คนไทยติดแชมป์ซื้อของบนโซเชียลคอมเมิร์ซ

ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตพุ่ง 35% ทะลุ 2 แสนล้านบาท ไพรซ์ซ่า เผยคนไทยชอบซื้อสินค้าผ่านโซเซียลคอมเมิร์ซ เพราะต่อรองราคาได้ ไม่เทียบราคา ถูกใจพร้อมจ่าย

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด กล่าวว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตขึ้นกว่าปีก่อน 35% หรือมีมูลค่าประมาณ 220,000 ล้านบาท โดยเมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกทั้งหมดมีสัดส่วนเพียง 3-5% เท่านั้นถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดอีคอมเมิรซ์จีนที่มีสัดส่วนถึง 24% ซึ่งคาดว่าตลาดอีคอมเมิรซ์ไทยจะเติบโตได้อีกเป็นเท่าตัว เนื่องจากคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน โดยใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย เอนเทอร์เทนเมนต์ และช้อปปิ้งออนไลน์เป็นอันดับต้น ๆ

อย่างไรก็ตาม ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาพบว่า การช้อปปิ้งออนไลน์มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่มีการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ ทำให้ยอดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ทั่วโลกโตขึ้น 40% และแม้ว่าสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ แต่ผู้บริโภคที่หันมาช้อปปิ้งออนไลน์กว่า 50% สะท้อนให้เห็นว่าคนยังนิยมช้อปปิ้งออนไลน์ต่อไป โดยสินค้าออนไลน์ที่เติบโตได้ดีตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน ได้แก่ สินค้าอุปโภค-บริโภคเติบโตขึ้นกว่า 73% รองลงมาเป็นสินค้ากลุ่มรีเทลเทค 50% และสินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ในบ้าน 29%

“ในแง่ของสินค้าที่อยู่ในมาร์เก็ตเพลส หากเทียบระหว่างปี 2561 และ 2562 พบว่า สินค้าเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 100 ล้านชิ้น ที่น่าตกใจที่สินค้ากว่า 80% มาจากจีน จึงทำให้มาร์เก็ตเพลสในปัจจุบันเป็นเหมือน ‘สนามแข่งขันนานาชาติ’ ซึ่งในปีหน้าคาดว่าจะมีผู้เล่นจากประเทศใกล้เคียงอย่างไต้หวัน เกาหลี และญี่ปุ่น ลงมาแข่งขันเพิ่มด้วย”

ขณะที่ตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซในไทยก็เติบโตเช่นกัน พบว่า 40% ของนักช้อปออนไลน์ในไทยมักซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยมากที่สุดในโลก โดยเฟซบุ๊กเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ช้อปปิ้งออนไลน์มากที่สุดถึง 42% ไลน์ 24% อินสตาแกรม 19% และทวิตเตอร์ 5%

โดยในโซเชียลคอมเมิร์ซจะมีผู้บริโภคอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ กลุ่ม ‘Search Led’ ค้นหาก่อนซื้อ คิดเป็น 35% และกลุ่มสอง ‘Discovery Led’ ซื้อแบบวู่วาม เลื่อนผ่านแล้วถูกใจจึงตัดสินใจซื้อทันที คิดเป็น 53%

นายธนาวัฒน์ กล่าวต่อว่า เหตุผล 3 ข้อที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกช้อปปิ้งผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ คือ 1.ผู้บริโภคกว่า 57% ต้องการที่จะพูดคุย และทราบข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม ซึ่งโซเชียลคอมเมิร์ซก็ตอบโจทย์ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคสนทนากับลูกค้าได้ 2.ผู้บริโภค 35% ชอบต่อรองราคา 3.ร้านค้ามีการตอบกลับที่รวดเร็ว 35%

“ผู้บริโภคบนโซเชียลคอมเมิร์ซจะไม่เสียเวลาในการเปรียบเทียบราคาเหมือนกับแพลตฟอร์มอื่น หากเจอสินค้าที่ถูกใจก็จะซื้อเลย โซเชียลคอมเมิร์ซจึงเหมือนกับเอนเทอร์เทนเมนต์ ร้านค้าต้องสร้างคอนเทนต์ให้ดึงดูด โดนใจและสร้างเป็นคอมมูนิตี้ให้คนติดตาม เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขาย อีกทั้งต้องเพิ่มช่องทางการขายไปยังมาร์เก็ตเพลสเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคเข้าถึงได้หลายช่องทาง สุดท้ายคือ ต้องบันทึกข้อมูลลูกค้าเพื่อเก็บเป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาบริการในอนาคต”


อย่างไรก็ตามการซื้อขายบนโซเชียลคอมเมิร์ซในปัจจุบันค่อนข้างยุ่งยาก ต้องพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ อีเพย์เมนต์ และโลจิสติกส์จากผู้ให้บริการอื่น แต่ในอนาคตโซเชียลคอมเมิร์ซจะผนึกรวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่การเป็นโซเชียลมีเดีย การสร้างโฆษณา การเป็นอีคอมเมิร์ซที่มีช่องทางการชำระเงินภายในแพลตฟอร์ม และสุดท้าย คือ การมีระบบโลจิสติกส์เป็นของตนเอง ซึ่งจะทำให้การซื้อขายสินค้าทำได้ง่าย และจบภายในแพลตฟอร์มเดียว