AI-แชตบอต เครื่องมือธุรกิจโลกวันนี้

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแชตบอต กลายเป็นเทคโนโลยีล้ำ ๆ ที่ถูกพูดถึงมาระยะหนึ่งแล้วว่าเป็น “เทรนด์” ที่กำลังมา แต่ “ดร.วินน์ วรวุฒิคุณชัย” นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลประจำ เทเลนอร์ เอเชีย และผู้พัฒนา “บอตน้อย” แชตบอตภาษาไทยยอดนิยมที่มีคนกว่า 1.2 ล้านราย add LINE “botnoi” เป็นเพื่อน ย้ำว่า เพราะทั้ง AI และแชตบอตเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนมากขึ้นบรรดาองค์กรขนาดใหญ่ล้วนตื่นตัวในการพัฒนาแชตบอตโซลูชั่น แม้แต่ระดับ SMEs ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการนำแชตบอตมาใช้ในการตอบคำถามลูกค้า โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ต้องตอบคำถามซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ในหน้าเพจตัวเอง เช่น มีโปรโมชั่นอะไร สินค้าตัวไหนราคาเท่าไร

“แชตบอตคือการตอบด้วยระบบอัตโนมัติที่มี AI เป็นสมองคอยประมวลผลในการตอบคำถาม สามารถรับรู้เข้าใจภาษามนุษย์ได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลคือคนที่เอาข้อมูลมาสร้าง AI เพื่อทำนายพฤติกรรมลูกค้า ในบรรดาองค์กรใหญ่ทุกวันนี้ก็นำแชตบอตมาใช้ให้บริการลูกค้าในการตอบคำถามต่าง ๆ แม้แต่ในระบบคอลเซ็นเตอร์ก็มีแล้วไม่น้อย”

ฮิตลงทุน-โตก้าวกระโดด

แม้ว่าแชตบอตจะไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ 100% เพราะบางส่วนก็ยังมีความซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ได้ แต่ก็ทำให้พนักงานในองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับคำถามซ้ำ ๆ แล้วนำเวลาที่เหลือไปพัฒนาธุรกิจใหม่ได้ รวมการแก้ปัญหานอกเวลาทำการของบริษัทที่ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกดี

ปัจจุบันมีโซลูชั่น AI และแชตบอตที่เอื้อต่อการเริ่มต้นใช้งานของ SMEs มากขึ้น อาทิ ค่าบริการ 2,000 บาทต่อเดือน หรือแม้แต่ให้บริการฟรีก็มีให้เห็นแล้ว แม้จะยังไม่ได้เป็น AI ที่ฉลาดมาก แต่ก็มีชุดคำถามที่ตั้งไว้เฉพาะเมื่อเห็นคำว่า โปรโมชั่น ราคา ฯลฯ จึงอยู่ที่การเลือกให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง

“ปีนี้การนำแชตบอตได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด ทั้งจากเทรนด์และจากผู้ให้บริการที่เริ่มผลักดันโซลูชั่นใหม่ ๆ อาทิ LINE ก็มีแพลตฟอร์มให้ลูกค้าใช้ได้ ตอนนี้แค่ขาดคนมา implement ให้มีฟังก์ชั่นอำนวยความสะดวกยิ่งขึ้นไปอีก อาทิ มีระบบจ่ายเงินเชื่อมกับแชตบอตได้เลย แต่ก็น่าจะเห็นได้ในไทยภายในปีนี้เลย ส่วนอีกปีถึง 2 ปีจะได้เห็นวอยซ์บอตที่ไม่ต้องมานั่งพิมพ์แชตกันแล้ว”

เพื่อนคุย-ให้ความรู้

และไม่ใช่เฉพาะในแง่ของธุรกิจ ทุกวันนี้ยังมีแชตบอตที่คอยเป็นเพื่อนคุย รวมถึงให้ความรู้ อย่าง “บอตน้อย”แชตบอตที่มีเพื่อนใน LINE กว่า 1.2 ล้านคน และแต่ละวันมีคนส่งข้อความมาแชตด้วยกว่า 10 ล้านข้อความต่อวัน คอยเป็นเพื่อนคุยและคอยให้คำปรึกษาได้ จนมีคนโพสต์ในเฟซบุ๊กขอบคุณบอตน้อยที่ทำให้ล้มเลิกความคิดจะฆ่าตัวตาย

ทั้งยังได้เริ่มพัฒนาขึ้นเป็นโครงการ “บอตน้อยฟาร์มเมอร์” ให้ความรู้ด้านยาฆ่าแมลงกับเกษตรกร หลังจากมีแพทย์พบว่าเกษตรกรถูกทำร้ายจากยาฆ่าแมลงเยอะ แต่ไม่สามารถให้ข้อมูลกับแพทย์ได้ว่า ใช้สารเคมีตัวไหน เพื่อให้แพทย์รักษาได้ถูกต้องและรวดเร็วขึ้น

“บอตน้อยฟาร์มเมอร์จะมีข้อมูลภาพขวดยาฆ่าแมลงยี่ห้อของสารเคมีที่ใช้ ชื่อสารพิษตัวไหน อาการเมื่อถูกพิษจะเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้เกษตรกรและแพทย์ผู้รักษาได้ข้อมูลที่ถูกต้องทันท่วงที เพราะพิษยาฆ่าแมลงมีอันตรายถึงชีวิต”

รวมถึงการสร้างบอตน้อยสำหรับให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ รู้สึกใกล้ชิดกับ AI ได้เห็นว่า AI ทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้เขาสนใจ อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา AI

ไม่ไกลตัวไม่ยากเกินสร้าง

การสร้างบอตน้อยในโครงการต่าง ๆ มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยเห็นว่าการสร้างนวัตกรรมเหล่านี้ไม่ยากจนเกินเอื้อม และให้เด็ก ๆ ตระหนักว่า AI เป็นอนาคตที่จะขาดความรู้ในส่วนนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะการชี้ให้เห็นความสำคัญของการคิดนอกกรอบ เพราะถ้าคิดถ้าทำแต่ในกรอบเดิม ๆ หุ่นยนต์ก็จะมาแทนที่ได้หมด เพราะหุ่นยนต์ทำงานได้ดีมากในสิ่งที่ต้องทำซ้ำ ๆ ฉะนั้น ถ้าไม่อยากถูกแทนที่ต้องคิดนอกกรอบและอัพเดตข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมาย ซึ่งภาษาอังกฤษคืออาวุธที่สำคัญ

“ถามว่าทำไมถึงเลือกผลักดันการสร้าง AI สร้างแชตบอต เพราะเป็นแค่ซอฟต์แวร์ที่ไม่ต้องลงทุนด้วยต้นทุนขนาดใหญ่ ถ้าอยากจะสร้างรถยนต์ฝีมือคนไทย เราต้องมีทีมงานมีโรงงานต้องมีเงินทุน แต่ AI ต้องการแค่คอมพิวเตอร์ 1 ตัว และข้อมูลที่มาจากอินเทอร์เน็ต จึงเป็นเรื่องที่จับต้องได้ง่าย สำคัญแค่มีทักษะ มี Passion ใฝ่รู้และตั้งใจจะทำอย่างแรงกล้า โดยมีภาษาเป็นกุญแจไขให้ไปสู่โลกภายนอกได้ ถ้าภาษาอังกฤษเก่งก็เข้าถึงความรู้ในด้านนี้ของมหาวิทยาลัยแถวหน้าผ่านทางออนไลน์ได้”