ดร.ฉัตรชัย นักวิชาการวอนภาครัฐเร่งหาข้อยุติปม ทรู-ดีแทค หวั่นกระทบเศรษฐกิจ

ดร.ฉัตรชัย ตวงบริพันธุ์ นักวิชาการอิสระมองดีลควบรวม “ทรู-ดีแทค” วอน “กสทช.” อย่ายื้อเวลา เพราะยิ่งกระทบเศรษฐกิจ ทั้งยังชี้ด้วยว่าทฤษฎีควบรวมช่วยเพิ่มการแข่งขันไม่น่าจะเป็นจริงได้ในตลาดไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโทรคมฯ ที่ตลาดมีเพียงตลาดเดียว ไม่เหมือนเซ็กเตอร์อื่น

วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 รายงานข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ระบุว่า แม้ว่าขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่สามารถสรุปรวบรวมความเห็นจากนักวิชาการ ภาคประชาชน กลุ่มผู้บริโภค และภาคธุรกิจ หลังจากจบเวที “โฟกัสกรุ๊ป” (Focus Group) ไป 3 ครั้งให้กับบอร์ดกสทช. ด้วยประเด็นคำถามว่า การรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ทรู” (True) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “ดีแทค” (dtac) จะทำได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนในการพิจารณาของบอร์ดเริ่มส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าไม่ควรรอบอร์ดกสทช.อีก 2 คนที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบคุณสมบัติจากวุฒิสภา เพราะบอร์ดที่มีอยู่ 5 คนสามารถโหวตลงคะแนนได้ทันที

รายงานข่าวจากบอร์ดกสทช. เผยว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถตอบแทนบอร์ดได้ว่าจะมีความเห็นออกไปทางใด แต่จากข้อมูลของอนุกรรมการที่ตั้งขึ้นมา 4 ชุด ค่อนข้างพูดถึงการควบรวมในเชิงลบ ซึ่งสิ่งที่บอร์ดกสทช.ให้ความหนักใจมากที่สุดคือภาระของผู้บริโภคที่อาจเพิ่มขึ้นเมื่อมีผู้แข่งขันในตลาดเหลือเพียง 2 รายใหญ่ ดังนั้น มีความกลัวว่าอัตราค่าบริการจะปรับตัวสูงขึ้น หรือหากคิดอัตราค่าบริการเท่าเดิม จำนวนนาทีที่โทรไป หรือ อินเทอร์เน็ตที่ให้มาได้แพคเก็จจะลดลง หากค่ายมือถือโดนบีบไม่ให้ขึ้นราคาค่าบริการหลังควบรวมสำเร็จ

ด้านดร.ฉัตรชัย ตวงบริพันธุ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงกรณีดีลการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรู กับ ดีแทค ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการควบรวมธุรกิจในอุตสาหกรรมค้าปลีกระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้สามารถควบรวมได้และได้กำหนดเงื่อนไขในการควบรวมไว้ 7 ข้อ แต่ในบริบทของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกลับต่างกัน เพราะในธุรกิจค้าปลีกได้นิยามคำว่า “ตลาด” ต่างกัน เพราะหมายถึง 2 ตลาดคือ Modern Trade กับ Traditional Trade

แต่กรณีดังกล่าวจะแตกต่างกับ “ตลาดโทรคมนาคม” อย่างมาก เพราะนิยามคำว่า “ตลาด” ในที่นี้ก็คือตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียงอย่างเดียวไม่มีตลาดอื่น ผู้เล่นในตลาดนี้ก็มีเพียง 3 รายใหญ่ที่มีผลต่ออุตสาหกรรม คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS , True และdtac

แรกเริ่ม AIS มี Market share ราว 40% จากนั้น dtac ตามหลังเข้ามาทำตลาดก็มีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นมาได้มากที่สุดถึง 40% ส่วน true เข้าตลาดรายสุดท้ายโดยมีแชร์ราว 20% ซึ่งในตอนนั้น เริ่มมีการแข่งขันกันอย่างมาก เกิดการทำตลาดแข่งขันโปรโมชั่น ลดราคาค่าโทรศัพท์ มีการคิดแพ็คเกจทั้งแบบจ่ายรายเดือนและเติมเงิน เรียกได้ว่าตลาดคึกคักเกิดบริการใหม่ๆตามมาอย่างมาก

ดังนั้น การควบรวมที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่สามารถพูดได้ว่าจะยิ่งเพิ่มการแข่งขัน เพราะการควบรวมที่เกิดกับตลาดที่มีอยู่เพียงตลาดเดียวไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันไม่ว่าจะมองมุมใด

“เมื่อมีการแข่งขันแย่งลูกค้ากัน มันจะเกิดแรงจูงใจให้เกิดการแข่งขันอย่างมาก ตลาดแบบนี้ส่งผลบวกอย่างมาก” ดร.ฉัตรชัย ระบุ

ดร.ฉัตรชัย กล่าวต่อว่า หลังจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีก่อน พอกาลเวลาผ่านไปจากดีแทคที่เคยเป็นเบอร์สองในตลาดขณะนั้น กลับกลายมาอยู่เบอร์ 3 จากลูกค้าที่หายออกจากไปโครงข่ายจำนวนมาก ตรงนี้เป็นเหมือนสัญญาณแจ้งเตือนล่วงหน้าจากดีแทคแล้วว่า ไม่ต้องการทำตลาดไทย (Exit)

ตามความเห็นของ ดร.ฉัตรชัย ขณะนั้นกสทช. ที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องรู้สัญญาณดังกล่าวแล้ว เริ่มตั้งแต่ไม่เข้าประมูลโครงข่าย 5จี หรือเข้าร่วมประมูลแต่ก็ไม่มีการเคาะราคาใดๆ จึงมาถึงจุดที่ ทรู และ ดีแทคประกาศควบรวมกิจการกัน

ดร.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า หากสุดท้ายแล้วกระบวนการควบรวมระหว่างทั้งสองบริษัทจบลง จะส่งผลให้ Market share (ด้านจำนวนผู้ใช้บริการ) ของ AIS จะขึ้นไปอยู่ที่ 47% ขณะที่ บริษัทเกิดใหม่หลังจากควบรวม หรือทรู จะมี Market Share อยู่ที่ 52% แต่หากพอควบรวมกันเสร็จแล้ว และมีการแข่งขันกันไปสักพัก ผู้เล่นในตลาดพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ ก็จะไม่เหลือการแข่งขันอีกต่อไป เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดต่างกัน 5-7% เท่านั้น และผู้บริโภคเองก็อาจจะไม่ได้รับบริการใหม่ หรืออัตราค่าบริการที่มีความหลากหลายให้เลือกอีกเหมือนในอดีต

และการที่ ทรู และ ดีแทค ชี้แจงว่าการควบรวมสามารถทำได้ เพราะถือเป็นการควบรวมในส่วนของบริษัทแม่ไม่ใช่บริษัทลูกคือ CP และ Telenor Group ถ้ามองจริงๆแล้วก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะบริษัทลูกที่เป็นผู้เล่นในตลาดก็ไม่สามารถสร้างอัตราการลดต้นทุนหรือเกิดการทำตลาดที่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นได้เลย

ดังนั้น ตามข่าวประชาสัมพันธ์ที่บอกว่า หากทั้งสองบริษัทควบรวมกันแล้วจะทำบริการใหม่ ๆ หลากหลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีอนาคต หากมองอย่างนั้นแต่ให้การควบรวมเป็นเรื่องของบริษัทแม่ก็ไม่รู้ว่า ทรู และ ดีแทคจะควบรวมไปทำไม เนื่องจากมองไม่เห็นประโยชน์ เพราะไม่เห็นการพัฒนาและการเพิ่มสิทธิบริการใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี เมื่อมองในแง่อำนาจการกำกับดูแลของคณะกรรมการ กสทช. แม้ว่ายังไม่ได้ข้อยุติว่ากสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมหรือจะไม่ให้ควบรวม สิ่งที่กสทช.ต้องดูคือ หากปล่อยให้ควบรวมก็ต้องมาดูว่าตัวเองมีเครื่องมืออะไรที่จะเข้าไปกำกับดูแลให้บริษัทที่ควบรวมกันจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและไม่กระทบต่อผู้บริโภคที่มีใช้บริการอยู่

“อย่าลืมว่า เมื่อตลาดเหลือผู้เล่นเพียงแค่ 2 รายและไม่เกิดการแข่งขันกันแล้ว อัตราค่าบริการมีแนวโน้มสูงขึ้นแน่นอน และกสทช.ควรที่จะรีบออกมาสรุปหรือมีคำสั่งในการเรื่องนี้ออกมาทางใดทางหนึ่ง ยิ่งหากปล่อยให้เวลาผ่านไปจะเกิดผลเสียต่อสภาพเศรษฐกิจ”

ดร.ฉัตรชัย กล่าวอีกว่า เรื่องการควบรวมของ ทรู-ดีแทค ทำให้เห็นว่า เมื่อต้องมีการออกตัวที่จะกำกับหรือบังคับใช้กฎหมายแล้ว จะเห็นการปฏิเสธเรื่องนี้กันเป็นพัลวัน แม้แต่ตัวกสทช.เองในช่วงแรกก็ออกมาบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีอำนาจในการเข้าควบรวม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจต่อมาคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็บอกว่าไม่มีอำนาจเป็นหน้าที่ของกสทช.

ดังนั้น อนาคตหน่วยงานทั้งหมดที่มีความเกี่ยวข้องคือ กสทช. กขค. แม้แต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) และ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควรทำงานร่วมกันโดยยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ยึดแต่ตัวกฎหมายว่าตัวเองเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว กับประเด็นที่เกิดขึ้นที่กำลังส่งผลกระทบต่อประชาชนในประเทศ

……….