กสทช. มีมติ 4 ต่อ 2 ไม่ให้ “ดีแทค” เยียวยาหลังสิ้นสุดสัมปทาน ลูกค้า 9 หมื่นเบอร์ต้องเร่งย้ายค่าย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2561 การประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระที่สำคัญคือ การพิจารณาทบทวนมติให้บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ได้รับสิทธิ์ในการเข้าสู่มาตรการเยียวยาผู้บริโภคหลังสิ้นสุดสัมปทาน 15 ก.ย. 2561 นี้ ด้วยการให้เปิดบริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราวหรือไม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อ 10 ก.ย. 2561 ดีแทคได้แจ้งว่า ยังมีลูกค้า 94,625 รายคงเหลือในระบบสัมปทาน ขณะที่บอร์ด กสทช. ได้มีหนังสือแจ้งดีแทคไปตั้งแต่ 20 มิ.ย. เพื่อให้เร่งโอนย้ายก่อนจะหมดสัมปทาน ซึ่งเป็นเวลาพอสมควรแล้ว และการสิ้นสุดช่วงเวลาเยียวยาลูกค้าหลังหมดสัมทปานของทรูมูฟ ดิจิตอลโฟน และเอไอเอส ก่อนหน้านี้ได้มีลูกค้าซิมดับราว 2 แสนราย เพราะไม่มีทางที่จะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าทั้งหมดโอนย้ายไปได้

“ประเด็นจำนวนลูกค้าคงเหลือจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงทำหนังสือแจ้งให้ดีแทครีบโอนย้ายลูกค้าที่เหลือในระบบออก ซึ่งระบบโอนย้ายลูกค้าของเคลียร์ริ่งเฮ้าส์สามารถรองรับได้ในช่วงเวลา 3 วันที่เหลือ และมาตรการเยียวยานี้จะให้เฉพาะลูกค้าในระบบสัมปทาน ลูกค้าที่ใช้แบบโรมมิ่งจึงไม่เข้าข่ายนี้”

ส่วนประเด็นปัญหาการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันระบบคลื่นรบกวนและการเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายของดีแทค กสทช. ได้ยินดีรับข้อเสนอของดีแทคไว้อยู่แล้วเพียงแต่ขอให้มีการจ่ายเงินประมูลคลื่นไว้ก่อน และกรณีนี้ กสทช. ได้มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าก่อนหมดสัมปทานเรียบร้อยแล้ว

ดังนั้นบรรดาเหตุผลของดีแทคที่เสนอเข้ามาต่อบอร์ด กสทช. ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอที่จะเข้าองค์ประกอบของการเยียวยาผู้บริโภคที่ยังไม่อาจโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่นได้หลังสิ้นสุด คือ 1 ต้องมีผู้ใช้งานคงเหลือเป็นจำนวนมาก 2. กสทช. จัดประมูลไม่ทัน

“วันนี้บอร์ด กสทช. จึงมีมติด้วยคะแนน 4 ต่อ 2 เสียง ที่เห็นว่า ดีแทคไม่เข้าองค์ประกอบในการเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าหลังสิ้นสุดสัมปทาน โดยจากนี้แจ้งให้ดีแทครีบแจ้งต่อประชาชน และให้โอนย้ายลูกค้าให้เสร็จภายในเที่ยงคืนวันที่ 15 ก.ย. 2561”

โดยก่อนหน้านี้ ดีแทคยื่นฟ้อง กทสช. ต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติบอร์ดครั้งที่ 13/2561 เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2561 ซึ่งกำหนดให้ดีแทคต้องเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่าน 900 MHz ถึงได้รับสิทธิเข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ซึ่งศาลปกครองได้ไต่สวนครั้งแรกไปเมื่อ 11 ก.ย. 2561 และสรุปว่าจะรอมติที่ประชุม กสทช. วันนี้ก่อนที่ศาลจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป