เทเลนอร์ ย้ำไม่ทิ้งไทย เปิดเหตุผลทำไมต้องควบรวม TRUE

เยอเก้น โรสทริป-ซิคเว่ เบรคเก้
เยอเก้น โรสทริป-ซิคเว่ เบรคเก้

ใกล้งวดเข้ามาทุกขณะกับการพิจารณาดีลควบรวมระหว่าง “ทรูและดีแทค” โดย กสทช. ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้ตามกรอบเวลาที่บอร์ด กสทช.เคยลงมติไว้เมื่อต้นเดือน พ.ค. ที่ระบุให้สำนักงาน กสทช.ตั้งอนุกรรมการเพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงดำเนินการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปให้แล้วเสร็จใน 60 วัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีคิวเข้าพบ “กสทช.” ในช่วงบ่าย ผู้บริหาร “เทเลนอร์” นำโดย “ซิคเว่ เบรคเก้” อดีตโคซีอีโอ “ดีแทค” ซึ่งปัจจุบันขึ้นมานั่งเบอร์หนึ่งุกมบังเหียน “เทเลนอร์ กรุ๊ป” และ “เยอเก้น โรสทริป” EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป

ได้เปิดแถลงข่าวเพื่อชี้แจงเหตุผลและที่มาที่ไปเกี่ยวกับความร่วมมือของเทเลนอร์กับเครือ ซี.พี. เพื่อควบรวมธุรกิจ “ดีแทคและทรู” เข้าด้วยกันในรูปแบบที่เรียกว่า “equal partnership”

ย้ำ “เทเลนอร์” ไม่ทิ้งไทย

“ซิคเว่ เบรคเก้” President and CEO “เทเลนอร์ กรุ๊ป” ย้ำว่า เทเลนอร์จะไม่ทิ้งการลงทุนในประเทศไทยและในตลาดเอเชียอย่างแน่นอน หลังจากเข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยครบรอบ 25 ปีในปีนี้ ตั้งแต่ตลาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเติบโต โดยที่ผ่านมานำเสนอสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่าง เช่น ค่าบริการเป็นวินาที และการสร้างแบรนด์มือถือ พรีเพด “แฮปปี้” เป็นต้น

ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมาตลาดมือถือในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงปี 2016 การเติบโตเริ่มช้าลงเพราะคนส่วนใหญ่มีมือถือใช้กันเกือบทุกคนแล้ว เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกหรือยุค 1.0 ของการเติบโต ซึ่งในยุค 2.0 จะเป็นยุคของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้ง 5G AI และ IOT ที่มีผู้เล่นหรือคู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ไม่เฉพาะในธุรกิจโทรคมนาคมด้วยกันเท่านั้นที่จะเข้ามาแข่งขันด้วย แต่รวมไปถึงยักษ์เทคโนโลยีและไอที เช่น กูเกิล, แอมะซอน และไมโครซอฟท์ เป็นต้น

ครีเอตการเติบโตยุค 2.0

“เราเชื่อตลอดมาว่าการแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี แต่จะดีและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งลูกค้า, ผู้ถือหุ้น, บริษัท และผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะต้องเป็นการแข่งขันระหว่างคู่แข่งที่มีความแข็งแรงทัดเทียมกัน ซึ่งปัจจุบันดีแทคและทรูอยู่ในจุดอ่อนแอกว่าคู่แข่ง”

ในการแข่งขันยุค 2.0 ไม่ใช่การแข่งกับผู้ให้บริการมือถือด้วยกันเท่านั้น เพราะยุคถัดไป คือ 2.0 เกิดขึ้นเมื่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ, IOT และ 5G รวมเข้าด้วยกัน จึงไม่ใช่การเชื่อมต่อแค่ผู้คนเข้าด้วยกันอีกต่อไป แต่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ กับอินเทอร์เน็ต

และจะมีการใช้ดาต้าเพิ่มขึ้นมหาศาล รวมถึงการใช้ AI เพื่อให้เข้าใจถึงดาต้าจำนวนมากที่สร้างขึ้นโดยต้องใช้ความเร็วของเทคโนโลยี 5G เพื่อเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ นับร้อยนับพัน ซึ่งจะหมายถึงการลงทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย

นั่นทำให้ “เทเลนอร์” ตัดสินใจร่วมมือกับเครือ ซี.พี. โดยควบรวมดีแทคและทรูเข้าด้วยกันในบริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้เป็นบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี

ยอมรับแยกกันสู้อยู่ยาก

“เยอเก้น โรสทริป” EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป เสริมว่า การควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรูจะสร้างบริษัทที่แข็งแรง สามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัล และเทคโนโลยีของประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่อนาคตในยุคการเติบโต 2.0 (growth 2.0) ทำให้ประเทศมีโอกาสอยู่แนวหน้าของภูมิภาคได้ด้วย

“ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่ง แต่อีก 2 อ่อนแอกว่า ที่ผ่านมาเราลงทุนได้ปีละไม่เยอะจากเหตุผลด้านการเงินที่ว่า ลงทุนแล้วคุ้มไหม เราไม่ใช่องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ทำให้เราอยู่ในจุดที่อ่อนแอกว่าคู่แข่ง การควบรวมจึงเป็นสิ่งที่จะดีกับทุกฝ่าย”

อีกทั้งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในมาเลเซียเองเทเลนอร์ก็เพิ่งได้รับแจ้งถึงความชัดเจนจากหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบให้เดินหน้าควบรวมกิจการระหว่าง “ดิจิ” บริษัทในเครือเทเลนอร์ และเซลคอม ผู้ให้บริการอีกรายในมาเลเซียเช่นกัน

“เราคิดว่า กสทช.เองก็จะเข้าใจเช่นกันว่าการควบรวมดีแทคกับทรูเข้าด้วยกันจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายด้วยเช่นกัน ทั้งในแง่ลดการลงทุนซ้ำซ้อน ความสามารถที่จะพัฒนาบริการใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันเท่าเทียมอย่างแท้จริง”

ทบทวนอนาคตแบรนด์ดีแทค

“ซิคเว่” ย้ำว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (perfect storm) และความร่วมมือของดีแทคกับทรูคือการปรับตัวเตรียมความพร้อมไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่จะแตกต่างไปจาก 20 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน

โดยระบุว่าสิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคม แต่กำลังพยายามสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่าง ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ สำหรับประเทศไทย

“เราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลกเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นแอมะซอน, กูเกิล, ไมโครซอฟท์ และอื่น ๆ ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมขนาดเล็กในประเทศอาจไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลก”

เมื่อถามถึงแบรนด์ดีแทคและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงาน เมื่อดีแทคและทรูควบรวมกัน “ซิคเว่” บอกว่าเรื่องของแบรนด์นั้นระหว่างผู้บริหารระดับสูงของทั้งคู่จะมีการหารือกันถึงเรื่องนี้ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่มีแผนการเลย์ออฟพนักงานแต่จะมีการจัดแพ็กเกจให้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติกรณีที่บริษัทมีการควบรวมธุรกิจ