8 ปี 5 เดือน “ฐากร” เลขา “กสทช.” กับเส้นทางโทรคมไทย

ฐากร ตัณฑสิทธิ์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กสทช.” ได้ส่ง “สารจากเลขาธิการ กสทช.” ถึงพนักงานสำนักงาน กสทช. ทุกคน ซึ่งนอกจากจะเป็น “จดหมายขอบคุณ” ในฐานะเป็นกำลังสำคัญร่วมกันสร้างเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และฝ่าฟันอุปสรรค ก่อนที่จะทำงานในวันที่ 30 มิ.ย. 2563 เป็นวันสุดท้าย

ยังเป็นการบอกเล่าเส้นทางการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ตลอด 8 ปี 5 เดือน 25 วัน ตั้งแต่การเริ่มข้ามห้วยมาจาก สำนักงบประมาณ มาทำงานในสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ยังเป็น “กทช.” (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เมื่อ ก.ค. 2548 ในผู้เชี่ยวชาญพิเศษเทียบเท่ารองเลขาธิการ

ที่เดิมก่อนจะเข้ามาคลุกคลี เขาเข้าใจว่า คือ การกำกับวิทยุสื่อสารหรือ walkie talkie แต่ด้วยในวัยเด็กที่อาศัยอยู่ในอำเภอที่ใกล้เคียงกับพื้นที่สีแดง (พื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการครอบงำของคอมมิวนิสต์) จึงได้เห็นอานุภาพของการสื่อสารอย่างชัดเจน

ยิ่งเมื่อศึกษาไปจึงได้พบว่า งานด้านโทรคมนาคมของไทยพัฒนาตามหลังประเทศอื่นค่อนข้างมาก ปี 2553 ยังใช้แค่เทคโนโลยี 2G ขณะที่ประเทศอื่นเริ่ม 3G ในปี 2543 ลาว และกัมพูชา มี 3G ใช้ตั้งแต่ปี 2548

ทำให้ตัดสินใจสมัครเป็น “เลขาธิการ กสทช.” และได้รับแต่งตั้งเมื่อ 5 ม.ค. 2555

และเขาระบุว่า “ถือเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของผม”

แต่ด่านแรกที่เขาต้องเจอคือ การประมูลคลื่น 3G เมื่อ 16 ต.ค. 2555 ที่ “โชคไม่ดี”  เนื่องจากมีผู้เข้าประมูลเพียง 3 รายและเป็นรายใหญ่ทั้งหมด ขณะที่ “คลื่น” ที่นำออกประมูลถูกแบ่งเป็น  9 slot หารกันลงตัว

ทำให้แม้จะสร้างรายได้เข้ารัฐ  41,625 ล้านบาท แต่สื่อและสังคมส่วนใหญ่กังขาว่ารูปแบบการประมูลเอื้อให้ “ฮั้ว”

โดย “ฐากร” ระบุว่า เขาได้เขียนบันทึกเสนอต่อ กสทช. ให้เลื่อนการรับรองผลการประมูลออกไปก่อนเพื่อพิจารณาหาหนทางที่เหมาะสมต่อไป

“แต่ กสทช. ขอให้รับรองตามผลการประมูลที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญในฐานะผู้นำที่ต้องกล้าที่จะเสนอและพูดในสิ่งที่ตนเองคิดหากเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าหนทางนั้นจะนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศชาติ”

หลังจากนั้นจึงเป็นความท้าทายยิ่งของเลขาธิการ กสทช. ที่จะต้องชี้แจงกับหน่วยงานตรวจสอบทุจริตทั้งหลาย ซึ่งกระบวนการใช้เวลา 4-5 ปีกว่าจะเสร็จสิ้น โดยคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยไม่พบการทุจริตในการประมูลแต่อย่างใด”

แต่สิ่งที่ดีใจมากในการประมูล 3G  คือได้ก่อให้เกิดการลงทุนสร้างโครงข่ายของผู้ให้บริการมือถือ

นับแสนล้านบาทจนปรากฏชัดในตัวเลข GDP ในช่วงปีนั้น  แต่ละโอเปอเรเตอร์ขยายฐานลูกค้าจาก 80 ล้านเลขหมายในยุค 2G เป็น 120 ล้านเลขหมายในยุค 3G ในเวลาเพียง 4 ปี ทำให้คนไทยเกือบทุกคนติดต่อสื่อสารกันได้ง่าย เริ่มหันมาใช้อินเทอร์เน็ต เอื้อต่อธุรกิจการค้าออนไลน์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัล

หลังจากนั้น “ฐากร” ระบุว่าได้ทำการบ้านกับทีมงานอย่างหนักเพื่อออกแบบการประมูล 4G ไม่ให้ซ้ำรอย 3G  ด้วยการใช้สูตร N-1

แต่อีกโจทย์ยากคือ จะนำคลื่นที่รัฐวิสาหกิจครอบครองอยู่เดิมออกมาประมูลสู่มือของภาคเอกชนได้อย่างไร ในเมื่อ บมจ.กสท โทรคมนาคม(แคท) ไม่คืนคลื่น 1800 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน

แต่เมื่อมีการเจรจาเข้มโดยรัฐบาล ซึ่งนำโดยท่านรองนายกรัฐมนตรี “วิษณุ เครืองาม” เป็นคนกลาง การคืนคลื่นและการประมูลจึงเกิดขึ้น

โดยการประมูลทั้ง 5 ครั้ง  “ไม่มีใครกล่าวว่าราคาตั้งต้นต่ำเกินไป” และสร้างรายได้ให้รัฐเกือบ 4 แสนล้านบาท ทำให้ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อ กสทช. ดีขึ้น

และประชาชนได้ใช้บริการในราคาที่ถูกลง จากค่าโทรระบบเสียงเฉลี่ยในปัจจุบันอยู่ที่ 51 สตางค์ต่อนาที (หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 24 เทียบกับปลายปี 2558) และค่าบริการอินเทอร์เน็ตมือถืออยู่ที่ 10 สตางค์ ต่อ 1 เมกะไบต์ (หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 62 เทียบกับปลายปี 2558) ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ กสทช. กำกับดูแลในขณะนี้

“การประมูลคลื่นเป็นสิ่งใหม่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง” เมื่อเริ่มเห็นจุดที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือข้อเท็จจริงใหม่ๆ ต้องพร้อมปรับเปลี่ยน

เช่นกรณีที่ “JAS ตัดสินใจทิ้งคลื่น 4G (900MHz)” จนทำให้เกิดกระแสกันอย่างกว้างขวางว่า JAS เข้ามาเพื่อ “ปั่นราคา” การประมูลหรือไม่  ทำให้ กสทช. ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วยการเพิ่มวงเงินประกัน

แม้การประมูล 4G จะทำให้ไทยตามทันประเทศอื่นๆ แต่ในฐานะหน่วยงานของรัฐ การมีวิสัยทัศน์และการดำเนินนโยบายอย่างทันท่วงทีจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ จึงเกิดการประมูล 5G ในวันที่ 16 ก.พ. 2563 ซึ่งทีมวิชาการของ สำนักงาน กสทช. ระบุว่าจะสร้างเม็ดเงินได้หลายแสนล้านบาทกระจายในทุกอุตสาหกรรม

และก่อนจะประมูลได้เพิ่มการสร้างการรับรู้ของประชาชนถึงประโยชน์ที่จะได้รับหากประเทศไทยมีคลื่น 5G นับตั้งแต่ปลายปี 2561 จนตลอดปี 2562

“เสียงของประชาชนเป็นกลไกสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนภาคเอกชนให้ดำเนินธุรกิจที่เกิดผลดีในระยะยาวแก่ประชาชนหมู่มาก นับว่าเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ผมภาคภูมิใจ”

โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่ 5G สามารถใช้สนับสนุนทางการแพทย์ ตอกย้ำถึงความจำเป็นของการมีโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่งเพื่อให้พร้อมรับกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในรูปแบบที่ยากจะคาดถึง

“เกือบ 10 ปี ได้จัดสรรคลื่นมากถึง 3,420 MHz นำส่งรายได้เข้ารัฐได้มากถึงห้าแสนล้านบาท และให้บริการ 5G เป็นรายแรกในอาเซียน”

นอกจากนี้ กสทช. ยังจัดให้มีบริการโทรคมนาคมซึ่งรวมถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ศูนย์บริการอินเตอร์เน็ตฟรีพร้อมเจ้าหน้าที่ดูแลเป็นเวลา 5 ปี ในทุกพื้นที่ตามตามโครงการ USO-Net การจัดระเบียบสายสื่อสารและนำสายสื่อสารลงใต้ดิน  การลงทะเบียนซิมการ์ดที่มียอดผู้ลงทะเบียนกว่า 74 ล้านเลขหมายในเวลาเพียง 6 เดือน ทั้งยังวางรากฐานสำหรับการใช้งานภาคโทรคมนาคมและภาคธนาคาร เอื้อต่อการชำระเงินผ่านมือถือ (Prompt Pay) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ ทั้งยังเป็นการป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนถูกนำไปใช่ในทางไม่ชอบ

ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดธรรมดาคนหนึ่ง เริ่มต้นชีวิตรับราชการด้วยต้นทุนเพียงสองอย่างคือความรู้และความต้องการที่จะเห็นการพัฒนาของประเทศไทย ผมเชื่อว่าคนเราถ้าตั้งมั่นจะทำอะไรสักอย่างแล้ว ต้องกัดไม่ปล่อยและทำให้สำเร็จไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคความยากลำบากระหว่างทางใดก็ตาม มาจนถึงวันนี้ ผมถือว่าตัวเองมาได้ไกลกว่าที่คาดหวังไว้มาก”

ท่ามกลางความท้าทาย ข้อกังขา และแรงเสียดทานจากสังคมที่เราต้องเผชิญในหลายโอกาส โดยเฉพาะในช่วงแรกเริ่ม ผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานและยึดหลักของ “เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์” นายกรัฐมนตรีที่นำอังกฤษชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ว่า


“Never waste a good crisis” ทุกความท้าทายมีโอกาสซ่อนอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะพยายามมองเห็นและเข้าไปจัดการกับวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสหรือไม่