แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาด พุ่ง 270% ตำรวจ-กสทช. ล้อมคอก

โทรศัพท์
ภาพจาก pexels.com

เปิดสถิติ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ฮัลโหลหลอกหลอนพุ่ง 270% จากปีก่อน ผงะ คนไทย 95% รับรู้ถึงปัญหา ฝากความหวัง “ตำรวจ-ดีอีเอส-กสทช.” จัดการ ก่อนเปิด Action 2 หน่วยงานล้อมคอก

วันที่ 23 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาสายโทรศัพท์ลึกลับปลอมตัวเป็นหน่วยงานต่าง ๆ โทร.เข้ามาหลอกเอาเงินจากประชาชน ยังเป็นปัญหาที่ผู้คนในสังคมพบเจอกันได้บ่อย จนแพร่หลายในโซเชียลมีเดียและกลายเป็นเรื่องปกติ หรือนำมาแชร์กันเป็นเรื่องตลกขบขันไปแล้ว

หลายรายแชร์กลเม็ดเคล็ดลับในการตอบโต้สายโทรศัพท์ลึกลับเหล่านี้ด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่การตอบโต้ของชาวโซเชียลที่สร้างความขำขันเท่านั้น ผู้คนบางส่วนก็ตกเป็นเหยื่อ หลงกลโอนเงินให้มิจฉาชีพด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง 2 เหตุการณ์

  1. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มติชน รายงานว่า  น.ส.อนงค์นุช นามวงษา ภรรยานายยมนิล นามวงษา หรือหนุ่มโจ ผู้ก่อตั้งวงดนตรีหมอลำคณะสาวน้อยเพชรบ้านแพง เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พ.ต.ท.จตุรงค์ ดรอ่อนเบ้า สว.(สอบสวน) สภ.โกสุมพิสัย ภายหลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน รวมเป็นเงินกว่า 2,000,000 บาท
  2. อีกเหตุการณ์หนึ่ง ไม่นานมานี้ ข่าวสด รายงานว่า วันที่ 19 มีนาคม 2565  นางสิงห์ (นามสมมติ) พ่อค้าขายซาลาเปา ต.ช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เดินทางเข้าแจ้งความกับ ร.ต.อ.พินัย เหรา รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินไป 3.7 ล้านบาท

ดังนั้น ปัญหาคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงโอนเงิน จึงไม่ใช่ปัญหาประเภทเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่เป็นปัญหาที่อาจจะล้างผลาญทรัพย์สินของประชาชนโดยใช่เหตุด้วย และท่ามกลางความตลกขบขันเหล่านี้ เรากลับไม่เห็นว่าภาครัฐจะมีปฏิบัติการเชิงรุกในการคว้านหา-จับกุมแก๊งเหล่านี้มาดำเนินคดีแต่อย่างใด

พ่อค้าซาลาเปาเมืองแพร่ แจ้งความหลังถูกแก็งคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงินกว่า 3 ล้านบาท ภาพจาก ข่าวสด

ฮัลโหลหลอกลวงพุ่ง 270% สูญกว่า 100 ล้าน

ตามรายงานของแอปพลิเคชั่น Whoscall  แอป ที่คนมักโหลดไว้เพื่อดูว่า สายโทรศัพท์แปลก ๆ ที่โทร.เข้ามาหรือข้อความ SMS ที่ส่งเข้ามือถือเป็นใคร เปิดเผยรายงานปี 2564 ว่า  ในปี 2564 มีการใช้โทรศัพท์เพื่อหลอกลวงในประเทศไทยกว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 270% จากปีก่อนหน้า ขณะที่ ข้อความ SMS หลอกลวงยังเพิ่มขึ้นถึง 57%

และในปี 2564 จำนวนการโทร. และข้อความหลอกลวงทั่วโลก มีถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีที่แล้ว ซึ่งการหลอกลวงลักษณะนี้ยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19

ผู้บริหารของแอปวิเคราะห์ว่า ในปี 2564 การโทร.หลอกลวงมีความแนบเนียนมากขึ้น และมีความถี่สูงขึ้น

โดยพบว่า สายโทร.เข้าจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น การโทร.ที่อ้างว่ามาจากคอลเซ็นเตอร์บริการจัดส่งสินค้า เริ่มรุนแรงมาตั้งแต่เดือนเมษายน ถือเป็นเรื่องปกติมากขึ้น ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ส่งผลให้เหยื่อสูญเสียเงินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท

นอกจากนี้ การฉ้อโกงอีกแบบที่ได้รับการรายงานจากผู้ใช้ Whoscall คือ การโทรศัพท์ที่อ้างว่ามาจากตำรวจ โดยกล่าวหาว่าผู้ใช้มีส่วนร่วมในอาชญากรรม เช่น การฟอกเงิน เป็นต้น

ตัวเลขโทรศัพท์หลอกลวง-SMS ก่อกวนปี 2564 ภาพจากแอป WHOSCELL

คนไทยเคยเจออื้อ 95%

สอดคล้องกับผลการสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 สำรวจความเห็นประชาชน 1,221 ตัวอย่าง เรื่อง “มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ภัยสังคม ณ วันนี้” กลุ่มตัวอย่าง 40.19% ระบุว่า เคยพบเห็นการโทร.เข้ามาของแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากสื่อ, 32.87% ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนพบเจอ และ 21.02% พบเจอด้วยตัวเอง

ส่วนผู้ที่ไม่เคยเจอเลยมีจำนวน  5.92% เท่ากับว่าตัวอย่างกว่า 95% ล้วนเคยพบเจอปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์

เมื่อถามว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยสังคมหรือไม่ กลุ่มตัวอย่าง 86.9% ยืนยันว่าเป็นปัญหาอย่างมาก และมีเพียง 12.93% ที่บอกว่าค่อนข้างเป็นปัญหาสังคม และ 0.17% ที่มองไม่เป็นปัญหาเลย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนัก ส่วนใหญ่  76.09% มองว่า เพราะมีวิธีการหลอกลวงที่ทันสมัยและไม่ต้องแสดงตัวตน รองลงมา 69.04% มองว่ามีเครือข่ายข้ามชาติหนุนหลัง และ 66.26% มองว่ามาจากผลประโยชน์

เมื่อถามว่าหน่วยงานใดสามารถแก้ปัญหาได้ กว่า 80.88% มองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะแก้ปัญหาได้ รองลงมาเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก SuanDusitPoll

โดนหลอกแล้ว แจ้งใครดี ?

สิ่งที่หลายคนคงอยากทราบว่า หลังปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดหนักขนาดนี้ หากพบเจอจะแจ้งหน่วยงานใดได้บ้าง ? ตอบได้ทันทีว่า หน่วยงานหลักที่ต้องดูแลจัดการคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งนอกจากการไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้านแล้ว สตช. ก็ได้เพิ่มช่องทางในการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย

ซึ่งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 สตช.ได้ร่วม MOU กับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก รวม 21 ธนาคาร ในโครงการระบบรับแจ้งความออนไลน์อาชญากรรทางเทคโนโลยีผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com สามารถแจ้งความผ่านทั้งระบบคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน

ขั้นตอนการแจ้งความ มีดังนี้

  1. ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน กรอกข้อมูลทางคดี ตามขั้นตอน
  2. เมื่อแล้วเสร็จ ผู้แจ้งจะได้รับ “เลขรับแจ้งความออนไลน์ หรือ Case ID” เช่น 65021 จะมีผู้บริหารการรับแจ้ง (Admin) และผู้บริหารคดี (Case Manager) วิเคราะห์ข้อมูล และส่งเรื่องต่อไปยังสถานีตำรวจที่ผู้แจ้งสะดวกในการเดินทางไปแจ้งความ
  3. สถานีตำรวจที่ได้รับเรื่องจะเริ่มกระบวนการสืบสวนในทันทีที่ได้รับข้อมูลจากระบบรับแจ้งความออนไลน์
  4. เมื่อ Admin ของสถานีตำรวจรับเรื่องแล้ว ก็จะนำเสนอผู้บริหารคดี เพื่อจ่ายคดีให้แก่พนักงานสอบสวนทำการโทร.นัดหมายผู้แจ้ง หรือผู้เสียหายมาสอบปากคำ และรายงานความคืบหน้าทางคดีในระบบออนไลน์
  5. ผู้เสียหายจะสามารถติดตามความคืบหน้า ส่งข้อมูลเพิ่มเติม หรือสอบถามปัญหาผ่านระบบได้ตลอดเวลา
หน้าเว็บแจ้งความออนไลน์ https://www.thaipoliceonline.com/

กสทช.ผนึก 6 ค่ายล้อมคอก

ส่วนการป้องกันและกำกับดูแล หน่วยงานหลักที่ดูแล “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ซึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา  นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาฯ กสทช. เปิดเผยว่า กำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (IDD) ทั้ง 6 ราย ได้แก่ AIS, TRUE, AIN, DTAC, OTARO และ NT กำหนดมาตรการ ดังนี้

  1. ระงับสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทร.เข้ามาเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้าน เบอร์โทรศัพท์สั้น 3 หลัก และเบอร์โทรศัพท์สั้น 4 หลัก ของประเทศไทย ที่โทร.มายังเลขหมายปลายทางของประเทศไทย
  2. ะงับสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเบอร์ที่โทร.เข้ามาเป็นรหัสโทรศัพท์ประจำประเทศ (Country Code) ที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยังไม่ได้จัดสรรให้กับประเทศใด
  3. กรณีที่สายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศไม่ได้มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง (Non Calling Line Identification) ให้ดำเนินการเพิ่มเครื่องหมาย +66 นำหน้าเบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทร.เข้ามาจากต่างประเทศ
  4. ตรวจสอบสายโทร.เข้ามาจากต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ว่ามีการดัดแปลงเลขหมายหรือไม่ ด้วยระบบ Test Call Generator (TCG) อย่างต่อเนื่อง

แม้จะมีการกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ “ปราบปราม” และ “ป้องกัน” ชัดเจน แต่ไม่รู้ว่าหลังจากนี้ ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามหลอกโอนเงินจะซาลงหรือไม่ คงต้องรอการปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังของหน่วยงานทั้งสองว่า จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า ?