ความร้อนแรงในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นในรอบ 2-4 ปี อาจบดบังความจริงไปว่าเทคโนโลยีบล็อกเชน และระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องนั้น ค่อย ๆ ปรับตัวเข้าสู่โลกจริง หลังจากเข้าสู่สภาวะ “หมี” ในช่วงหลายปีนี้
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “กาลา เหวิน” ผู้อำนวยการพัฒนาระบบนิเวศ Binance Chain (BNB Chain) หนึ่งในบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากแพลตฟอร์ม Binance ถึงยุทธศาสตร์ One BNB ที่เธอ และทีมพัฒนามาตลอดปี 2024 นี้ ทั้งยังชวนมองไปถึงโฟกัสใหม่ในการปรับใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน BNB ในฐานะ “สะพานเชื่อม” โลกคริปโต Web3 กับโลกธุรกิจเดิม Web2 ให้เดินหน้าไปด้วยกัน
ปัจจุบัน BNB Chain มีมูลค่าทางการตลาดรวมอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (คิดจากมูลค่าเหรียญ BNB ข้อมูลจาก BSCscan)
จาก BSC สู่ One BNB
“เหวิน” เท้าความถึงบล็อกเชนของ BNB ว่าพัฒนาต่อยอดมาจาก Ethereum ในชื่อ Binance Smart Chain (BSC) โดยเน้นไปที่ความเร็ว และต้นทุนการทำธุรกรรมที่ต่ำ ทำให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงแรก BSC Chain รองรับ DeFi และ GameFi ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาลจากการเปิดตัวโครงการต่าง ๆ เช่น PancakeSwap
อย่างไรก็ตาม หลังปี 2022 โลกของบล็อกเชนได้เปลี่ยนไป ขณะที่ตลาดคริปโตเข้าสู่ภาวะ “ตลาดหมี” แต่การทำธุรกรรมยังเพิ่มสูง และ BSC ก็เริ่มมีปัญหาเรื่องค่าแก๊สที่สูงขึ้น ส่วนฝั่งบล็อกเชนอื่น ๆ โดยเฉพาะ Ethereum ต้องการแก้ปัญหาคอขวดของธุรกรรมที่แพง และช้า เนื่องจากระบบนิเวศเติบโตขึ้นทำให้เกิดปัญหา 3 ประการ (Blockchain Trilemma)
“การแก้ปัญหาไปไม่ได้ในบล็อกเชน ทั้ง Scalability, Decentralization, Security โดยการใช้ Layer 2 จึงเริ่ม เน้น Layer 2 (L2) เช่น OP Stack และ zkRollups เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายการใช้งาน BSC เองจึงต้องขยับตัวไปทำ Layer 2 ด้วย OPBNB และ Rollup as a service”
ขณะเดียวกันในช่วงปี 2023-2024 มีการพูดถึงเรื่องการประมวลผลระดับสูงหรือเอไอ ด้วยความที่ BSC ไม่ได้กระจายศูนย์สมบูรณ์จึงต้องมีโซลูชั่นด้านการเก็บรักษา และประมวลผลข้อมูล จึงมี Greenfield เป็นระบบจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Data Storage)
ที่ใช้สำหรับ AI และการจัดเก็บข้อมูลดิจิทัล เช่น เพลง หรือไฟล์ขนาดใหญ่ พัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในระบบบล็อกเชน โดยเฉพาะเน้นการเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีต้นทุนต่ำและมีความปลอดภัยสูง
Greenfield ทำหน้าที่ช่วยจัดเก็บข้อมูลในลักษณะกระจายศูนย์ เหมาะกับการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่ต้องการการเข้าถึงข้อมูลแบบปลอดภัยและรวดเร็วรองรับการใช้งานในโครงการที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ และซับซ้อน เช่น การพัฒนา AI Chain หรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับ AI จัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่
เช่น เพลง และไฟล์สื่อมัลติมีเดีย สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับ Zero-Knowledge Proof (ZKP)- Fully Homomorphic Encryption (FHE) ซึ่งต้องการความปลอดภัยในการจัดเก็บและประมวลผล เป็นทางเลือกที่ต้นทุนต่ำสำหรับการจัดเก็บข้อมูลในโลกคริปโต และการใช้งานทั่วไป เช่น การจัดเก็บเอกสารสำหรับองค์กร
“โซลูชั่นทั้งหมดสร้างรวมกันกลายเป็นหนึ่งเดียว เราจึงไม่ใช้คำว่า Binance Smart Chain (L1) อีกต่อไป แต่เป็นการบูรณาการในระบบบน Binance Chain หนึ่งเดียว หรือ One BNB สิ่งที่ตามมาคือต้องสร้างคอมมิวนิตี้ที่เอื้ออำนวยให้เหล่าผู้สร้างมาพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนระบบนิเวศ One BNB ของเรา”
สะพานเชื่อม คริปโต-โลกจริง
เหวินย้ำว่า ภารกิจของเรา นอกจากการสนับสนุนผู้สร้าง และนักพัฒนาบนระบบนิเวศ BNB แล้ว สิ่งสำคัญคือ “พาร์ตเนอร์” ทางเทคโนโลยีและธุรกิจ เพราะการพัฒนาทั้งหมดต้องนำไปสู่การปรับใช้งานในวงกว้าง หรือ Mass Adoption จึงวางตัวในฐานะ “สะพานเชื่อม” ระหว่างโลกคริปโต หรือธุรกิจใน Web3 และธุรกิจดั้งเดิมใน Web2 ที่กำลังมองหาโอกาสเข้ามาในโลกคริปโต
สิ่งที่ทำให้พวกเขาปรับตัวสู่ Web3 ง่ายที่สุด คือ Stable Coin หรือเหรียญที่ตรึงมูลค่ากับเงินในโลกจริง ถือเป็นสะพานหรือทางเชื่อมสองโลกที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด โดย BNB Chain สนับสนุน Web3 Builders และบริษัทที่ต้องการพัฒนาโซลูชั่น Stablecoin บนแพลตฟอร์ม เน้นโครงการที่มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบทั้งด้านเทคโนโลยี และการใช้งานจริง
“ล่าสุดเราร่วมกับบริษัท Web2 ที่เป็นแพลตฟอร์มจองโรงแรมแห่งหนึ่งที่เริ่มใช้ Stablecoin เป็นตัวกลางในการจองโรงแรม และตั๋วเครื่องบินแล้ว และกำลังมองหาการขยายการใช้งานจริงของ Stablecoin ในชีวิตประจำวัน เช่น การโอนเงินระหว่างประเทศ การจ่ายค่าบริการ และการชำระค่าสินค้า”
“Stablecoin” เป็น “ทางเข้า และทางออก” ในการเชื่อมต่อระหว่างเงินในโลกจริงและโลกคริปโต ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ โดยการรับรองผ่านสินทรัพย์สำรองหรือกระบวนการตรวจสอบอย่างโปร่งใส ส่งเสริมความร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียง เช่น Circle (USDC) หรือ Tether (USDT)
ซึ่งไม่ใช่แค่พาร์ตเนอร์ที่เป็นบริษัท Web2 เท่านั้น แต่ฝั่ง Binance Exchange มีเป้าหมายที่จะเพิ่มผู้ใช้ 2,000 ล้านคนทั่วโลก ต้องสนับสนุนเชิงเทคนิค รวมถึงต้องร่วมมือกระดานเทรด Centralized Exchange อื่น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึง Stablecoin ของผู้ใช้ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก
แน่นอนว่าจุดแข็งที่ต้องเน้นย้ำ คือ ระบบนิเวศ BNB Chain ออกแบบให้รองรับ Stablecoin ที่หลากหลายและสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ
“เราไม่สนว่าจะเป็น Stablecoin บนบล็อกเชนคู่แข่ง หรือระบบนิเวศอื่น ๆ บล็อกเชนของเราต้องเปิดกว้างและรองรับ เราต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไปข้างหน้า คือเป้าหมายที่ทำมาตลอดปีนี้ คือ ยก BNB Chain ให้เป็นตัวเลือกอันดับแรกสำหรับการพัฒนาโครงการ หรือการปรับใช้ Stablecoin ในวงกว้าง”
อย่างไรก็ตาม Stable Coin ไม่ใช่โฟกัสเดียวในปีนี้หรือปีหน้า เพราะ Grand Narrative หรือแนวโน้มด้านคริปโต ยังมีอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องเอไอ การทำ Tokenized สินทรัพย์จริงสู่โลก Web3 หรือเรื่องของ Meme Coin ที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางในปีนี้ โดย Meme Coin เป็น “สะพานเชื่อม” ของชุมชนผู้ใช้งานทั่วไป
เพราะอาจจะรู้สึกว่าบิตคอยน์ยากไป ETH หรือ BNB ก็ยากไป ต่างจาก Meme ที่ตลกและเข้าถึงง่าย ซึ่งจะนำไปสู่การใช้งาน และการเรียนรู้เรื่องราวใน Web3 และ BNB Chain ต้องการเป็นระบบนิเวศแรก ๆ ที่กลุ่มผู้สร้างหรือชุมชน Meme นึกถึงเมื่อใช้งานเช่นเดียวกัน