แผนแม่บทผังน้ำ คลอดปีนี้ กัน “พื้นที่น้ำหลาก” แก้น้ำท่วม

พงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ปีนี้ทุกภาคของประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยอย่างรุนแรง ย่านเศรษฐกิจใจกลางหัวเมืองหลัก เช่น ภูเก็ต อุบลราชธานี ชัยภูมิ ระยองถูกน้ำท่วมหนัก ขณะที่หลายจังหวัดปกป้องพื้นที่เมืองไว้ได้ แต่พื้นที่รอบนอกได้รับผลกระทบอย่างสาหัส

โดยเฉพาะจังหวัดในเขตลุ่มเจ้าพระยา แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์” อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ถึงนโยบาย และแนวทางป้องกันน้ำท่วมในหลายจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองหลัก

Q : ต้องทบทวนนโยบายการป้องกันน้ำท่วมย่านเศรษฐกิจ

สาเหตุการเกิดอุทกภัยที่ผ่านมาถือเป็นสาเหตุที่ค่อนข้างใหญ่ กรมโยธาธิการและผังเมืองมีภารกิจเรื่องการป้องกันเฉพาะบางพื้นที่ จะไปป้องกันทั้ง 100% โดยใช้งบประมาณของกรมโยธาฯลงไปทำ คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ภารกิจที่กรมโยธาฯทำคือ ป้องกันในพื้นที่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง เช่น อำเภอเมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี, อำเภอป่าตอง อำเภอเมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต ฯลฯ

ซึ่งอำเภอเมืองอุบลฯ มีมาตรการทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ปิดล้อมในบางพื้นที่ แต่บางจุดยังปิดไม่ได้ เพราะชาวบ้านยังไม่ยอมที่ทางจังหวัดอุบลฯและโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด รวมถึงกรมโยธาฯเองพยายามเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านโดยตลอด หากพูดคุยกับชาวบ้านได้เรียบร้อยแล้ว สามารถสร้างเขื่อนปิดได้ จะทำให้พื้นที่นั้นน้ำไม่ท่วมต่อไป เราทำเฉพาะบางพื้นที่จุดไม่ใหญ่

ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำที่ท่วมจำนวนมหาศาลอย่างช่วงที่ผ่านมา ต้องอาศัยการบริหารจัดการน้ำในภาพใหญ่ โดยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ โดยต้องบริหารจัดการกันตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ต้องรวมกันหลายฝ่าย กรมโยธาฯหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุมทั้งหมด นี่เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไป

Q : รูปธรรมในการดำเนินการ

แนวทางของกระทรวงมหาดไทยขณะนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ และเตรียมแผนที่จะบริหารจัดการน้ำโดยภาพรวม โดยการน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาประยุกต์มาดำเนินการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำในป่า ต้องพยายามแก้ปัญหาภาพรวมร่วมกับกระทรวงอื่น ๆ ด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดความยั่งยืน

กรณีน้ำท่วมในภาคอีสานที่ผ่านมา ต้องแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ยกตัวอย่าง แม่น้ำชี ต้องไปดูต้นน้ำ แก้ปัญหาตั้งแต่ จ.ชัยภูมิ ก่อนน้ำไหลลงมาขอนแก่น มหาสารคามมาถึง จ.อุบลฯ เช่นเดียวกันต้นน้ำมูล ต้องไปดูตั้งแต่ จ.นครราชสีมา ต้องช่วยกันสกัดก่อนไหลผ่านลงมาที่ จ.อุบลฯ ให้เหลือน้อยที่สุด ไม่ใช่มาทำแผนป้องกันที่จังหวัดอุบลฯจังหวัดเดียว

หากปริมาณน้ำมาก สร้างกำแพงสูงเพียงใดก็เอาไม่อยู่ และชีวิตจริงเป็นไปไม่ได้ จะไปสร้างกำแพงสูง 10 เมตร เพื่อป้องกันน้ำ และคนอาศัยอยู่ภายในกำแพงมองอะไรไม่เห็น มันก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นแนวทางที่จะต้องผสมผสาน และต้องจัดการน้ำที่ต้นทาง

โดยน้อมนำตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ลักษณะนี้ยั่งยืนแน่นอน ซึ่งต้องทำกันหลายฝ่าย

Q : ระยองเสนอทำอุโมงค์ระบายน้ำตรงทับมา ต้องลงทุนเป็นพันล้านบาท

ผมยังไม่เห็นโครงการ หากใช้เงินลงทุนมาก อย่างที่ผมบอก มันต้องดูตั้งแต่น้ำต้นทาง หากแก้ปลายทางใช้เงินมหาศาล ต้องไปไล่ปริมาณน้ำจากด้านบนภูเขาให้ลงมาน้อยที่สุด แล้วค่อยจัดการน้ำปลายทางจะได้ใช้เงินไม่มาก ประเทศไทยเราไม่ได้มีเงินมากในการเข้าไปทำทุกพื้นที่ ก็มีปัญหาเกือบทุกจังหวัดต้องดูข้อมูลพิจารณากันอย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกที

Q : เมืองขยายไร้ทิศทางขวางทางน้ำ

ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ต ผมได้เดินทางลงไปในพื้นที่ ไปดูเองทั้งที่อำเภอป่าตอง และอำเภอเมือง กรมโยธาฯกำลังทำระบบเรียกว่า รวบรวมน้ำและส่งน้ำผ่าน ทำคล้ายอุโมงค์น้ำที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำไปบ้างแล้ว แต่การทำระบบอุโมงค์เชื่อมยังทำได้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด

เนื่องจากยังติดประเด็นปัญหาการเวนคืนที่ดิน ถึงจะถูกกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะถูกเวนคืนไว้แล้ว แต่หากเอกชนไม่พอใจในราคาค่าเวนคืนที่รัฐกำหนด เจ้าของที่ดินมีสิทธิ์ร้องขอต่อศาล ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่ฟ้องศาลกันอยู่ ซึ่งทำให้กระบวนการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำยังทำต่อเชื่อมทะลุไปไม่ได้ ทำให้ติดกระบวนการเหล่านี้ด้วย

อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องน้ำที่ต้องเชื่อมโยงกับระบบระบายน้ำ บางครั้งท่อเดิมมีอยู่แล้ว แต่ทำมาแล้วหลายปี ขนาดท่ออาจจะเล็ก ต้องไปปรับเปลี่ยน ปัญหาจะมีหลายมิติ ต้องไปเก็บจุดที่เป็นปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ ถ้าตัวโครงการระบายน้ำที่กรมโยธาฯวางแผนไว้ ถ้าสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถช่วยระบายน้ำในตัวเมืองป่าตอง

และอำเภอเมืองภูเก็ต ลงทะเลได้ เพราะภูมิประเทศเอื้อในการระบายน้ำทิ้งลงทะเลอยู่แล้ว เพียงตอนนี้โครงการวางอุโมงค์ระบายน้ำในเขตชุมชนเมืองเชื่อมต่อไม่ได้ ยังขึ้นศาลกันอยู่ ทำให้เกิดความล่าช้าส่วนหนึ่ง ซึ่งผมพยายามติดตามเร่งรัดอยู่ หากได้คำพิพากษาหรือแนวทางมาแล้ว เราจะได้เดินหน้าต่อไปได้

จากข้อมูลที่รับทราบปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 วันที่ฝนตกหนักวัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 200 กว่ามิลลิเมตร ซึ่งในปีนี้หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดก็ประสบปัญหาปริมาณน้ำค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน

ซึ่งส่วนหนึ่งจากปัญหาภาวะโลกร้อน ทำให้ปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยในเกือบทุกพื้นที่ และคาดว่าประเทศไทยจะประสบปัญหาลักษณะนี้ถี่มากขึ้น จากที่เกิดในรอบ 10 ปี ต่อไปอาจจะมาทุกปีก็มีความเป็นไปได้

Q : เตรียมรับมือปริมาณฝนที่มากขึ้นอย่างไร

กรมโยธาฯเหมือนปลายน้ำ เรามาป้องกันปลายเหตุ เพื่อมาป้องกันระดับหนึ่งเท่านั้นเอง จะทำเขื่อนเป็นกำแพงสูงขึ้นไปก็ไม่ได้ ต้องประสานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน ฯลฯ

ซึ่งต้องน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาดำเนินการ ต้องทำตั้งแต่บนผืนป่าต้นน้ำชะลอการกักเก็บน้ำ ทำแก้มลิง ทำฝายที่ชะลอความชุ่มชื้น ปลูกป่า ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องทำควบคู่กันไป

Q : ข้อกำหนดที่จะใช้บังคับเรื่องผังน้ำในผังเมืองฉบับใหม่

ผังน้ำเป็นภารกิจของกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ได้กำหนดผังน้ำอยู่ในผังเมืองด้วย เพื่อเพิ่มระดับการป้องกันปัญหาน้ำท่วมในระยะยาว

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) สทนช.เองมีภารกิจต้องทำผังน้ำเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องสอดคล้องกัน ขณะนี้พยายามเร่งทำ ซึ่งผังน้ำของ สทนช.น่าจะใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งผังเมืองรวมเองจะใช้ผังน้ำของ สทนช.เป็นผังแม่บท ในการที่จะทำควบคู่กันไป

ตามหลักการ หากพื้นที่ตรงบริเวณนั้นเป็นพื้นที่น้ำหลาก หรือเป็นพื้นที่แก้มลิง ทางกรมโยธาฯต้องมีข้อกำหนดอะไรบางอย่างที่จะทำให้การก่อสร้างหรือการพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นไม่ไปขวางทางน้ำ หรือไปทำให้ไม่มีพื้นที่แก้มลิงเก็บน้ำ แต่ไม่ใช่ไปลิดรอนสิทธิ 100%

ต้องหาความสมดุลระหว่างการลิดรอนสิทธิ 100% กับการที่ไม่ลิดรอนสิทธิอะไรเลย แล้วทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม อันนี้เป็นสิ่งที่จะต้องกำหนดอยู่ในผังน้ำเช่นเดียวกัน

Q : ถ้าจำเป็นต้องลิดรอนสิทธิหากไม่ขวางทางน้ำ

การลิดรอนสิทธิในพื้นที่นั้น เจ้าของที่ดินยังก่อสร้างในพื้นที่นั้นได้ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องสร้างอาคารใต้ถุนสูง ถมดินได้ไม่เกินเท่าไหร่ หรือถมที่แล้วต้องมีพื้นที่รับน้ำปริมาณเท่าไหร่ ตรงนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดในแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ตามแผนภายในปี 2566 ต้องมีผังน้ำระดับภาค และผังน้ำระดับประเทศ ออกมาแล้วว่า

ตรงไหนเป็นพื้นที่แก้มลิง เป็นพื้นที่น้ำหลาก ใครจะมาซื้อที่ดินบริเวณนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดข้อกำหนดว่า ห้ามทำอะไร สำหรับเงื่อนไขข้อห้ามที่ต้องปฏิบัติจะกำหนดลงในผังเมืองรวมชุมชนออกมาเป็นผังเล็กละเอียดลงไปจะระบุชัดเจน โดยต้องดูบริบทแต่ละพื้นที่