
ทรู-ดีแทค ปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นเทคคอมปะนี ตั้งบริษัทใหม่ ตั้งกองทุน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หนุนเทคสตาร์ตอัพ ปั้นไทยขึ้นฮับเทคโนโลยีระดับโลก
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 หลังจากเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ได้ส่งหนังสือแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค
- เปิดลงทะเบียนแก้หนี้ 1 ธ.ค.นี้ เครดิตบูโรห่วงกู้ซื้อ “รถ-บ้าน” ค้างจ่ายพุ่ง
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- วันหยุดเดือนธันวาคม 2566 เช็กวันหยุด วันสำคัญ วันหยุดยาว-หยุดต่อเนื่อง
ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น.ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่มเทเลนอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจโทรคมนาคมใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นเทคคอมปะนี เนื่องจากสภาพตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนไป ซึ่งกลุ่มทรูตระหนักดีว่าเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทุก ๆ อุตสาหกรรม
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสร้างอีโคซิสเท็มด้านการลงทุนในทุกมิติ ทั้งดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์ เทคโนโลยี ระบบนิเวศด้านการลงทุน ซึ่งการตั้งบริษัทใหม่ระหว่างทรูกับดีแทคครั้งนี้ จะตั้งกองทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และเทคสตาร์ตอัพไทย รวมถึงเทคสตาร์ตอัพที่ตั้งอยู่ในไทยด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป
นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า ผมเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับมาอยู่ตรงนี้ร่วมกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ (ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) และการกลับมาเมืองไทย เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ที่ประเทศไทย เราได้มีเติบโตในหลายด้าน ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ
- ทรู-ดีแทค ดีลแสนล้าน ชาวเน็ตถก มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ ?
- เครือซีพี เจ้าสัวธนินท์ ซื้อ-ควบกิจการอะไรแล้วบ้าง
อย่างไรก็ตามสำหรับอนาคต 20 ปีข้างหน้า เมื่อธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติเทคโนโลยี ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้า และธุรกิจต้องการตอบสนองต่อการใช้งานทั้งต่อภาครัฐและผู้บริโภค 65 ล้านคนในประเทศไทย
“เราจึงได้มีแรงขับเคลื่อนร่วมกันที่จะตั้งบริษัทใหม่ด้วยหลักการสำคัญคือเป็นเจ้าของที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อ ซี.พี.และดีแทคที่เท่า ๆ กัน นี่คือตำแหน่งแห่งที่ที่เราวางร่วมกันไว้”
โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ เราจะแสวงหาการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง การลงทุนด้านนวัตกรรมระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการให้บริการใหม่ ๆ ที่แข็งแกร่งแก่ผู้บริโภค โดยเราคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 2.17 แสนล้านบาท และหวังจะได้เห็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการร่วมกันนี้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจ ต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านอินเทอร์เน็ต ดาต้า และการเชื่อมผู้บริโภคชาวไทยสู่สังคมดิจิทัลอนาคต
“นี่คือการริเริ่มของความร่วมมือ และเราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าความร่วมมือนี้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และเราจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐไทย ในเรื่องนี้ต่อไป” นายซิคเว่กล่าว