ย้อนอดีต “ประมูลทีวีดิจิทัล” จาก “ต่อรอง” พลิกสู่ “เยียวยา”

กำลังชุลมุนเต็มที่กับการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ตามคำสั่ง คสช. ที่เปิดทางให้ “คืนช่อง-ยกหนี้” แถมช่วยสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ให้อีก 10 ปีจนสิ้นสุดใบอนุญาต ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ถึงความผิดพลาดของ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จัดประมูลทีวีดิจิทัลถึง 24 ช่อง ในราคาสูงลิ่ว ทั้งที่พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มไม่อยู่กับหน้าจอทีวีแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

“สุภิญญา กลางณรงค์” ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. เปิดเผยว่า ณ ปี 2556 บอร์ดต้องเดินหน้าจัดประมูล ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล และกระแสดิจิทัลดิสรัปต์ยังไม่ชัดเจนแบบทุกวันนี้ แต่ก็ยอมรับว่า บอร์ดตัดสินใจผิดพลาดหลายส่วน อย่างการเปิดให้ผู้ประกอบการแต่ละราย สามารถประมูลได้มากกว่า 1 ช่อง หากไม่ใช่หมวดหมู่เดียวกัน หรือการเปิดประมูล ถึง 24 ช่อง

“ตอนนั้นเอกชนเป็นคนเรียกร้องเองว่า ควรจะเปิดให้เข้าประมูลได้มากกว่า 1 ช่อง ทั้ง ๆ ที่ตนเองยืนยันว่า ควรจะให้แค่รายละช่อง แต่ทุกคนก็บอกว่า ทำไมต้องปิดกั้น แล้วก็ให้ข้อมูลในการทำวิจัยจนบอร์ดเคาะว่า จะนำออกประมูล 24 ช่อง ทั้งที่ตอนแรกบอร์ดตั้งใจจะให้ประมูลน้อยกว่านั้น แต่เพราะตอนนั้นใคร ๆ ก็อยากจะเป็นเจ้าของช่องทีวี ซึ่งก็เป็นความผิดพลาดในการประเมินแนวโน้มธุรกิจของเอกชนด้วยส่วนหนึ่ง แล้วก็มาผลักดันให้เกิดกติกาพิเศษ”

แต่ กสทช.ก็ผิดพลาดในการกำหนดเงื่อนไข และการกำกับดูแลหลังจากนั้น ทั้งการแจกคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านเพื่อเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณให้ประชาชนที่ทำได้ล่าช้า แต่ที่สำคัญสุดคือ ความผิดพลาดในการกำกับดูแล MUX ทั้งในแง่ของการกำกับคุณภาพและการปูพรมขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม เพื่อให้ประชาชนรับชมได้มากขึ้น การกำกับราคาค่าบริการให้เป็นธรรมไม่ใช่หากำไรได้ตามใจ

“ตอนออกแบบประมูลเริ่มต้นจาก MUX ด้วยซ้ำ ยอมรับว่าผิดพลาดที่ให้มี MUX มากถึง 4 ราย 5 โครงข่าย ซึ่งตอนนั้นเป็นการต่อรองกับกองทัพ เพื่อให้ยอมยุติสัมปทานทีวีแอนะล็อกช่อง 3 กับช่อง 7 ได้เร็วขึ้น จึงให้กองทัพมีได้ 2 โครงข่าย แต่สุดท้ายก็มีแค่ช่อง 7 ที่ยอมยุติทีวีแอนะล็อกก่อนหมดสัมปทาน แถมตอนนี้กลายเป็นว่า ได้การันตีรายได้

จาก MUX ไปอีก 10 ปี คือทุกอย่างพลิกไปจากที่เราคิดมาก เพราะสุดท้ายกลายเป็นกองทัพได้ประโยชน์มากสุดจากการปฏิรูปสื่อที่เราผลักดัน”

ด้าน “ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มว่า ถ้าย้อนไป ณ ปี 2556 คลื่น 700 MHz ยังถูกระบุให้ใช้เพื่อกิจการทีวีทั่วโลก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพิ่งประกาศให้นำมาใช้กับกิจการโทรคมนาคมเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในการวางแผนจัดประมูลทีวีดิจิทัลก็ได้มีการเตรียมการสำหรับการเรียกคืนคลื่นในอนาคตไว้เผื่อแล้ว

ขณะที่การออกแบบการใช้คลื่นความถี่ ได้แบ่งย่านนี้ออกเป็น 35 ช่องความถี่ รองรับการออกอากาศของทีวีดิจิทัลได้กว่า 50 ช่อง ขณะที่ได้เตรียมจัดสรรช่องทีวีที่จะมีการออกอากาศจริงไว้ 48 ช่อง ดังนั้นในการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ครั้งนี้ จึงไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางเทคนิคกับผู้ประกอบการทีวีเลย

“เป็นแค่การบีบคลื่นเข้ามาให้แคบลงเท่านั้น เพราะการใช้คลื่นในกิจการบรอดแคสต์เป็นการใช้ร่วมกัน ไม่ได้แยกเป็นก้อนใครก้อนมันเหมือนฝั่งโทรคมนาคม ฉะนั้นต่อให้คลื่นหายไป 90 MHz ช่องทีวีก็ไม่ได้รับผลกระทบ ยังใช้งานได้เหมือนเดิม”

นอกจากนี้การใช้งานคลื่นในส่วนของผู้ให้บริการ MUX ยังออกแบบไว้รองรับได้ถึง 6 โครงข่าย แต่มีการเปิดให้บริการจริง 5 โครงข่าย

“การออก ม.44 ครั้งนี้ จึงเป็นผลดีกับ MUX เพราะการันตีได้เงินแน่ตลอด 10 ปี แต่มีปัญหาคือบาง MUX ที่ช่องทีวีคืนใบอนุญาต ทำให้ลูกค้าหายไป ก็อยากจะปิด MUX ด้วย จึงอยากได้เงินชดเชยตรงนี้เหมือนกัน ก็อาจจะทำให้ได้เห็น ม.44 ประหลาด ๆ ออกมาอีก”

ขณะที่อดีต กสทช. “สุภิญญา” กล่าวเสริมว่า มีบางส่วนที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลควรได้รับการเยียวยาจริง เพราะได้รับผลกระทบจากภาครัฐและ คสช. ไปออกอากาศรายการต้องบังคับให้ประชาชนชมทั้งประเทศ เสมือนไปใช้ห้องแถลงข่าวโรงแรม 5 ปี แล้วไม่มีการจ่ายหรือวางบิล เพราะฉะนั้นในมุมดังกล่าว ยอมรับว่าน่าเห็นใจ จึงควรจ่ายเงินคืนทีวีดิจิทัล โดยตัวเลขการคำนวณค่าเยียวยาต้องมีที่มาที่ไปอย่างชัดเจน และสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้