ประมูล 5G ภารกิจเพื่อชาติ กสทช.ผนึกรัฐบาล “บีบ” ค่ายมือถือ

เป็นครั้งแรกที่รองนายกรัฐมนตรี “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” มาเยือนสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมเปิดโต๊ะให้โอเปอเรเตอร์รายหลักของประเทศอย่างเอไอเอส ทรู และดีแทค รวมถึง 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมนาคมอย่าง บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (แคท) เข้าหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี 5G ซึ่งงานนี้ซีอีโอทั้ง 3 ค่ายใหญ่ต่างเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

“สมคิด” ย้ำ 5G สำคัญมาก

โดยรองนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “5G เป็นเรื่องสำคัญมาก” เพราะสามารถพลิกประสิทธิภาพประสิทธิผลได้อย่างมากกับภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคการผลิต พลิกโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ ถ้าประเทศไทยช้า แล้วหากมีการลงทุนในประเทศอื่น จะทำให้การลงทุนหนีไปประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น ที่ต้องปักหลักว่า ไทยมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ต้องไม่ปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป

“และไม่ใช่แค่การประมูล แต่เราต้องมองไปถึงการขับเคลื่อนต่อยอดให้เกิดผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมมีอะไรบ้าง เป็นสิ่งสำคัญที่ทั้ง กสทช.และกระทรวงดิจิทัลฯต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะเอกชน ถ้าไม่ช่วยเรา ภาครัฐก็จะทำอะไรไม่ค่อยได้ ก็มาขอความร่วมมือกับภาคเอกชน และการประมูลครั้งนี้จะไม่ได้เน้นแค่ในเชิงมูลค่าของเงินที่จะเข้ามา แต่เน้นที่การใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า ก็หวังว่าภาคเอกชนและทีโอที แคท จะเข้าร่วมประมูลครั้งนี้”

ที่สำคัญรองนายกฯยังย้ำว่า “จะให้รัฐบาลซัพพอร์ตอย่างไรก็มาคุยกัน เพราะเรื่องดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญ”

เอไอเอส-ดีแทค ขอรัฐซัพพอร์ต

ด้าน “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า เอกชนทุกคนก็สนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อน 5G ของประเทศ ในการประชุมก็ได้บอกข้อเสนอและข้อกังวลต่าง ๆ เพราะอย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัฐบาลช่วยซัพพอร์ตเอกชนอย่างมากในการลงทุน 5G อย่างจีน นอกจากให้คลื่นฟรีแล้วยังมีเงินซับซิไดซ์กลับคืนให้เอกชนที่ลงทุนด้วย เพราะการลงทุน 5G ตอนนี้ไม่ใช่ว่าจะลงทุนแล้วจะได้รายได้กลับมาในทันที แต่จะทำให้ประเทศมีศักยภาพแข่งขันได้มากขึ้น จึงได้เสนอแนวทางต่าง ๆ ให้ที่ประชุมพิจารณา

“ส่วนการประมูลทุกบริษัทก็ต้องเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดอนุมัติ เพราะล้วนเป็นบริษัทมหาชน วันนี้ก็มาฟังความเห็นจากฝั่งรัฐบาล ส่วนจะเข้าประมูลหรือไม่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถตอบได้ ซึ่งเอไอเอสไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงิน สามารถบริหารจัดการได้อยู่แล้ว”

“อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ระบุว่า เทคโนโลยี 5G เป็นเรื่องสำคัญมาก แต่อยากให้มุ่งเน้นที่การขับเคลื่อนยูสเคสที่เกิดจากการใช้งาน 5G มากกว่าโฟกัสที่โอเปอเรเตอร์ เพราะการมียูสเคสคือการสร้างตลาด จึงควรทำงานร่วมกันในรูปแบบของคณะทำงานเพื่อมองหาโอกาสความเป็นไปได้ที่จะนำ 5G ไปใช้งาน เนื่องจาก 5G เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ หากมียูสเคสจะทำให้บรรดาโอเปอเรเตอร์มั่นใจว่ามีลูกค้าอยู่ ที่สำคัญควรจะมีการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ด้วยการให้ทีโอทีและแคทเข้ามาลดช่องว่างในส่วนนี้

“การมี 5G จะทำให้ไทยล้ำกว่าประเทศอื่น แต่เทคโนโลยี 4G ก็ยังไม่ควรมองข้าม ต้องทำคู่ขนานไปเพราะยังมีผู้ใช้เทคโนโลยีเก่าอยู่ เหมือนปัจจุบันที่ยังมีการใช้ 2G 3G และ 5G ก็ยังเป็นการลงทุนทำเป็นเฟส ๆ จึงควรมองถึงการโยกคนจากเทคโนโลยีเก่ามาสู่เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งการใช้ 5G ในการเกษตร การศึกษาและสาธารณสุขเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการมียูสเคสจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เห็นประโยชน์จาก 5G และยอมเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยรัฐอาจหามาตรการทางภาษีมาช่วยสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนผู้ใช้งาน”

ภารกิจเพื่อชาติ

ด้านแหล่งข่าวบริษัทโทรคมนาคมเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในที่ประชุม ทั้งเอไอเอสและทรูได้เสนอความเห็นตรงกันว่า ทีโอทีและแคทไม่ควรจะเข้ามาประมูลแข่งกับเอกชน เพราะหลังจากประมูลแล้วจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ยั่งยืนเพราะทั้ง 2 องค์กรต้องนำไปให้บริการแบบไม่ทำกำไร จึงควรมีวิธีอื่นที่จะให้แคทกับทีโอทีได้คลื่นไปใช้งานในพื้นที่ห่างไกล

ขณะเดียวกันมีการเสนอความเห็นให้รัฐบาลนำเงินที่ได้จากการประมูลบางส่วนมาสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอกชนต้องลงทุน

“แต่น่าเสียดายที่ยังมีหลายเรื่องที่เอกชนอยากจะเสนอ แต่ดูแล้วเสนอไปก็เท่านั้น เพราะเคยบอกถึงปัญหาให้ กสทช.รับทราบหลายครั้งแล้วก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข”

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการออกแบบการประมูลคลื่น 700 MHz ที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการเลื่อนย่านความถี่ ราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงมากกว่าจะคืนทุนได้ ปัญหาจากความเสี่ยงที่คลื่นจะรบกวนกัน ปัญหาคลื่นย่าน 2600 MHz ที่นำออกประมูล 190 MHz ทั้งที่การจะนำไปให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องใช้คลื่น 100 MHz เท่ากับว่าจะมีแค่โอเปอเรเตอร์รายเดียวที่ได้สิทธิไป ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันสูงมากในการประมูลคลื่น 2600 MHz รวมไปถึงเกณฑ์การวางหลักประกันการประมูลที่ไปผูกกับเพดานเงินกู้ของลูกค้ารายใหญ่ตามประกาศของ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย)

“ประมูล 5G วันที่ 16 ก.พ.นี้ก็คงเกิดขึ้นแหละ เพราะเป็นภารกิจทำเพื่อชาติ เพียงแต่จะขายออกกี่ย่านคลื่น แล้ว 5G ที่จะเกิดขึ้น จะมีคนใช้งานจริง ๆ มากแค่ไหน หรือมีแค่เสาตั้งไว้เฉย ๆ”