กสทช.ดันท่อร้อยสายใต้ดิน ดึงกทม.ลงขัน 2.7 หมื่นล้าน

กสทช. ผนึก กทม.-กรุงเทพธนาคมลุยต่อโครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน ดึงเงินกองทุน กทปส. ร่วมลงขัน 2.7 หมื่นล้านบาท หวังช่วยซับซิไดซ์ค่าเช่าท่อให้เอกชนจ่ายน้อยลง ย้ำให้กรุงเทพธนาคมบริหาร แต่เก็บค่าเช่าได้เท่าที่ลงขัน ฟากเอกชนโวยใช้เงินกองทุนเก็บค่าเช่าผิดวัตถุประสงค์

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมนำเสนอโครงการลงทุนท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พิจารณา เนื่องจากก่อนหน้านี้บอร์ดดีอีเอสเคยมีมติให้ กสทช.และ กทม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ

กสทช.ดึง กทม.-KT ลงขัน

โครงการนี้ กสทช.จะเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการนี้ ร่วมกับ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) เพื่อช่วยไม่ให้ค่าเช่าที่โอเปอเรเตอร์ผู้เช่าใช้ท่อร้อยสายต้องจ่ายค่าเช่าในราคาแพง และผลักภาระนี้มาสู่ประชาชนด้วยการขึ้นค่าบริการโทรคมนาคมต่าง ๆ เพราะก่อนหน้านี้ กทม.มีหนังสือแจ้งมาว่า ต้องเก็บค่าประกอบการจากโอเปอเรเตอร์ราว 8-9 พันบาท/ท่อกิโลเมตร/เดือน ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับภาระนี้ได้ กสทช.จึงต้องเข้ามาลงทุนร่วมกับ กทม.ด้วย

โดย กสทช.จะใช้เงินลงทุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งโอเปอเรเตอร์ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนราว 1.75% ของรายได้เข้ากองทุนทุกปีอยู่แล้ว ซึ่งปัจจุบันมีเงินคงเหลือพร้อมใช้งานได้ราว 4,000 ล้านบาท และจะมีทยอยเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี

ค่าเช่าถูก “KT” บริหาร

“ม.44 เคยมีคำสั่งให้เพิ่มวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. ให้สามารถใช้เงินสนับสนุนโครงการที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสนับสนุนเพื่อประโยชน์สาธารณะทางโทรคมนาคมก็ทำได้หมด ฉะนั้นการลงทุนท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ก็สามารถใช้เงินกองทุนได้ แต่ กสทช.จะไปออกค่าเช่าให้เอกชนโดยตรงเลยไม่ได้ จึงมองไปที่การจะเข้าไปลงทุนเอง เพราะทำทีเดียวจบ ในระยะยาวดีกว่า ถ้าไม่ทำแบบนี้โอเปอเรเตอร์ก็ไม่เอาสายลงใต้ดิน เพราะต้นทุนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินสูงกว่า 9 พันบาท/เดือน ขณะที่พาดสายบนเสาจ่ายแค่พันกว่าบาท”

การลงทุนท่อร้อยสาย กทม. เป็นผู้ได้รับประโยชน์ส่วนหนึ่ง เพราะประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาบริเวณที่พาดสายสื่อสาร ฉะนั้น กทม.ต้องลงมาร่วมลงทุนด้วย ต้องมีการประเมินสัดส่วนประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้ เพื่อกำหนดเม็ดเงินลงทุนของแต่ละฝ่าย ซึ่งจะมี 3 ฝ่าย ได้แก่ กสทช. กทม. และ KT ที่จะเป็นผู้บริหารท่อร้อยสาย เพื่อให้ค่าเช่าที่โอเปอเรเตอร์ต้องถูกลง

ชงขออนุมัติบอร์ดดีอี

“เอกชนยังต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ แต่จะตัดสัดส่วนการลงทุนที่ กสทช. ลงทุนเพื่อซับซิไดซ์โอเปอเรเตอร์ออกไป” KT จะเก็บค่าบริการได้เฉพาะเท่าที่เป็นสัดส่วนที่ตัวเองลงทุนไป จะไม่สามารถเอาค่าใช้จ่ายในการลงทุนมาคำนวณค่าเช่าได้ทั้งหมด เพราะ กสทช.ไม่ได้ลงทุนเพื่อมุ่งหากำไร แต่ต้องการไม่ให้โอเปอเรเตอร์ต้องจ่ายค่าเช่าแพง และจะส่งผลให้ต้องเก็บค่าบริการจากประชาชนผู้ใช้บริการแพงขึ้นไปด้วย สมมุติว่า ประเมินคร่าว ๆ แล้ว KT ลงทุนในโครงการนี้ 30% ก็จะเท่ากับว่า โอเปอเรเตอร์จ่ายค่าเช่าแค่ 30% เท่านั้น ส่วนที่ กทม.กับ กสทช.ลงทุนไม่ต้องนำไปคิดเป็นค่าเช่า”

โดยจากนี้ กสทช.จะนำเสนอโครงการนี้ให้บอร์ดดีอีพิจารณาเร็วที่สุด หลังจากนั้นจะมีการตั้งคณะทำงานประเมินโครงการเพื่อตีมูลค่าที่ทั้ง กสทช. กทม. และ KT ต้องลงทุน ก่อนจะเริ่มลงมือสร้าง ซึ่งเชื่อว่า หากโครงการได้รับอนุมัติแล้ว ไม่เกิน 2 ปีสายสื่อสารทั่วกรุงเทพฯก็จะถูกนำลงใต้ดินทั้งหมด

ชี้วินวินกับทุกฝ่าย

“เงินกองทุน กทปส. มาจากเงินที่บรรดาโอเปอเรเตอร์ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. จ่ายสมทบเข้ามาทุกปี การที่ กสทช.มีแผนที่จะนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของโอเปอเรเตอร์เอง ซึ่งจะส่งผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย ไม่ว่าประชาชนจะไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการแพงบ้านเมืองสวยงามไม่มีสายพาดรกรุงรัง เชื่อว่า ไม่น่าจะมีปัญหา ยิ่งจะทำให้บรรดาโอเปอเรเตอร์ยินดีที่จะจ่ายเงินสมทบเข้ามามากขึ้น”

ส่วนกรณีที่ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม 11 ราย ซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงนามสัญญาบันทึกความร่วมมือการใช้ท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินของ บมจ.ทีโอทีไปแล้วนั้น เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ถ้าทีโอทีมีท่อร้อยสายในพื้นที่ใดแล้ว เป็นเรื่องดีที่ผู้ประกอบการจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินเลย แต่ยังมีหลายพื้นที่ที่ยังไม่มีท่อร้อยสาย ซึ่งทีโอทีก็ไม่สามารถขุดสร้างใหม่ได้อยู่ดี

สำหรับท่อร้อยสายใต้ดินของทีโอที ปัจจุบันมีอยู่ 33,250 ท่อกิโลเมตรในเขตกรุงเทพฯ และ 5,485 ท่อกิโลเมตรในต่างจังหวัด มีพื้นที่ว่างให้โอเปอเรเตอร์รายอื่นเช่าใช้ได้ 20%

เอกชนติงล้วงเงินกองทุน กทปส.

ด้านแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รู้สึกแปลกใจที่ กสทช.จะใช้เงินกองทุน กทปส.มาลงทุนท่อร้อยสายลงใต้ดิน เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการเคยรวมตัวกันเพื่อเสนอโครงการลงทุนทำท่อร้อยสายเพื่อขอให้ กทปส.สนับสนุนก็ถูกปฏิเสธ โดยระบุว่า เงินกองทุนต้องไม่นำไปใช้เพื่อแสวงหารายได้เชิงพาณิชย์ ซึ่งการทำท่อร้อยสายจะต้องมีการเก็บค่าเช่า ไม่ได้ให้ใช้งานฟรี จึงไม่เข้าข่ายการใช้เงินของกองทุน

“จะอ้างว่า ม.44 มาแก้ไขวัตถุประสงค์ใช้เงินแล้ว ทำให้เข้าเกณฑ์ ก็เป็นคำสั่งที่ออกมาพักหนึ่งแล้ว และมีหลายโครงการถูกปฏิเสธเพราะติดเรื่องแสวงหารายได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลางปี 2562 กทม.มีแนวคิดริเริ่มโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่ กทม. ระยะทาง 2,450 กม. วงเงินก่อสร้างไม่เกิน 27,000 ล้านบาท เพื่อจัดระเบียบเมืองให้สวยงามตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง กทม.ได้มอบให้ KT ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ กทม.รับช่วงบริหารโครงข่าย แต่ก็เงียบหายไปหลังมีกระแสโจมตีและตั้งข้อสังเกตว่าอาจเอื้อให้กับเอกชนบางราย