“มิว สเปซ” ขยับระดมทุนซีรี่ส์ C ไต่ฝัน “ยูนิคอร์น” กิจการอวกาศ

หลายสิบปีก่อน เราตื่นเต้นกับก้าวแรกบนดวงจันทร์ของ “นีล อาร์มสตรอง” แต่อีกไม่กี่วันข้างหน้า โลกกำลังจับตาการทัวร์อวกาศครั้งแรกของ 2 มหาเศรษฐีโลก “ริชาร์ด แบรนสัน” แห่งอาณาจักรเวอร์จิ้น และเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ “เจฟ เบโซส” แห่งอเมซอน

ทั้งคู่มีกำหนดขึ้นท่องอวกาศในเดือนนี้ (แบรนสัน 11 ก.ค. ส่วนเบโซส 20 ก.ค.) เหมือนกัน โดยผู้ก่อตั้ง “อเมซอน” จะเดินทางท่องอวกาศพร้อมกับน้องชายของเขา

และผู้ชนะการประมูลชิงตั๋วที่นั่งในการทัวร์อวกาศ ซึ่งมีคนสนใจร่วมประมูลหลายพันคน จาก 140 กว่าประเทศ เห็นว่าผู้ชนะยอมจ่ายถึง 84 ล้านบาท แลกกับประสบการณ์ไร้น้ำหนักนอกโลก เพียงแค่ไม่กี่วินาที

ไม่เฉพาะมหาเศรษฐีโลก คนไทยบริษัทไทยที่สนใจกิจการเกี่ยวกับอวกาศก็มี เป็นสตาร์ตอัพสัญชาติชื่อ “มิวสเปซฯ” และเป็น 1 ใน 2 บริษัทที่ขอรับเอกสารการคัดเลือกการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) จาก กสทช.

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “วรายุทธ เย็นบำรุง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนการบิน อวกาศ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม โดยเขาปฏิเสธที่จะพูดถึงการเข้าร่วมประมูลไลเซนส์ดาวเทียมจาก กสทช. และพูดถึงเป้าหมายของบริษัทว่า คือความต้องการในการหาทรัพยากรใหม่ ๆ ให้กับโลก

เพราะปัจจุบันทรัพยากรทั่วโลกลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายระยะยาวในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่จะนำเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาปล่อยขึ้นสู่ดวงจันทร์ให้ได้

“ปีนี้เป็นปีที่ 4 ของบริษัท มิว สเปซฯที่ผ่านมา เราส่งอุปกรณ์ขึ้นไปบนอวกาศมาแล้ว 4 ครั้ง”

ตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนอวกาศ

สำหรับแผนงานปีนี้ จะโฟกัสที่การสร้างดาวเทียมของตนเองเป็นภารกิจหลัก ล่าสุดเพิ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในชั้น A1

ซึ่งถือเป็นชั้นสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประเภทกิจการผลิต หรือซ่อมอากาศยาน และอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศ ซึ่งใช้การผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมขนาดเล็ก

โดยมีเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ล่าสุดเพิ่งเปิดตัวโรงงานใหม่ ชื่อ Factory 1 ที่ดอนเมือง ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 2 เพื่อพัฒนา ทดสอบ

และผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม และระบบพลังงานสำหรับการใช้งานบนอวกาศ และโทรคมนาคม รวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO)

หลังจากปลายปี 2563 เปิดโรงงานผลิตขนาดเล็ก Factory 0 รองรับการพัฒนาตัวต้นแบบของเทคโนโลยี

“โรงงานแห่งที่ 2 จะมี 5 โซน ได้แก่ ดาวเทียม ระบบพลังงาน หุ่นยนต์ พื้นที่สำหรับเวิร์กช็อป และสำนักงาน โดยคาดว่าจะเปิดให้กลุ่มนักลงทุนและพาร์ตเนอร์เข้ามาชมในเดือน ส.ค.ปีนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจ ก่อนจะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ในไตรมาส 4”

ถือเป็นโรงงานที่ใหญ่ที่สุดที่ใช้ผลิตชิ้นส่วน และอุปกรณ์ด้านการบินและอวกาศแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บนพื้นที่ 2,200 ตร.ม. โดย Factory 1 เป็นอีกก้าวของมิว สเปซฯในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีการบิน

และอวกาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งเรื่องการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ยานอวกาศ สำหรับใช้เพื่อการส่งออกภารกิจด้านการสื่อสาร ความมั่นคง ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับยานพาหนะไร้คนขับบนดวงจันทร์

เตรียมทดสอบดาวเทียมสิงหาคมนี้

นายวรายุทธกล่าวต่อว่า ปัจจุบันมิว สเปซฯมีบุคลากรรวม 100 คน และกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพโครงการ “มิว สเปซ ดาต้า เซ็นเตอร์” เพื่อนำผลิตภัณฑ์ขึ้นสู่อวกาศโดยเร็วขึ้นที่สุด

โดยจะพัฒนาระบบกำเนิดพลังงาน ซึ่งเป็นหัวใจของทุกสิ่ง ซึ่งขณะนี้ได้พัฒนาระบบดาวเทียม ชิ้นส่วน ทั้งระบบย่อยของทั้งดาวเทียม ระบบโครงสร้าง ควบคุมทิศทาง และพลังงาน ที่เริ่มทดสอบจริงแล้ว

และคาดว่าจะนำดาวเทียมนี้ไปทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงในอวกาศ และเริ่มส่งข้อมูลจริงได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หลังจากนั้นก็จะพัฒนา ปรับปรุงระบบต่อ

และย้ำว่า ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ คาดว่าจะเห็นดาวเทียมของมิว สเปซฯในเดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเข้าไปประกอบการฐานยิงจรวดขึ้นไปเดือนธันวาคมนี้

ก้าวสู่ยูนิคอร์นตัวต่อไป

ซีอีโอมิว สเปซฯ กล่าวถึงแผนการระดมทุนของบริษัทด้วยว่า ในปลายปีที่ผ่านมา ได้ระดมทุนในรอบซีรีส์ B ไปแล้ว โดยจะนำมาพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและสร้างโรงงานแห่งที่ 2 และในไตรมาส 3 ปีนี้ เตรียมเปิดระดมทุนรอบซีรีส์ C ต่อ

แต่ยังไม่สามารถให้รายละเอียดใด ๆ ได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างพูดคุยกับนักลงทุน ทั้งในไทยและต่างประเทศ

“เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนรอบใหม่จะนำมาขยายโรงงานแห่งที่ 2 ต่อ พร้อมขยายทีมงานเพิ่มเป็น 300 คน ภายในปีนี้ และเตรียมขยายบริการต่อไปยังในยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย”

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าหลัก คือ กลุ่มองค์กร ทั้งเอกชน และรัฐบาล เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ต หน่วยงานรัฐเกี่ยวกับอวกาศและหน่วยงานความมั่นคง บริษัทการบินและอวกาศ รายอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“มิว สเปซฯ เป็นสตาร์ตอัพในไทยรายเดียวที่ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมที่เกี่ยวกับอวกาศ แต่ถ้าในอเมริกามีหลายราย ซึ่งก็เป็นกลุ่มเพื่อน ๆ กัน


และเติบโตขึ้นไปในระดับยูนิคอร์นแล้วก็หลายราย ถ้ามิว สเปซฯระดมทุนในรอบซีรีส์ C ได้ ในแง่มูลค่าบริษัทก็คงหนีกันไกล และจะกลายเป็นยูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านอวกาศด้วยเช่นกัน”