่ต้องมีพื้นฐานให้เท่าทันโลกใหม่ ซึ่งดีป้าเดินตามแนวทางตามนโยบายรัฐมนตรีดีอี คือ 1.การสร้างรายได้ ลดต้นทุน 2.หาโอกาสใหม่ 3.สร้างคนในระยะยาว”
การสร้างรายได้ ลดต้นทุน สำคัญที่สุด คือ การทรานส์ฟอร์ม เช่น ในอดีตเราเคยขายเหล้า สุราพื้นบ้าน แต่ต่อไปต้องมีคนเอาสินค้าเหล่านั้นเข้าไปต่อเข้ากับระบบดิจิทัลได้ การค้าข้ามพรมแดนได้ แม้แต่เอสเอ็มอีเองก็ต้องเตรียมการทำงานข้ามพรมแดน อย่าง “พรอมต์บิซ” (PromptBiz) ที่ทรานส์ฟอร์มระบบ “อีอินวอยซ์” (e-Invoice) ในภาคธุรกิจ หรือส่งเสริมการใช้โดรนเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตรลง
ส่วนการหาโอกาสใหม่ คาดหวังรายได้ใหม่ ๆ เมืองไทยไม่สามารถตั้งรับได้อย่างเดียว แต่ทำอย่างไรให้คนไทยส่งออกได้มากขึ้น หรือทำอย่างไรให้คนไทยสร้าง “อุตสาหกรรมใหม่” ได้มากขึ้น อาจเป็นบริษัทหลายเชื้อชาติ อย่างสตาร์ตอัพ หรือพูดถึงอุตสาหกรรมศักยภาพที่ไทยต้องการวางโพซิชั่นอย่างเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เรื่องเกม แอนิเมชั่น แคแร็กเตอร์ เป็นจุดแข็งที่สามารถสร้างให้มีพลังมากขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมเรื่อง “คน” แม้ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การแข่งขันก็จะสูงขึ้นด้วย ดังนั้นการอัพสกิลรีสกิลในระยะสั้นต้องเร่งคนที่เป็น Nontech เช่น ไฟแนนซ์ เอชอาร์ หรือสายสนับสนุน ต้องเพิ่มสกิล AI เข้าไป ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อเขียนโค้ด แต่เพื่อให้เท่าทัน และใช้เพิ่มประสิทธิผลได้
3 ความท้าทายยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น
ด้าน นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK บริษัทที่ปรึกษา และผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา ภาคธุรกิจเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งมีปัจจัยจากการที่เฟด (Fed) หรือธนาคารกลางสหรัฐดึงเงินกลับเข้าสู่ระบบด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลต่อการลงทุนในภาพรวม และเป็นความท้าทายในปี 2567 ด้วย
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต้องเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากดิจิทัลดิสรัปชั่นที่ทำให้ภูมิทัศน์การใช้งานดิจิทัลเปลี่ยนไปใน 3 ด้าน คือ 1.ธุรกิจไร้พรมแดน ทุกวันนี้ธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดและถือครองส่วนแบ่งในไทยอย่างรวดเร็ว เช่น ธุรกิจสตรีมมิ่งที่ทำให้คนใช้เวลากับการดูทีวีน้อยลง รวมถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่สินค้าจากจีนเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งยังพบแนวโน้มการแข่งขันข้ามอุตสาหกรรมที่มากขึ้น เช่น กลุ่มการเงินเริ่มหันมาจับบริการเชิงไลฟ์สไตล์ หรือกลุ่มค้าปลีกผันตัวมาเป็นผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำแทน

2.พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย ปัจจุบันจำนวน Gen Z เพิ่มสูงขึ้น ความน่าสนใจของคนกลุ่มนี้ คือ มีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว หรือสะสมความมั่งคั่งมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ อีกทั้งยังเป็น Digital Native เกิดมาพร้อมกับการใช้ดิจิทัลในการทำสิ่งต่าง ๆ ทำให้ชอบการสื่อสารทางออนไลน์มากกว่าช่องทางอื่น ๆ
และ 3.การทำงานแบบ Gig Worker หรือการประกอบอาชีพอิสระ หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย จำนวนของคนที่เป็น Gig Worker ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า มีการคาดการณ์จาก Statista บริษัทด้านการวิจัยด้วยว่า ในปี 2571 ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระในสหรัฐจะมีถึง 90 ล้านคน จากปัจจุบันมีอยู่ราว 70 ล้านคน ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงการที่องค์กรต้องรับมือกับการตัดสินใจเปลี่ยนงานของพนักงานด้วย
“อีก 5 ปีข้างหน้า ภาพรวมของการทำธุรกิจจะมีความท้าทายอีกมาก 3 ปัจจัยที่กล่าวมา ล้วนมีสาเหตุมาจากดิจิทัลดิสรัปชั่น ดิจิทัลทำให้เกิดความสะดวกสบาย เช่น ซื้อของง่ายขึ้น ทำงานได้สะดวกขึ้น ส่งผลให้องค์กรต้องเปิดใจและเตรียมพร้อมต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการใช้งานดิจิทัลมากขึ้น”
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจาก AI, ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืนหรือ ESG (Environmental, Social and Corporate Governance) ทำให้ภาคธุรกิจตื่นตัวกับการปรับใช้โซลูชั่นทางดิจิทัล เช่น การส่งออกสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) ทำให้ผู้ผลิตต้องมีเครื่องมือในการจัดเก็บดาต้า ติดตามคาร์บอนเครดิตในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด เพื่อแจ้งข้อมูลการผลิตสินค้ากับ EU ด้วย
“เราพบว่าความนิยมในการใช้ AI มีผลกับภาคธุรกิจมาก เห็นได้จากการที่หลาย ๆ บริษัททุ่มการลงทุนมาที่โซลูชั่น AI มากขึ้น เป็นสิ่งที่หลาย ๆ บริษัทลงทุนมากที่สุดเลยก็ว่าได้ หรือแม้แต่เราเองก็ลงทุนและสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อพัฒนาโซลูชั่น AI ให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากกว่าเดิม”
NT เร่งหยุดเลือดบรอดแบนด์
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า NT ยังคงเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งการหารายได้ใหม่ ๆ การบริหารคน และการปรับแผนธุรกิจบรอดแบนด์ที่ตกอยู่ในสภาวการณ์ที่ยากลำบาก โดยขาดทุนปีละกว่า 2,000 ล้านบาท

“ในปี 2568 คลื่น 850MHZ จะหมดอายุทำให้รายได้ที่เคยมีปีละหลายหมื่นล้านหายไป เราจึงต้องหาช่องทางในการหารายได้ใหม่ ๆ สิ่งที่เราพยายามทำอยู่ตอนนี้คือเลี่ยงตลาดที่มีคู่แข่ง เพราะรู้ว่าความสามารถในการแข่งขันกับเอกชนยังลำบาก อย่างมือถือก็โฟกัสที่ B2B หรือการใช้งานในหน่วยงานรัฐและเอกชน กับส่วนที่เป็น Machine-to-Machine หรือการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งลูกค้าทั่วไปที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย”
ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์จะลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพราะยังไม่สามารถหยุดเลือดที่ไหลออกหรือรักษายอดยกเลิกการใช้งานได้ ที่ผ่านมาลูกค้าหายไป 14% ต่อเดือน จึงเน้นไปที่การให้บริการ และการใช้อุปกรณ์คุณภาพสูง แม้ลูกค้าบรอดแบนด์ของ NT ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ ARPU ต่ำ (รายได้ต่อเดือนต่อลูกค้า) ที่มีการใช้จ่ายกับค่าอินเทอร์เน็ตราว 400 บาทต่อเดือน เพื่อรักษาฐานลูกค้า 1.8 ล้านราย ที่มีอยู่ให้อยู่นานขึ้น
การบริหารคนก็เป็นความท้าทายเช่นกัน เมื่อตั้งเป้าลดจำนวนพนักงานให้เหลือ 7,000 คน ภายในปี 2570 จึงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในโครงการเกษียณก่อนกำหนด (Early Retirement) หรือจากกันด้วยความสมัครใจ (Mutual Separation Plan-MSP) ต่อไป
ขณะเดียวกัน NT ต้องผลักดันให้ธุรกิจดิจิทัล เช่น บริการคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) ที่ปัจจุบันสร้างรายได้ประมาณ 4% เติบโตเป็น 20% หรือมีรายได้แตะ 10,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปีให้ได้
“ที่ผ่านมาการให้บริการคลาวด์ภาครัฐ เราได้งบฯราว 2,000 ล้านบาท แต่การใช้งานจริงมูลค่าเป็นหมื่นล้าน เราเห็น Backlog ที่ค้างอยู่ 3 พันกว่าล้านบาท ทำให้เราเชื่อว่าธุรกิจนี้ยังมีช่องว่างให้โตอีกมาก และมองว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการคลาวด์ต่างประเทศไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่การแข่งขัน เพราะลูกค้าคนละเซ็กเมนต์ อะไรที่ซับซ้อนไปอยู่ที่เขา อะไรที่เป็นพื้นฐานและไม่ซับซ้อนมาก ก็มาอยู่กับเรา เป็นหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจที่ต้องเป็นผู้ให้บริการที่เป็นกลาง และโฟกัสหน่วยงานภาครัฐก่อนอยู่แล้ว”
ตลาดไอทีเกาะนโยบายเศรษฐกิจ
นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความท้าทายในปี 2567 จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมภายในประเทศ และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ดังเช่นที่ผ่านมาเป็นช่วงที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ภาคธุรกิจอาจชะลอการลงทุนไปบ้าง ขณะที่ผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า และกำลังซื้อเช่นกัน
“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น Easy E-Receipt และดิจิทัลวอลเลต จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงต้นปีและกลางปีได้ อย่างดิจิทัลวอลเลตคือการอัดฉีดเงินเข้ามาในระบบให้แต่ละบุคคล ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยได้อย่างอิสระ ตัดสินใจเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ได้ง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีกับเราเช่นกัน”

สำหรับบริษัท ธุรกิจหลักมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรก 88% เป็นธุรกิจเครื่องพิมพ์ มีเครื่องพิมพ์แบบ Single Function ที่ใช้พิมพ์งานอย่างเดียว และแบบ Multifunction ที่มีฟังก์ชั่นอื่น ๆ เช่น สแกนและถ่ายเอกสาร อีก 12% เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น จักรเย็บผ้า เครื่องปักผ้า เครื่องพิมพ์ผ้า เป็นต้น
“ภาพรวมปีนี้ (ถึง เม.ย. 2567) ตั้งแต่ต้นปีถึงกลางปีถือว่าค่อนข้างดี เพราะช่วงโควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องซัพพลายไม่เพียงพอ จนต้นปีที่ผ่านมาเริ่มมีสินค้าเข้าเติมเต็มในตลาดมากขึ้น ส่วนในไตรมาส 3 เป็นช่วงที่ภาคราชการปิดงบประมาณประจำปีในเดือน ก.ย. ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ช่วงปลายปีจะนิ่งที่สุด เพราะคนเริ่มนำเงินไปซื้อของขวัญหรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาว”
ศึกชิงทาเลนต์สายเทค
นางสาวภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฟอร์ติเน็ต ประเทศไทย ที่ปรึกษาและผู้ให้บริการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของบริษัทเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ทำให้ต้องอัพเดตความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะภัยคุกคามไซเบอร์ขยายตัว และเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รวมถึงโซลูชั่นที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีความซับซ้อนและมีให้เลือกใช้เป็นจำนวนมาก

“ภาพรวมตลาดเติบโตต่อเนื่องตามการปรับตัวทางดิจิทัลขององค์กรต่าง ๆ แน่นอนว่านำมาซึ่งการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นด้วย ทั้งคนที่มีความสามารถโดยเฉพาะด้านนี้ยังมีน้อย ถือว่าขาดแคลนมาก จึงตกอยู่ในสภาวะการชิงตัวพนักงานข้ามองค์กร”
อย่างไรก็ตาม สภาพเศรษฐกิจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจต่าง ๆ ด้วย ที่ผ่านมาหลายแห่งยังชะลอการลงทุนด้านนี้ บริษัทจึงเพิ่มทางเลือกในการให้บริการ เช่น ให้มีการจ่ายแบบใช้เท่าไหนจ่ายเท่านั้น (Pay per Use) หรือจ่ายรายเดือนแบบ Subscription Model เป็นต้น เชื่อว่าถ้าสภาพเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ก็จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย