เครือ ซี.พี. เจ้าสัวธนินท์ ซื้อ-ควบกิจการอะไรแล้วบ้าง

ซีพี ซื้อ-ควบรวมกิจการอะไรบ้าง

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. ภายใต้ร่มเงาของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” สร้างความฮือฮาในแวดวงธุรกิจหลายสาย ด้วยการซื้อ-ควบกิจการ แม้ในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญการระบาดจากโควิด-19

วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 กรณี บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ประกาศควบรวมกิจการกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งกลุ่มเทเลนอร์จากนอร์เวย์ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 45.87% ได้สร้างความตื่นเต้นในแวดวงธุรกิจ ตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องจนถึงวันนี้

ทรู-ดีแทค รวมกิจการขึ้นเบอร์ 1

นอกจากจะเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจโทรคมนาคมใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็นเทคคอมปะนี การควบรวมครั้งนี้ยังทำให้ฐานลูกค้าของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือเบอร์ 2 และเบอร์ 3 ในตลาด รวมกันแล้วแซงหน้าเบอร์ 1 อย่างเอเอไอเอส

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ เอไอเอส มีฐานลูกค้า 43.7 เลขหมาย ส่วนทรูมี 32 ล้านเลขหมาย ดีแทคมี 19.3 ล้านเลขหมาย หากทรูและดีแทครวมกิจการกันได้สำเร็จ ทั้งคู่จะมีลูกค้ารวมกันมากถึง 51.3 ล้านเลขหมาย พลิกขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในธุรกิจทันที

การรวมกิจการในครั้งนี้ จึงสร้างความกังวลในหมู่ผู้บริโภค โดยเฉพาะประเด็นการแข่งขันที่อาจส่งผลกระทบกับผู้บริโภค จากความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสองผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะรวมธุรกิจกัน ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กลุ่มทรูและดีแทค จะต้องรายงาน กสทช. เพื่อให้มีการตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ มิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนี้ยังให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยเลขาธิการ กสทช.จะต้องรายงานต่อ กสทช.ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากบริษัทที่ปรึกษาอิสระ

และ กสทช.อาจพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือนำมาตรการเฉพาะสำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณะ

ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การควบรวมกิจการของกลุ่มทรูและดีแทค ในทางกฎหมายสามารถทำได้ แต่ในแง่การกำกับดูแลจะต้องดำเนินการอย่างเข้มขึ้นเพื่อป้องกันมิให้ผู้มีอํานาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญใช้อํานาจในการจํากัดหรือกีดกันการแข่งขันในตลาด

มหากาพย์ ซี.พี.-เทสโก้

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคมคาดการณ์ว่า หลังจากนี้ทรูและดีแทคจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบระหว่างกัน เพื่อความถูกต้องของทรัพย์สินต่าง ๆ ของแต่ละบริษัท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2565

จากนั้นทั้งคู่จะต้องจับมือกันก้าวผ่านขั้นตอนทางกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆ จาก กสทช. เพื่อหลีกเลี่ยงคำครหา “ผู้มีอํานาจเหนือตลาด” อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับกรณีดีลควบรวม “ซี.พี.-เทสโก้” ซึ่งกลายเป็นมหากาพย์ยืดเยื้อตั้งแต่ต้นปี 2563 ก่อนจะจบลงเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ย้อนไปเมื่อปี 2540 ยุควิกฤตต้มยำกุ้ง เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จำใจปล่อย “เทสโก้ โลตัส” หลุดมือไป เพราะต้องการอุ้มธุรกิจทางการเกษตร ซึ่งเป็นธุรกิจหลักเอาไว้

ผ่านไป 23 ปี เจ้าสัวธนินท์ ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 338,445 ล้านบาท ช่วงต้นเดือน มีนาคม 2563 โดยเป็นการซื้อกิจการจากเทสโก้ อังกฤษ ซึ่งประสบวิกฤตมาตั้งแต่ปี 2557 ผลประกอบตกต่ำ กำไรหดหาย

ครั้งนั้น เจ้าสัวธนินท์เฉือนเอาชนะผู้ลงทุนอีก 2 รายใหญ่จากไทยเช่นกัน คือ เซ็นทรัลและไทยเบฟ

อย่างไรก็ตาม การดึงอีกหนึ่งตลาดค้าปลีกกลับมาไว้ในมือของ “เจ้าสัวธนินท์” ทำให้ถูกจับตามองว่า จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาดโดยรวมหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ปี 2560

คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จึงได้จัดคณะทำงานพิเศษ รวบรวมข้อมูลถึงความเหมาะสม โดยใช้เวลาพิจารณาตั้งแต่เดือนเมษายนถึงตุลาคมเป็นเวลาร่วม 7 เดือน

กระทั่ง 2 พฤศจิกายน 2563 ในการประชุม กขค. ซึ่งมี ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา เป็นประธาน ได้ใช้เวลาพิจารณาวาระการรวมธุรกิจ ตามคำขอควบรวมกิจการของ ซี.พี. ที่ซื้อหุ้นบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) นานร่วม 10 ชั่วโมง ก่อนที่ กขค.จะอนุมัติให้ “ซี.พี.” กับ “เทสโก้ โลตัส” ควบรวมกิจการได้ แบบมีเงื่อนไข

และ 6 พฤศจิกายน 2563 กขค.พิจารณาการขออนุญาตรวมธุรกิจระหว่างสองบริษัท โดยกรรมการเสียงข้างมากมีความเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ขออนุญาตรวมธุรกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดร้านค้าปลีกสมัยใหม่สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทร้านค้าปลีกขนาดเล็ก จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด

การปิดดีลควบกิจการครั้งนี้ ทำให้ “เจ้าสัวธนินท์” สามารถขยายธุรกิจค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่ง ที่จากเดิมมีร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา

ส่งผลให้อาณาจักรค้าปลีกของ ซี.พี.มีช่องทางจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดได้ทุกเซ็กเมนต์

ประเด็นกิจการวัคซีนซิโนแวค

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซี.พี.ออกแถลงการณ์ยืนยัน ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม ระบุว่า การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวคเป็นแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับ ซี.พี.ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ซี.พี.ให้ข้อมูลด้วยว่า ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว พร้อมชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ เป็นบริษัทลูกของ บริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

โดยซิโน ไบโอฟาร์มมาซูทิเคิล ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง  ได้เข้าไปถือหุ้นในซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใด ๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของในบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

การแถลงการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563 สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชีย รายงานว่า บริษัท ซิโน ไบโอฟาร์มมาซูทิเคิล ลิมิเตด ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย ได้ลงทุน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แลกกับการเข้าเป็นผู้ถือหุ้น 15% ของบริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ไซแอนซ์ ซึ่งเป็นหน่วยผลิตวัคซีน “โคโรนาแวค” (CoronaVac) ในเครือ “ซิโนแวค ไบโอเทค”

ซีพีเอฟทุ่ม 1.45 พันล้าน ซื้อหุ้นธุรกิจกุ้งจากบริษัทในเครือ

ส่วนธุรกิจอาหารที่ ซี.พี.ขับเคลื่อนผ่าน CPF หรือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติการเช้าซื้อหุ้นสามัญอีกร้อยละ 43.30 ใน C.P.Aquaculture (India) Private Limited (CPA) จากบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (CPG) และ C.T. Progressive (Investment) ในราคารวมทั้งสิ้น 3,483 ล้านรูปีอินเดีย หรือประมาณ 1,445 ล้านบาท

ภายหลังการเข้าทำรายการครั้งนี้จะทำให้ CPF ถือหุ้นใน CPA เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 31.70 เป็นร้อยละ 75.00 ส่งผลให้ CPA เปลี่ยนสถานะจากบริษัทร่วมเป็นบริษัทย่อยของ CPF

ทั้งนี้ CPA ผลิตและจำหน่ายอาหารกุ้ง ฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้ง และจำหน่ายกุ้งแปรรูปขั้นต้นในประเทศอินเดีย มีทุนชำระแล้ว 250 ล้านรูปีอินเดีย

ซีพีเอฟซื้อกิจการ “ธุรกิจอาหารทะเล” โปแลนด์

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา นางกอบบุญ ศรีชัย เลขานุการบริษัท บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จํากัด (มหาชน) หรือ CPF รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทย่อย (CPF Poland S.A) ของ CPF ได้เข้าซื้อกิจการ Food sp. z o.o. (Fish Food) และ MaxFish sp. z o.o. (MaxFish) ซึ่งดำเนินธุรกิจอาหารทะเลในประเทศโปแลนด์ จาก Paweł Krześlak and Małgorzata Krześlak (ผู้ขาย)

จำนวนเงินประมาณ 12 ล้านซวอตี หรือราว 101 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกระแสเงินสดภายในกลุ่ม ซึ่งจะได้หุ้นทั้งหมดและหนี้เงินกู้ของบริษัทฯ ภายหลังทำรายการแล้วเสร็จบริษัทดังกล่าวจะเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของ CPF

ทั้งนี้ธุรกรรมในครั้งนี้คิดเป็นมูลค่ารวมของสิ่งตอบแทน 0.01% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของ CPF

ปัจจุบัน Fish Food เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศโปแลนด์ มีทุนจดทะเบียนและทุนชําระแล้ว จํานวน 2.65 ล้านซวอตี และประกอบธุรกิจผลิต ผลิตภัณฑ์อาหารทะเล เช่น ปลาที่หมักในเครื่องปรุงต่างๆ อาหารทะเลชุบเกล็ด ขนมปัง กุ้งต้ม และอาหารพร้อมทาน

สำหรับ MaxFish เป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศโปแลนด์ มีทุนจดทะเบียนและทุนชําระแล้ว จํานวน 0.3 ล้านซวอตี และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการค้าและจัดจําหน่ายผลิตภัณฑอ์าหารทะเล

ซี.พี.ควัก 558 ล้าน ซื้อ Chilindo เว็บประมูลสินค้า

ในด้านไอซีที ซี.พี.ยังคงรุกต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เปิดเผยว่า วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่แฝงไว้ด้วยโอกาสให้ผู้ประกอบการหากปรับตัวได้ทันสู่วิถีใหม่ (New Normal) และสร้างโอกาสให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นช่องทางหลักในการทำธุรกิจของโลกยุค 4.0 ทำให้แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ ในเครือ ซี.พี. ซึ่งมีวีมอลล์ (WeMall) แพลตฟอร์มห้างสรรพสินค้าออนไลน์เข้าไปลงทุนในบริษัท Chilindo จำกัด โดยเข้าไปถือหุ้น 100% มูลค่าประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 558 ล้านบาท จาก Chilindo บริษัทอีคอมเมิร์ซ ในฮ่องกง เพื่อยกระดับให้เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทย

“การที่ ซี.พี.ลงทุนในแพลตฟอร์ม Chilindo เป็นการนำร่องเพื่อสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยที่จะมาช่วยยกระดับอีคอมเมิร์ซไทยก้าวสู่ตลาดระดับสากล จากปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยล้วนเป็นแพลตฟอร์มของธุรกิจข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ การเสริมความแข็งแกร่งด้านอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับผู้ประกอบการรายย่อยของไทยและเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การมีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยอย่าง Chilindo จึงเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสในจังหวะที่ต้องเร่งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย”

และในอนาคตจะใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเป็นช่องทางการตลาดให้ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี และเกษตรกรไทยขายของไปต่างประเทศได้

สำหรับแพลตฟอร์ม Chilindo เป็นเว็บไซต์ประมูลสินค้าออนไลน์ ใช้รูปแบบ Gamification หรือการเล่นเกมการประมูล และจะซื้อก็ต่อเมื่อชนะประมูลในราคาที่ตนเองต้องการ โดยกำหนดราคาประมูลขั้นต่ำที่ 1 บาททำให้ผู้ที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มนี้ต่างจากการเข้าใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ โดย Chilindo มีความโดดเด่นด้านราคา เน้นการจำหน่ายสินค้าในราคาที่ผู้บริโภค “ยอมรับได้” ไม่ใช่ราคาที่ร้านค้าเป็นผู้กำหนดไว้ ทั้งการซื้อสินค้าทุกชิ้นยังทำการตรวจสอบย้อนกลับได้จึงมั่นใจได้ในเรื่องการไม่ถูกหลอกลวงโดยผู้ขาย

นี่เป็นเพียงการขยับขยายธุรกิจบางส่วนของเครือ ซี.พี. ภายใต้ร่มเงาของ “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” ที่เคยผ่านวิกฤตทั้งในประเทศและต่างประเทศมานับครั้งไม่ถ้วน และมองเห็นโอกาสในวิกฤตได้เสมอ