อีคอมเมิร์ซ 2.8 ล้านล้านเดือด ทุนใหญ่ยึด-ไทยตายเรียบ

สมรภูมิอีคอมเมิร์ซปีཹ ระอุ ทุนข้ามชาติตบเท้ายึดไทย จีนเปิดศึกดุรับน้องใหม่ “JD.com” หลังควงคู่เซ็นทรัลกรุ๊ปลงสนาม ผู้เล่นโลคอลกระอัก “ตลาดดอทคอม-วีเลิฟช้อปปิ้ง-วีมอลล์” ปรับแผนเลี่ยงแข่งเดือด “กูรู” ชี้แต่ละรายทุ่มพันล้าน ดันมูลค่าตลาดโตไม่ต่ำกว่า 25% ทะลุ 2.8 ล้านล้านบาท

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2561 เติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 25% โดยผู้ประกอบการอีมาร์เก็ตเพลซจะเป็นต่างชาติทั้งหมด ทั้งจะมีผู้เล่นใหม่เป็นทุนรายใหญ่จากประเทศจีนอีกรายคือ JD.com ที่จับมือกับเซ็นทรัลกรุ๊ปบุกตลาด ทำให้ผู้เล่นในไทยเบอร์ 1 คือ จีน อย่างลาซาด้า มีอาลีบาบาถือหุ้น รองลงไปคือ สิงคโปร์ Shopee และอันดับ 3 เกาหลีใต้11 Street ที่ทุ่มเงินกว่าพันล้านบาทในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ต้องเตรียมรับมือ

อิทธิพลต่างชาติสยายปีก

เมื่อผู้ประกอบการแต่ละรายทุ่มงบประมาณด้านการตลาดอย่างรุนแรง ผู้ที่จะอยู่รอดได้ คือผู้ที่มีสายป่านยาว มีทุนใหญ่หนุนหลัง อย่างกรณีของลาซาด้า หรือสามารถระดมทุนที่มีต้นทุนต่ำอย่างกรณีของ Shopee ที่ระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ได้ ขณะที่ผู้เล่นรายใหม่อย่าง 11 Street กำลังพยายามหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมทุน ซึ่งเชื่อว่าจะมีโอกาสน้อยมากที่ 11 Street จะได้พาร์ตเนอร์ไทย เพราะนักธุรกิจไทยเน้นที่ผลกำไร ขณะที่นักลงทุนต่างชาติทุ่มเพื่อมาร์เก็ตแชร์ ดังนั้นจึงยากที่นักลงทุนไทยจะทุ่มเงินเป็นพันล้านบาท โดยมองไม่เห็นว่าจะได้กำไรเมื่อไร

ทุ่มพันล้านขาดทุนเพื่อต่อยอด

“ตอนนี้รายใหญ่ขาดทุนต่อเนื่อง อย่างลาซาด้า ปี 2559 ยังไม่ส่งงบการเงิน แต่ปี 2558 ขาดทุนพันกว่าล้านปี 2559 ขาดทุน 500 กว่าล้านบาท แต่ก่อนนี้ตอนตลาดดอทคอมจับมือกับราคูเท็น 6 ปี ขาดทุน 400 กว่าล้าน ก็ยังถอยเลย แต่รายใหม่เข้ามาทุ่มทีเดียวเป็นพันล้านบาทกระตุ้นตลาดหวังกวาดมาร์เก็ตแชร์เป็นหลักมากกว่าสร้างรายได้ เหมือนที่เกิดขึ้นในอินเดียปี 2561 ยิ่งรุนแรงขึ้นแน่นอน อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นทุนใหญ่ออกจากตลาดไทยในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป้าหมายของการทุ่มเงิน ก็เพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์ ต้องการฐานลูกค้าไปใช้ต่อยอดในธุรกิจอื่น”

ดูดกำลังซื้อค้าปลีกออฟไลน์

นายภาวุธกล่าวว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว คือ การเริ่มถอนตัวออกจากตลาดของผู้ประกอบการไทย อย่างตลาดดอทคอมกำลังปรับจุดยืนของบริษัทใหม่ ให้น้ำหนักกับการลงทุนด้านอีมาร์เก็ตเพลซน้อยลง วีเลิฟช้อปปิ้งก็หันไปเล่นเรื่องอีเพย์เมนต์แทน ส่วนพ่อค้าแม่ค้าไทยที่เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซก็ไม่ได้โตมาก เหมือนก่อน เพราะผู้ซื้อไปกระจุกตัวอยู่ตามอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ที่มีแคมเปญแรง ฉะนั้นถ้าสินค้าไม่โดดเด่นหรือเฉพาะกลุ่มจริง ๆ ก็จะเลี่ยงผลกระทบไม่ได้ และไม่ใช่แค่ผู้ค้าออนไลน์ ผู้ค้าออฟไลน์ก็จะถูกดึงกำลังซื้อไปสู่อีมาร์เก็ตเพลซมากขึ้นด้วย

ขณะที่รายใหญ่จากฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่าง “อเมซอน” แม้จะยังไม่ประกาศเข้าตลาดไทย แต่เชื่อว่ากำลังเตรียมรุกแน่นอน

“ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตขึ้น แต่ไม่ได้ทำกำไรได้ง่าย ๆ และยังกระทบไปถึงพ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัด ร้านค้าย่อยต่าง ๆ เพราะนี่คือการห้ำหั่นกันของทั้งโลกออนไลน์-ออฟไลน์ ผู้ค้าต้องปรับตัวโดยเฉพาะคนที่นำสินค้าจากจีนมาขาย และคนที่ขายของแบรนด์ใหญ่ ๆ ที่เจ้าของแบรนด์เข้ามาลุยเปิดช็อปออนไลน์เองแล้ว อีมาร์เก็ตเพลซก็ระดมแคมเปญส่วนลดกันตลอดเวลา”

ดังนั้นทางรอดของผู้ที่อยู่ในธุรกิจค้าปลีกคือ ต้องสร้างทั้งช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์และชื่อมการบริหารเข้าหากัน โดยเฉพาะการมองถึงการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ แทนที่จะนำสินค้าจากจีนเข้าขายในไทย ขณะที่ธุรกิจอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศของอีคอมเมิร์ซ ทั้งโลจิสติกส์ ฟูลฟิวเมนต์ อีเพย์เมนต์ต่าง ๆ ก็จะได้รับอานิสงส์ รวมถึงต้องรับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงไปด้วย

“แอสเซนด์” จัดทัพใหม่รับมือ

ด้านนายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานคณะผู้บริหารกลุ่ม บริษัท แอสเซนด์กรุ๊ป จำกัด ในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซี.พี. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจ และกำหนดจุดยืนทางการตลาดและการแข่งขันของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเครือใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์อีมาร์เก็ตเพลซ “วีเลิฟช้อปปิ้ง” (Weloveshopping) และเว็บไซต์วีมอลล์ (Wemall) ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่รวมร้านค้าแบรนด์เนมมาไว้ด้วยกันใหม่ เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ดีขึ้น เนื่องจากการบุกอย่างหนักของอีคอมเมิร์ซข้ามชาติหลายราย เช่น ลาซาด้าในเครืออาลีบาบากรุ๊ป รวมถึงแบรนด์อื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มทุนต่างชาติทั้งนั้น อีกทั้งยังประเมินว่าอีกไม่นานยักษ์อีคอมเมิร์ซโลกอีกรายอย่าง “อเมซอน” น่าจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเช่นกัน จึงต้องหาปรับแผนเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรง

“ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยทั้งหลายคงต้องปรับตัวหาจุดยืน และที่ทางที่ตนเองถนัด โดยใช้ความเป็นโลคอลเข้าสู้ อาจเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่อย่าลงไปสู้ในเกมเดียวกันกับบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพราะไม่มีทางสู้ได้ เว็บอีคอมเมิร์ซของต่างชาติจะเน้นโปรโมชั่นหนักมาก บางช่วงถึงกับขายต่ำกว่าทุนก็มีเพื่อสร้างฐานลูกค้า สินค้าบางประเภท เช่น กลุ่มสินค้าประเภทแก็ดเจตต่าง ๆ เราไม่มีทางสู้จีนได้แน่นอน แต่ถ้าเกี่ยวกับแฟชั่นที่เป็นเรื่องของการเลือกให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และความชอบอาจจะพอสู้ได้”

“ลาซาด้า” อัดแคมเปญต่อเนื่อง

ขณะที่นายอเล็กแซนดรอ บิสชินี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัทลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับผลตอบรับที่ดีจากคนไทย โดยเฉพาะในมหกรรมออนไลน์ เฟสติวัล 11.11-12.12 ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากแบรนด์พาร์ตเนอร์ที่เลือกเปิดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มลาซาด้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Apple, Elca และอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่า ได้รับความไว้วางใจจากแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง และทำให้มีสินค้าครอบคลุมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยได้มากขึ้น

“สำหรับปี 2561 ลาซาด้าจะมุ่งมั่นส่งเสริมผู้ค้าชาวไทยในการเปิดร้านค้าบนโลกออนไลน์ และมอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กับพัฒนาอีโคซิสเต็มของอีคอมเมิร์ซ โดยเชื่อว่าตลาดอีคอมเมิร์ซยังเติบโตขึ้นอีก จากการรับรู้ของผู้บริโภคและการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟน ซึ่ง 70% ของผู้ซื้อผ่านสมาร์ทโฟนเป็นกลุ่มมิลเลนเนียล”

ทั้งยังมองว่า SMEs จะเข้ามามีบทบาทสำคัญบนอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาระบบให้กับผู้ค้าจะเข้ามามีส่วนสำคัญ เพื่อให้ผู้ค้าเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นดังนั้นในปีนี้จะเห็นการเปิดแคมเปญพิเศษให้ผู้บริโภคได้ประหยัดมากขึ้น แอปพลิเคชั่นรูปแบบใหม่จะทำให้การค้นหาและการแสดงสินค้าเหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเปิดหมวดหมู่สินค้าใหม่ “Supermar” ให้ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาขนกลับเอง

“ช้อปปี้” ระดมทุนพร้อมทุ่มต่อ

ด้านนายเทอเรนซ์ แพง ประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ กล่าวว่า ปี 2560 เป็นปีที่ช้อปปี้เติบโตมาก มียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นกว่า 80 ล้านครั้งมีผู้ขายในระบบกว่า 4 ล้านราย มีสินค้าบนแพลตฟอร์มกว่า 180 ล้านรายการทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งแต่ละแคมเปญตลาดที่เปิดตัวไปได้รับการตอบรับดีมาก อย่าง Shopee Super Sale มียอดสั่งซื้อ 24 ชั่วโมงกว่า 2.5 ล้านครั้งจากนักช็อปทั่วทั้งภูมิภาค เพิ่มขึ้นสูงกว่าปีก่อนถึง 5 เท่า

“ปี 2560 Sea บริษัทแม่ของช้อปปี้ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก เป็นบริษัทอินเทอร์เน็ตแห่งแรกในอาเซียนที่ได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ที่นิวยอร์ก และด้วยเงินทุนที่ได้ตลาดหลักทรัพย์ จะทำให้ช้อปปี้สามารถลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาระบบการใช้งานให้ล้ำหน้าไปอีกขั้น ซึ่งเชื่อมั่นว่านี่คือหัวใจสำคัญที่จะมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย”

สำหรับปี 2561 มองว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยจะเติบโตขึ้นด้วยการพัฒนาระบบการขนส่งและระบบการชำระสินค้าที่ดีขึ้น รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาล อัตราการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โซเชียลมีเดีย การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น

“การแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย”

11 Street จัดโปรฯทุกเดือน

นายฮง โชล จอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเลฟเว่นสตรีท (11 Street) ประเทศไทย กล่าวว่า นับแต่เปิดตัวได้รับผลตอบรับที่ดี ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2560 มีลูกค้าในระบบกว่า7 แสนราย ผู้ค้ามากกว่า 2.1 หมื่นราย ครอบคลุมทั้ง SME และแบรนด์ใหญ่ มีสินค้าในระบบกว่า 7 ล้านรายการมีโปรโมชั่นส่งเสริมการขายทุกเดือน โดยเฉพาะ shocking deals ที่การันตีราคาถูกที่สุดทุกวันพร้อมยินดีคืนเงิน 110% ของราคาหากพบที่อื่นราคาถูกกว่า

อีคอมเมิร์ซไทยทะลุ 2.8 ล้าน ล.

ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ประเมินว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปี 2560 จะอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.86% โดยการค้าแบบ B2C (ธุรกิจต่อผู้บริโภค) จะโตขึ้น 15.54% ถือว่ามีมูลค่าสูงสุดในอาเซียน (1.96 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ยังมีสัดส่วนแค่ 28.39% ของตลาดรวม ส่วน B2B (ธุรกิจต่อธุรกิจ) โตขึ้น 8.63% มีสัดส่วน 59.56% ของตลาดรวม

ขณะที่สัดส่วนตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยคิดเป็นแค่ 1% ของมูลค่าค้าปลีกเท่านั้น น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 8.6% เอเชีย-แปซิฟิกอยู่ที่ 12.4% ทั้งระบุว่าความท้าทายของอีคอมเมิร์ซไทยคือ การเข้ามาของยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เป็นโจทย์ที่จะต้องร่วมกันดูแลธุรกิจท้องถิ่นทั้ง e-Marketplace, e-Logistics, e-Payment ให้อยู่รอด และพัฒนาให้ดีขึ้น รวมถึงสร้างโอกาสในการส่งสินค้าไทยไปต่างประเทศ การสร้างคนให้พร้อมรองรับยุคเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมั่นในระบบอีคอมเมิร์ซ

ยักษ์ลุยค้าปลีกเวอร์ชั่นใหม่

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การลงทุนครั้งใหญ่ร่วมกับ “เจดีดอตคอม” มูลค่า 1.75 หมื่นล้าน เป็นแรงกระเพื่อมเขย่าค้าปลีกเมืองไทยครั้งสำคัญ ในชื่อ “เจดี เซ็นทรัล” คาดว่าจะพลิกโฉมออนไลน์ช็อปปิ้งของค้าปลีกไทยครบวงจร และเป็นก้าวที่สำคัญของกลุ่มเซ็นทรัลในการเข้าสู่สนามออนไลน์

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่เพียงเข้าสู่โลกออนไลน์ แต่เป็น new economy ของรีเทล ที่ทรานส์ฟอร์มทั้งตลาดด้วยอีคอมเมิร์ซ อีไฟแนนซ์ และอีโลจิสติกส์ เป้าหมายกลุ่มเซ็นทรัลจะขอโตก้าวกระโดด ด้วยยอดขายในออนไลน์ทั้งกลุ่มมากกว่า 15% ภายใน 5 ปี”

อีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มใหม่นี้ จะเปิดให้บริการเมษายนปี 2561 โดยจะเป็น “ดิจิทัลอีโคซิสเต็ม” ครบวงจร คู่กับการพัฒนาธุรกิจในเครือเซ็นทรัลให้เป็นออมนิแชนเนล ตอบสนองความต้องการของลูกค้ายุคใหม่

ค้าปลีกยุค cashless society

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป กล่าวว่านอกจากออฟไลน์หรือค้าปลีกแบบ brick and mortar แล้ว ยังมีค้าปลีกออนไลน์, บริการ click and collect, เทคโนโลยี AI, AR หรือแม้แต่ IOT

ส่วนตัวแล้วเชื่อว่า ค้าปลีกเมืองไทยยังไม่ได้เลวร้าย แต่ต้องปรับตัว พฤติกรรมและนิสัยคนไทยชอบ socialize ชอบการพบปะ ฉะนั้นทำอย่างไรจะนำเทคโนโลยีและดิจิทัลเข้ามาใช้กับค้าปลีกในรูปแบบ brick and mortar ให้เหมาะสมและไปกันได้กับเมืองไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องลดราคา แต่ต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ ดึงดูดคนให้เข้าห้างและใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์

“จะเห็นว่าไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน ช็อปปิ้งถี่ขึ้น แต่จำนวนเงินจ่ายแต่ละครั้งน้อยลง เราจำเป็นต้องเข้าถึงผู้บริโภคโดยเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว เติมเต็มความต้องการเฉพาะบุคคล และตอบสนองนักช็อปยุคใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งพัฒนา mobile application ช็อป ชิม ชิล ผ่านโลกออนไลน์”

สินค้าเกาะเทรนด์ออนไลน์

นายราฟฟี่ ฟาร์ฮาโด กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของพีแอนด์จีทั่วโลก ในไทยอยู่ระหว่างทดลองนำสินค้าของแพนทีน โอเลย์ แพมเพิร์ส เข้าไปทดลองจำหน่ายเพื่อหาโอกาสตลาดในอนาคตจะเห็นสินค้าพีแอนด์จีในช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
ที่ผ่านมา พีแอนด์จีเริ่มทดลองขายสินค้าในช่องทางออนไลน์ ทั้งลาซาด้า, เซ็นทรัลออนไลน์ ฯลฯ นำร่องด้วยแบรนด์ที่จับกลุ่มพรีเมี่ยม อาทิ โอเลย์, เอสเค-ทู, แพนทีน ฯลฯ

ขณะที่ “ยูนิลีเวอร์” จับมือกับ”ลาซาด้า” ลุยขายสินค้าผ่าน Unilever Official Store และทำแคมเปญกระตุ้นการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ต่อเนื่อง

ทีวีโฮมช็อปปิ้งสะเทือน

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีวี ไดเร็ค จำกัด และนายกสมาคมทีวีโฮมช้อปปิ้ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การแข่งขันธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งขณะนี้มีผู้เล่นในตลาดค้าปลีกออนไลน์เข้ามาแข่งด้วย โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ที่ทุ่มงบฯทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมอย่างหนัก เพื่อแย่งชิงลูกค้าและกำลังซื้อ ที่สำคัญบริษัทอีคอมเมิร์ซยังแย่งมาร์เก็ตแชร์ของธุรกิจทีวีโฮมช็อปปิ้งและธุรกิจค้าปลีกรูปแบบเดิมไปได้ด้วย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน บางส่วนหันไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น บริษัทเองก็พัฒนาช่องทางขายให้หลากหลาย มี 3 ช่องทางขายหลัก ได้แก่ 1.ขายสินค้ารูปแบบเดิม เช่น ขายผ่านทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวีแค็ตตาล็อก 2.ผ่านออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ยูทูบ และ 3.ขายผ่านร้านทีวี ไดเร็ค โชว์เคสทรูซีเล็ค ลุยขายบนมาร์เก็ตเพลซ