
“Microsoft” ยืนยัน “ดาต้าเซ็นเตอร์” ในไทยมาแน่ เผยอยู่ระหว่างตัดสินใจรูปแบบการลงทุน
วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินสายทัวร์อาเซียนใน 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย และมาเลเซีย ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.-2 พ.ค. 2567 ของ “สัตยา นาเดลลา” (Satya Nadella) ซีอีโอบิ๊กเทคระดับโลกอย่าง “ไมโครซอฟท์” (Microsoft) มาพร้อมการประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในแต่ละประเทศ
โดยเม็ดเงินการลงทุนในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ ที่อินโดนีเซียได้รับอยู่ที่ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซีย 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ยังไม่มีการประกาศตัวเลขและกรอบเวลาการลงทุนที่ชัดเจน นำมาซึ่งการตั้งคำถามของหลายฝ่ายเกี่ยวกับการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ของไมโครซอฟท์ว่ามีแผนการลงทุนอย่างไร
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากไมโครซอฟท์ประกาศลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยไปเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา ก็กำลังอยู่ในช่วงของการตัดสินใจว่าจะลงทุนในรูปแบบใด ซึ่งการลงทุนจะมาในลักษณะคลัสเตอร์ที่มีการตั้งทั้งหมด 3 ศูนย์
“ตอนนี้มี 2 ทางเลือกให้ตัดสินใจ คือไมโครซอฟท์ลงทุนเองทั้งหมด หรือลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์ ข้อดีของอย่างหลังคือลดระยะเวลาในการลงทุนตั้งแต่ต้น เพราะสามารถเข้าใช้โครงสร้างพื้นฐานของพาร์ตเนอร์ได้ทันที แต่ไมโครซอฟท์ก็มี requirement ของตนเอง ถ้าจะลงทุนร่วมกัน พาร์ตเนอร์ก็ต้องผ่านเกณฑ์ของเราด้วย แต่ไม่ว่าจะลงทุนแบบใด เชื่อว่าเป็นประโยชน์กับประเทศไทยแน่นอน“
นายธนวัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการลงทุนในไทยอย่างละเอียดจะมีการอัพเดตในระยะต่อไป ส่วนการที่ประเทศอื่น ๆ มีการประกาศแผนการลงทุนอย่างชัดเจน เป็นเพราะว่ามีการทำงานร่วมกันมาระยะหนึ่งแล้ว
“การประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ถือเป็นคำมั่นสัญญาของไมโครซอฟท์ ซึ่งขอยืนยันว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม การประกาศลงทุนตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างไมโครซอฟท์และรัฐบาลไทย หลังจาก Microsoft ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการจ้างงาน
พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์กับหน่วยงานภาครัฐ เมื่อครั้งที่นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” การประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ช่วงกลางเดือน พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
โดยสาระสำคัญของ MOU ฉบับนี้ยังรวมถึงการยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ของไทย ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ ในการเข้าร่วมโครงการ Government Security Program (GSP) ซึ่งเป็นโครงข่ายความร่วมมือของไมโครซอฟท์ที่เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนรัฐบาลของชาติต่าง ๆ และองค์กรภาครัฐในระดับนานาชาติให้สามารถปกป้องบุคลากร ข้อมูล และโครงสร้างพื้นฐานจากภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ได้