สิ้นสุดสัมปทาน นับหนึ่งไทยคม ใต้ปีก เอ็นที

ดาวเทียมไทยคม

สิ้นสุดมหากาพย์สัมปทาน 30 ปี นับหนึ่งดาวเทียมไทยคม ใต้ปีก เอ็นที ลุยบริหารงานเฟ้นรายได้ต่อ ย้ำลูกค้าเดิมใช้งานไม่มีสะดุด หวังโกยความเชื่อมั่น

วันที่ 11 กันยายน 2564 ปิดฉากสัมปทาน 30 ปีแล้ว เมื่อบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ได้โอนสิทธิทรัพย์ คือ ดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้แก่รัฐบาล ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส เป็นที่เรียบร้อย

ขณะที่ ดีอีเอส ก็โอนสิทธิการดูแลดาวเทียมทั้ง 2 ดาว ให้แก่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเอ็นที เป็นผู้ดูแลต่อแล้วเช่นกัน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นวันแรก

ADVERTISMENT

เอ็นทีลุยดูแลลูกค้าต่อไม่สะดุด

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส กล่าวว่า  ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอส และเอ็นที ได้มีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการร่วมกันมาตลอด

รวมทั้งได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการขอใบอนุญาตต่าง ๆ เพื่อให้เอ็นที สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 64 เป็นต้นไป ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการวงจรดาวเทียมทั้ง 2 ดวงยังคงใช้งานได้ต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด

ADVERTISMENT

“ขอยืนยันว่า การให้เอ็นทีมาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพย์สินในส่วนนี้ ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเป็นหลัก”

ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการจะสามารถได้ใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และภาครัฐก็สามารถใช้ประโยชน์จากดาวเทียมทั้ง 2 ดวงได้ เพื่อเสริมศักยภาพให้ภาครัฐ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคงด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม

ADVERTISMENT

รวมถึงพร้อมให้บริการแก่หน่วยงานรัฐ เพื่อใช้งานวงโคจรดาวเทียม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที กล่าวว่า เอ็นทีจะเป็นผู้ดูแลดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ต่อหมดหลังอายุสัมปทาน ตามนโยบายของกระทรวงดีอีเอส

มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทั้งเรื่องความปลอดภัย การป้องกันประเทศ และการสร้างรายได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากไทยคมได้โอนกรรมสิทธิ์ดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้กับดีอีเอสแล้ว ก็ยังสามารถใช้งานดาวเทียมทั้ง 2 ดวงได้ เนื่องจากมีอายุวิศวกรรมเกินระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทาน

ทั้งนี้ไทยคม 4 เป็นดาวเทียมบรอดแบนด์ ที่ให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต (แบบจุดต่อจุด) ถูกยิงขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2548 มีพื้นที่ให้บริการ 14 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย กัมพูชา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เมียนมา ไทย ไต้หวัน เป็นต้น

ส่วนไทยคม 6 เป็นดาวเทียมทั่วไปที่ให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการประจำที่ด้วยการส่งสัญญาณจากสถานีภาคพื้นดินขึ้นสู่ดาวเทียมและส่งกลับมายังสถานีรับสัญญาณภาคพื้นที่ ถูกจัดขึ้นสู่วงโครเมื่อเดือนมกราคม 2557 มีพื้นที่การให้บริการ C-band ภูมิภาคเอเซียใต้ ทวีปแอฟริกา และ Ku-band ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

จ่ายสัมปทานกว่า 1.3 หมื่นล้าน

หากย้อนก่อนหน้านี้ นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เคยให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้จ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ของดาวเทียมทั้ง 6 ดวง ให้แก่รัฐบาลรวมกันไปแล้วกว่า 13,852.84 ล้านบาท มากกว่าจำนวนขั้นต่ำตามที่รัฐกำหนดไว้ในสัญญาถึง 10 เท่า (มูลค่าขั้นต่ำที่ 1,415 ล้านบาท)

ผู้สื่อข่าวรายงาน เพิ่มเติมว่า การจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรภายใต้สัมปทานที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 2 ชุด ได้แก่  ชุดที่ 1 ดาวเทียมไทยคม 1 (หลัก) และ ไทยคม 2 (สำรอง)

ตามด้วยชุดที่ 2 คือ ไทยคม 3 (หลัก) และ ไทยคม 4 (สำรอง) ไทยคม 3 ซึ่งเสียก่อนหมดอายุใช้งาน ดังนั้นไทยคมจึงได้ยิงดาวเทียมไทยคม 5 ขึ้นไปทดแทนไทยคม 3  ซึ่งดาวเทียมไทยคม 5 ได้เกิดขัดข้องเมื่อปลายปี 2562 เพราะมีอายุการใช้งานเกินกำหนด ทำให้ต้องปลดระวางต้นปี 2563

ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และดาวเทียมไทยคม 8 เป็นดาวเทียมเกิดข้อพิพาทระหว่างไทยคม กับ สํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) โดย กสทช. ระบุให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม จํานวน 10 ข่ายงานดาวเทียม รวมถึงวงโคจรที่ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ใช้ จะหมดสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานวันที่ 10 กันยายน 2564

ซึ่งไทยคมชี้แจงว่า ดาวเทียมทั้ง 2 ดวงเป็นการดำเนินการภายใต้ระบบใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. จึงไม่ถือว่าอยู่ภายใต้สัมปทาน พร้อมยื่นฟ้องที่ศาลปกครอง และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคําสั่ง ให้ทุเลาการบังคับของมติของ กสทช. โดยให้ไทยคมมีสิทธิในการใช้วงโคจรและข่ายงานดาวเทียมที่เกี่ยวข้องต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น