อินทัชตุน 200 ล้าน อ้าแขนรับสตาร์ตอัพ 5G

ทุ่มก่อนไม่รอแล้วนะ “อินทัช” พร้อมลงทุนสตาร์ตอัพซัพพอร์ต 5G ตั้งแต่ระดับ seed ลั่นตุนไว้แล้ว 200 ล้านบาท ประเดิม 40 ล้านบาทกับ “อีคาร์ทสตูดิโอ” กรุยทางใช้ location based ต่อยอดธุรกิจ

นายณรงค์พนธ์ บุญทรงไพศาล หัวหน้าโครงการบริษัทร่วมทุนอินเวนต์ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า แผนการลงทุนในสตาร์ตอัพผ่านโครงการอินเวนต์ (InVent) ของบริษัทในปีนี้ ยังมีงบฯลงทุน 200 ล้านบาท เหมือนที่ผ่านมา แต่สามารถขอเพิ่มได้ถ้าเจอสตาร์ตอัพที่น่าสนใจ โดยปีนี้จะเน้นลงทุนในสตาร์ตอัพที่พัฒนาเทคโนโลยีรองรับ 5G และดิจิทัลไลฟ์สไตล์ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ บล็อกเชน โดยในไตรมาส 2 จะเปิดตัวอีก 2 สตาร์ตอัพด้านบล็อกเชน และเฮลท์เทค และกำลังขออนุมัติลงทุนอีก 5 บริษัท ซึ่งเกี่ยวกับ 5G

ขณะที่ล่าสุดได้ลงทุน 40 ล้านบาท กับบริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด (Ecartstudio) บริษัทพัฒนาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับโปรแกรมประยุกต์ทางด้านภูมิศาสตร์ (enterprise location-based application) เนื่องจากมองว่าเทคโนโลยี location based services นำมาใช้ในธุรกิจอื่นได้ ทั้งค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และประยุกต์กับ 5G ได้

“มองว่า 5G ควรลงทุนตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะถ้ารออาจทำให้การลงทุนมีมูลค่าสูงขึ้น และเพื่อให้บริการได้ทันเมื่อ 5G เกิด”

ปัจจุบันอินทัชลงทุนในสตาร์ตอัพแล้วกว่า 500 ล้านบาท กับ 17 สตาร์ตอัพ ปีที่แล้วมูลค่าเติบโตรวมกัน 30-40% และมีรายได้รวมกว่า 1,200 ล้านบาท กว่าครึ่งสามารถทำกำไรได้แล้ว

“จากนี้จะไม่ลงเงินในซีรีส์ A และ B เหมือนที่ผ่านมา แต่จะเริ่มลงทุนตั้งแต่ระดับ seed เพราะ 5G เป็นเรื่องใหม่ แต่ละรายจะลงราว 20-40 ล้านบาท”

ภาพรวมของสตาร์ตอัพในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีแอ็กทีฟราว 1,000 ราย แต่ยังเติบโตช้ากว่าต่างประเทศ ด้วยจำนวนประชากรที่ไม่ได้มากและการขยายตลาดไปต่างประเทศที่ยังไม่ง่าย ดังนั้นจะอยู่รอดได้ต้องใช้โมเดลธุรกิจแบบ B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ)

นายวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนา smart city platform ทั้งสำหรับลูกค้า B2B และ B2C เพิ่มจากระบบบนเว็บไซต์ ในส่วนของ B2C platform นั้น ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เช่น แอปพลิเคชั่น ServLive อำนวยความสะดวกผู้อาศัยคอนโดมิเนียม, แอปพลิเคชั่น Taxi-Beam และ Bus-Beam เพื่อให้เข้าถึงรถสาธารณะได้สะดวก และ InMall ให้เดินห้างเสมือนจริงได้

ส่วน B2B นั้น ได้ประยุกต์ใช้ location-based พัฒนาระบบ LBIS (location based information system), LIMS (location information management system) และ EcartMap ให้รองรับการสร้างและบริหารการวางระบบสาธารณูปโภคของประเทศ ทั้งระบบคมนาคม, พลังงาน, การจัดการน้ำโดยเงินลงทุนที่ได้รับ จะนำไปพัฒนาบริการและเพิ่มทีมงาน ให้โตได้ 20% ใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าเอกชน 40% และองค์กรภาครัฐ 60%

ภายในปี 2020 บริษัทคาดว่ามีฐานลูกค้าบุคคลประมาณ 1 ล้านคนทั่วประเทศ และมีแผนงานที่จะขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มจากประเทศบรูไนและอินโดนีเซีย