“ทรู-เทเลนอร์” ย้ำดีลควบรวมครีเอตทางเลือกยุคดิจิทัล ที่ไม่ได้มีแค่ “มือถือ”

เสวนา “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจสู่อนาคต”

‘ทรู-เทเลนอร์’เปิดปากครั้งแรก ประสานเสียงแจงดีลควบรวมเพิ่มทางเลือกลูกค้า-เสริมแกร่งบริษัท เปลี่ยนจาก ‘ป้อแป้’ สู่ ‘เทคคัมปะนี’ พร้อมท้าชนยักษ์ข้ามชาติ ทั้งย้ำไม่ผูกขาดเพราะตลาดไม่เหมือนเดิม ยุคดิจิทัลไม่ได้มีแค่ ‘มือถือ’ ทั้งอย่ากังวลค่าบริการจะแพง มี กสทช.ดูแล

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการเสวนาหัวข้อ “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจสู่อนาคต” (22 มิ.ย.) จัดโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ มีตัวแทนผู้บริหารจากกลุ่มเทเลนอร์ และกลุ่มทรู เข้าร่วมด้วย และน่าจะถือเป็นครั้งแรก ๆ ที่ทั้งคู่ยอมพูดถึงความร่วมมือที่นำไปสู่การควบรวมกิจการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาโดย กสทช. ท่ามกลางการจับตามองอย่างใกล้ชิดของภาคส่วนต่างๆ

โดยมีการคาดการณ์กันว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในกลางเดือนก.ค.นี้ หากพิจารณาตามมติบอร์ด กสทช.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ให้สำนักงาน กสทช. ตั้งอนุกรรมการ รวมถึงทำการจัดทำโฟกัสกรุ๊ปให้แล้วเสร็จ และนำมารายได้ ภายใน 60 วัน

จอน โอมุนด์ เรฟฮัก รองประธานอาวุโส เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย
จอน โอมุนด์ เรฟฮัก รองประธานอาวุโส เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย

นายจอน โอมุนด์ เรฟฮัก รองประธานอาวุโส เทเลนอร์กรุ๊ป ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่าเทเลนอร์มีความเชื่อมั่นว่าการควบรวมกิจการระหว่างดีแทค และทรู จะสร้างบริษัทเทคโนโลยี (Telecom-tech company) ที่มีความเหมาะสมทั้งในแง่ขนาด ความสามารถทางการเงิน และความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งขับเคลื่อนนวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์ต่อประเทศไทย และผู้ใช้งานได้

“เราได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะควบรวมกิจการ และหวังว่าการดำเนินการจะยุติธรรม เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ”

ทั้งยังกล่าวด้วยว่าที่ผ่านมา เทเลนอร์ได้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากกว่า 25 ปี และตลาดโทรศัพท์มือถือในเอเชียสร้างรายได้มากกว่า 60% ของรายได้รวมให้เทเลนอร์จึงถือเป็นตลาดหลัก ซึ่งประเทศไทยมีขนาดตลาดเป็นอันดับสามในเอเชีย

“โควิดได้เร่งให้เห็นการใช้เทคโนโลยีที่เติบโตสูงมากทำให้เกิดสังคมยุคดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digitalisation ที่ธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลางจะได้ประโยชน์จากพัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

เสวนา “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจสู่อนาคต”

นอกจากนี้ การเข้าสู่สังคมยุคใหม่นี้ยังมีการเชื่อมต่อที่มีมือถือเป็นแกนกลาง โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G จะเป็นฟันเฟืองสำคัญสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ต้องมีการลงทุนอีกมากตั้งแต่การแข่งขันประมูลคลื่น และการสร้างโครงข่าย ก่อนที่จะรับรู้รายได้ใช้เวลานาน ดังนั้นระหว่างทางบริษัทจึงต้องมั่นใจว่าจะไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ กติกาต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะต้องมีความชัดเจน และต่อเนื่อง ไม่ทำให้กฎระเบียบในการกำกับดูแลกลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน

ส่วนที่มีความกังวลว่าเมื่อดีแทค และทรูควบรวมกันแล้วค่าบริการจะแพงขึ้นนั้น ตนมองว่าเรื่องอัตราค่าบริการจะอยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับ ที่มี กสทช. กำกับดูแลอยู่แล้ว

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น
ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

ด้านนายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าการพิจารณาในเรื่องนี้ไม่สามารถมองตลาดโทรคมนาคมแบบเดิมได้อีกต่อไป เพราะพฤติกรรมของผู้คน และการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีทำให้ผู้ให้บริการการไม่ได้กำลังแข่งกับโอเปอร์เรเตอร์ หรือค่ายมือถือแค่ 3-4 เจ้าในประเทศไทย แต่มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างชาติมากมายที่เข้ามา “เติบโตบนกระดูกสันหลังของเรา” นั่นเป็นสาเหตุให้กลุ่มทรู ต้องปรับตัวไปเป็น Tech company เพื่อให้สามารถแข่งกับผู้เล่นระดับโลกทั้งหลายได้

‘หากมองไปที่เพื่อนบ้านทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ก็ล้วนสร้างบริษัทเทคฯ ขึ้นมาเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถและการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กลับมาอยู่ในประเทศตัวเอง เราเองก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่การจะแข่งขันกับผู้เล่นระดับโลก เราก็ไม่อยากเห็นบริษัทไทยป้อแป้ไปแข่งกับเขา แต่ต้องการพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งที่มีศักยภาพเพื่อต่อสู้ในเวทีโลก อีกทั้งยังต้องสนับสนุนสตาร์ทอัพ และคนมีความสามารถให้เติบโตในไทยเพื่อดึงการเติบโตทางเศรษฐกิจและทางเทคโนโลยีให้อยู่ที่บ้านเรา’

ผู้บริหารกลุ่มทรูย้ำด้วยว่าการควบรวมจึงเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ที่หลากหลายทางเทคโนโลยีให้ผู้บริโภค และก่อให้เกิดตลาดใหม่ๆ ที่สามารถดึงคนจากตลาดของผู้เล่นระดับโลกให้กลับเข้ามาในตลาดบ้านเรา

นายณัฐวุฒิยังแสดงความเห็นมีต่อมุมมองนักวิชาการที่ตั้งข้อสังเกตุในเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดโดย กสทช. ที่แสดงความกังวลว่าการควบรวมจะทำให้เกิดการผูกขาด และส่งผลกระทบต่อจีดีพีว่าเป็นมุมมองที่มองตลาดในแบบเก่า ในขณะที่แต่ตลาดโทรคมนาคมไม่เหมือนเดิมแล้ว และกำลังแข่งกับผู้เล่นในตลาดเทคโนโลยีที่มีผู้เล่นต่างชาติหลายเจ้าที่อาศัยโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ให้บริการรายเดิม เพียงแต่ตลาดเทคโนโลยีและโทรคมนาคมในยุคใหม่จะไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติเท่านั้นที่จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้

‘มันมีช่องว่างที่ทำให้เราเสนอบริการให้กับลูกค้าเพื่อแข่งกับเขาได้อีกมาก แต่ไม่ควรเป็นทางเลือกของบริษัทต่างชาติกับทางเลือกของบริษัทเล็กๆ ในไทย มันควรเป็นการเสนอทางเลือกของบริษัทไทยที่สมน้ำสมเนื้อกับบริษัทเทคฯ ต่างชาติ ถ้าตลาดมีการแข่งขันที่เท่าเทียมกันผู้ใช้ย่อมได้ประโยชน์สูงสุดจากทางเลือกที่มีคุณภาพและหลากหลาย นอกจากผู้ใช้จะได้ประโยชน์ จีดีพีจะขึ้นด้วยซ้ำ แล้วค่าบริการจะถูกลงไปอีก หากใช้กรอบเรื่องค่าบริการ ที่มองว่าจะเพิ่มสูงขึ้น เรื่องนี้ กสทช. ดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาการแข่งขันทำให้ราคาลดลงมาตลอด เรื่องค่าบริการเป็นเรื่องที่ควรกังวลน้อยที่สุด”

เสวนา “โลกปรับ เกมเปลี่ยน พร้อมพลิกโฉมธุรกิจสู่อนาคต”