ทีวีร้อง “กสทช.” กำกับเท่าเทียม บี้เคเบิลลักไก่เสียบคอนเทนต์ช่องจอดำ

ทีวีดิจิทัลร้อง กสทช.ถูกเคเบิลทีวี-ทีวีดาวเทียมลักไก่ เสียบคอนเทนต์แทนช่องจอดำ วอนจี้โครงข่ายจัดลำดับแบบ “ข้ามช่อง” อัตโนมัติ พร้อมออกเกณฑ์กำกับ OTT สร้างความเท่าเทียมในอุตสาหกรรม ฟาก “กสทช.” ยังควานหาวิธีกำกับ OTT เล็งชงรัฐบาลเคาะหาทางออก

แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำนักงาน กสทช.เตรียมพิจารณาเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล เกี่ยวกับการจัดลำดับเลขหมายช่องทีวีดิจิทัลบนโครงข่ายทีวี เนื่องจากหลังจาก 7 ช่องทีวีดิจิทัลได้ยุติการออกอากาศ ตามที่คำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 ได้เปิดทางไว้ พบว่ามีผู้ให้บริการโครงข่ายเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม บางรายได้นำคอนเทนต์อื่นมาออกอากาศแทนในหมายเลขช่องที่คืนใบอนุญาตและยุติการออกอากาศ

“มีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลหลายรายร้องเรียนในเรื่องนี้มา เพราะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะช่องทีวีดิจิทัลต้องลงทุนประมูลช่องในราคาสูง ๆ เพื่อให้ได้สิทธิเลือกหมายเลขช่องไปแล้ว แต่โครงข่ายเคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมบางราย กลับเอาคอนเทนต์มาแทรกตัดหน้าในลำดับต้น ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินประมูล”

โดยช่องทีวีดิจิทัลต้องการให้ กสทช.สั่งให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทุกแพลตฟอร์ม ตั้งค่าการเรียงลำดับช่องรายการ ด้วยการ “ข้ามช่อง” อัตโนมัติ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ และง่ายต่อการรับชมของผู้บริโภค

จี้ กสทช.กำกับเท่าเทียม

ขณะเดียวกัน ในการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการประกาศแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 2 ผู้ประกอบการล้วนให้ความเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลของ กสทช.ที่จะต้องสอดคล้องกับสภาพอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นผลจากดิจิทัลดิสรัปชั่น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ OTT ที่กระทบกับผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช.โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวีโดยความเห็นแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ในฝั่งทีวีดิจิทัล เห็นว่า กสทช.จะต้องหาวิธีกำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์ที่เป็นคอนเทนต์ออนไลน์ หรือ OTT เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม เพราะที่ผ่านมา OTT ไม่ต้องพึ่งพาความถี่และไม่ต้องรับใบอนุญาตจาก กสทช. ไม่ต้องมีภาระด้านภาษี และการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ทั้งในแง่เนื้อหา ผังรายการ รวมถึงข้อกำหนดในการโฆษณา

ขณะที่ในกลุ่มเคเบิลทีวี นำโดยเจริญเคเบิลทีวี เห็นว่า กสทช.ควรปล่อยให้ผู้ประกอบกิจการทีวีทุกประเภท ทั้งทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี IPTV และ OTT แข่งขันกันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมา กสทช.ได้ออกกฎกำกับดูแลทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีอย่างเข้มงวดเพื่อให้กลายเป็นฐานสนับสนุนช่องทีวีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ must car-ry ที่บังคับให้ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศ และอยู่ในลำดับ 1-36 ของโครงข่ายตัวเอง โดยไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ซึ่งทำให้ที่ผ่านมามีทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเสียลูกค้าและรายได้จากโฆษณาให้ทีวีดิจิทัลจนต้องปิดกิจการไปเป็นจำนวนมาก

ชงรัฐวางนโยบาย OTT

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กสทช.ตระหนักถึงความสำคัญในการกำกับดูแลกิจการบรอดแคสต์อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม แต่การจะกำกับ OTT เป็นเรื่องที่ยากจะดำเนินการได้ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย แต่เป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม

“OTT เป็นเรื่องยากที่จะกำกับ ต้องคำนึงในหลายมิติ ซึ่งอาจจะต้องเสนอให้ระดับรัฐบาลพิจารณาหาทางออกที่เหมาะสม”


ส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่เหลืออยู่ให้แข่งขันได้นั้น สำนักงาน กสทช. ได้เปิดให้ยื่นขอรับการสนับสนุนการจัดทำระบบเรตติ้ง วงเงิน 431 ล้านบาท แต่ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดยื่นความจำนงเข้ามา