โต๊ะจีน นครปฐมกำลังซื้อต่ำ วอนรัฐพยุงต้นทุน-แรงงานขาด

โต๊ะจีน

เริ่มฟื้นตัวกลับมาแล้วสำหรับธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม ซึ่งถือเป็นศูนย์รวมธุรกิจโต๊ะจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในยุคที่รุ่งเรืองเคยประเมินรายได้กว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ธุรกิจโต๊ะจีนเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักหนาสาหัส

แม้หลังจากโควิด-19 คลี่คลายลูกค้าต่างเริ่มกลับมาจัดงานเลี้ยงต่าง ๆ นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 แต่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ สถานการณ์ก็ถือว่าดีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเริ่มประสบปัญหาต้นทุนพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน แก๊ส และค่าไฟ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อค่าแรง การขนส่ง รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบทุกอย่างปรับตัวพุ่งทะลุ 100% สวนทางกับกำลังซื้อที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ

ลูกค้าจัดเลี้ยงสุดประหยัด

“ประพฤติ อรรฆธน” ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม และเจ้าของธุรกิจโต๊ะจีนยุทธพงษ์โภชนา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 ผู้ประกอบการก็เริ่มกลับมามีงานทำในงานเทศการและการจัดเลี้ยงต่าง ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แต่ยังคงเป็นงานเลี้ยงที่ไม่ใหญ่มากนัก ขั้นต่ำ 5-10 โต๊ะ/งาน เฉลี่ยมากสุดประมาณ 20-50 โต๊ะ/งาน งานใหญ่ระดับ 100 โต๊ะขึ้นไปแทบไม่มี

และที่เป็นปัญหาใหญ่ในตอนนี้ คือต้องสู้ราคากับวัตถุดิบที่แพงขึ้น 50-100% ย้ำว่าทุกประเภท และส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเกรด A โดยเฉพาะอาหารทะเลที่ไม่เคยราคาสูงเท่านี้มาก่อน เช่น เนื้อปู กุ้ง ปลา ที่มาจากภาคใต้ นอกจากนี้ราคาหมู ราคาไก่ ก็สูงขึ้นไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างราคาหมูที่เคยซื้อได้ 120 บาท/กก. เพิ่มขึ้นเป็น 200 กว่าบาท/กก.

“ขณะที่ทุกอย่างแพงขึ้น เรากลับไม่สามารถอัพเดตราคาการขึ้นตามได้มากนัก เพราะลูกค้าจะบอกว่าแพงและไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ลูกค้าต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อจัดงานเลี้ยงให้ประหยัดที่สุด อย่างงานแต่งงานที่เคยเลี้ยงแขกช่วงเช้าช่วงเย็น

ตอนนี้ต้องการจัดแบบกระชับและเลี้ยงแขกช่วงเดียวจบ มีลูกค้าเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมจ่ายและเข้าใจถึงสถานการณ์ มีผู้ประกอบการบางรายที่รับเงินมัดจำเตรียมจัดโต๊ะล่วงหน้าจากลูกค้าไว้ก่อน พอสินค้าราคาพุ่งก็จัดโต๊ะให้ลูกค้าไม่ได้ เพราะรายรับไม่พอจ่าย อยู่ไม่ไหวต้องเลิกกิจการและถูกแจ้งความดำเนินดีก็มี”

ค่าจ้างแพง-แรงงานขาด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจโต๊ะจีนในจังหวัดนครปฐมที่เคยสำรวจไว้เพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลช่วงที่โควิด-19 ระบาดมีอยู่ประมาณ 228 ราย แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่าเหลือเท่าไหร่แล้ว เท่าที่เห็นล้มกิจการไม่ต่ำกว่า 20% ขณะเดียวกันก็เริ่มฟื้นตัว แต่ต้องรอดูอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ปัจจัยที่ทำให้วัตถุดิบราคาสูงมีทั้งราคาน้ำมันแพง เรือประมงออกจับสัตว์น้ำไม่ได้ เรือจากต่างประเทศที่เราต้องซื้อวัตถุดิบก็เข้าเทียบท่าน้อยลง และไปเทียบท่าที่ทวายมากกว่า คนไทยจึงต้องรับภาระขนส่งเองแล้วบวกค่าขนส่งเพิ่มขึ้น เมื่อนำมาปรุงเป็นวัตถุดิบค่าแก๊สหุงต้มค่าไฟก็แพงอีก

นอกจากนี้ค่าแรงพนักงานยังสูงขึ้นด้วย แรงงานบางส่วนหายไปช่วงโควิด-19 และยังไม่สามารถหาแรงงานมาทดแทนได้เต็มจำนวน โดยการจ่ายค่าแรงจะไม่คิดเหมาจ่ายเป็นรายวันตามค่าแรงขั้นต่ำเหมือนอดีต แต่จะคิดราคาที่ 120-150 บาท/โต๊ะ/งาน/วัน หรือแล้วแต่กรณีตามความยากง่าย เช่น จัดโต๊ะอยู่บนห้องโถงชั้น 2 ราคาบวกเพิ่มขึ้นอีก 20 บาท/โต๊ะ ชั้น 3 บวกเพิ่มอีก 40 บาท/โต๊ะ เป็นต้น

ยกตัวอย่างแรงงานที่เป็นพนักงานเสิร์ฟ 1 คน จะเสิร์ฟอาหารประมาณ 9-10 โต๊ะ หรือแล้วแต่กรณี หากต้องเดินทางไปต่างจังหวัดด้วยค่าแรงจะบวกเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่า ผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าเดินทางให้พนักงานด้วย คล้ายว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพพิเศษที่ใครทำก็ได้ มีข้าว มีอาหารให้กินฟรี แต่พอส่งเรื่องไปยังจัดหางานจังหวัดกลับไม่มีคนทำ

โต๊ะจีน

วอนรัฐลดหย่อนภาษี

สำหรับยุทธพงษ์โภชนา ตอนนี้มักถูกจ้างจัดเลี้ยงส่วนใหญ่ไม่เกิน 50 โต๊ะ/งาน เนื่องจากช่วงโควิด-19 ลูกค้าก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ตัวอย่างงานเลี้ยงบริษัท จะจัดเลี้ยงในราคาย่อมเยาหรือลดขนาดลงกว่าที่ผ่านมา ใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น และลูกค้ารวมทั้งผู้ประกอบการจัดโต๊ะจีนก็ยังต้องป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด 100% เหมือนเดิม จึงไม่จัดงานเลี้ยงใหญ่โตเท่าไหร่ เฉลี่ยงานต่อเดือนยังไม่แน่นอน

“ประพฤติ” กล่าวว่า ยุทธพงษ์โภชนารับจัดโต๊ะจีนทุกงานทุกขนาดตั้งแต่ 5 โต๊ะขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานเลี้ยงสังสรรค์ งานบวช หรืองานศพ ราคาตามคุณภาพเริ่มต้นที่ 2,200 บาท/โต๊ะ แต่ถ้าระยะทางไกลต้องเพิ่มค่าขนส่งอีก บางงานกำไรน้อยหน่อยแต่ต้องทำเพื่อต่อเส้นเลือดธุรกิจเลี้ยงตัวเองให้ได้ก่อน

“2 ปีที่ผ่านมาแย่มาก ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหรือโควิด-19 กลับมาอีกธุรกิจคงล่มสลาย เราทำธุรกิจรับจัดโต๊ะจีนร่วมกับพ่อครัวและทีมงานมานานกว่า 20-30 ปี ถ้าต้องหันมาทำดีลิเวอรี่หรือปรับเปลี่ยนเราไม่ถนัดและไม่มีความสามารถมากพอ แม้ตอนนี้วัตถุดิบจะแพงขึ้นก็เข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด เราผ่านวิกฤตมาแล้วและเรียกร้องหรือขออะไรก็ไม่ได้รับการตอบรับเลย แต่ตอนนี้แค่อยากให้รัฐบาลช่วยเก็บภาษีน้อยลงหน่อยให้อยู่ได้ก่อน ขอความกรุณาลดหย่อนให้เราบ้าง”

ผู้ประกอบการเริ่มฟื้น 60%

ด้าน “สุชาดา คำใหญ่” กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครปฐมแคทเทอริ่ง แอนด์ ออร์กาไนเซอร์ จำกัด หรือแคทเทอริ่ง โต๊ะจีน หนึ่งในผู้ประกอบการโต๊ะจีนนครปฐม ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้สถานการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจโต๊ะจีนดีขึ้น ลูกค้าเริ่มจัดงานแต่งงาน จัดเลี้ยงบริษัท

รวมถึงงานเลี้ยงหน่วยงานราชการ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นมา กระแสเดือนธันวาคม 2565 ค่อนข้างดีขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการโต๊ะจีนน่าจะฟื้นกลับมาได้แล้วประมาณ 60% ทุกคนล้วนมีงาน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จัดงานเพียง 40-80 โต๊ะ/งาน ซึ่งถือว่ายังน้อย

“แต่ก่อนนครปฐมแคทเทอริ่งจะได้ลูกค้ากลุ่มโรงงานเยอะมาก หลังจากโควิด-19 บริษัทบางแห่งที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมานานนับปีก็มีข้อจำกัดในการจัดเลี้ยงพนักงาน เช่นเดียวกับงานแต่ง งานบวช ที่จัดเป็นงานขนาดเล็ก คนยังไม่มีเงินใช้จ่ายไปกับการจัดเลี้ยงมากนัก

โดยภาพรวมธุรกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ในปี 2566 งานเลี้ยงที่เห็นได้ชัดว่ามีแนวโน้มจะถูกจัดมากที่สุดน่าจะเป็นงานแต่งงาน ลูกค้าบางคนเคยเลื่อนจัดไป 3-4 รอบเริ่มกลับมาและคาดว่าปลายปีนี้งานแต่งงานจะพีกที่สุด”

ปี’66 ขอรัฐคุมราคาวัตถุดิบ

“สุชาดา” เผยว่า ไฮซีซั่นของธุรกิจโต๊ะจีนจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงปลายเดือนมีนาคม เฉลี่ยปกติผู้ประกอบการจะรับงาน 400-500 โต๊ะ/เดือน เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายนการจัดเลี้ยงหรือจัดงานสังสรรค์ถึงจะจางลง แต่ช่วงที่กำลังฟื้นตัวสถานการณ์ไม่แน่นอน อย่างนครปฐมแคทเทอริ่งที่รับจัดงานครอบคลุมอยู่ในโซนภาคกลางกับภาคตะวันออก

ตอนนี้มีสัดส่วนการจัดโต๊ะจีนอยู่ที่ประมาณ 80% ราคาเริ่มต้น 2,000-5,500 บาท/โต๊ะ ขึ้นอยู่จำนวนโต๊ะและต้นทุนวัตถุดิบ เช่น เริ่มต้นที่ 5 โต๊ะซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากจะบวกค่าบริการขนส่งเพิ่มหรือตามที่ตกลงกันกับลูกค้า ส่วนที่ปรับตัวส่งแบบดีลิเวอรี่ ช่วงโควิด-19 เหลือเพียง 20% ซึ่งขายเป็นชุดอาหารสำหรับ 2-3 โต๊ะ และสัดส่วนน่าจะลดลงเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกันมีปัญหาค่าครองชีพและราคาวัตถุดิบอาหารที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผักใช้ปรุงอาหาร 10 โต๊ะแต่ก่อนราคาประมาณ 1,000 บาท ตอนนี้ขยับขึ้นเกือบ 2,000 บาท ราคาขาหมูที่เคยเป็นต้นทุนต่ำสุดของผู้ประกอบการตอนนี้แพงขึ้น 2 เท่า ปกติขาหมูทอดกรอบ 3 รสจะเป็นอาหารขึ้นชื่อของแคทเทอริ่งโต๊ะจีน และมักจะเชียร์ลูกค้าสั่งตลอด ตอนนี้ต้องบอกลูกค้าก่อนว่าขอปรับราคาขึ้นตามต้นทุน ราคาค่าแรงของพนักงานก็เริ่มขยับขึ้นตามด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนเสิร์ฟอาหารหรือเด็กยกโต๊ะ

“ตอนนี้ผู้ประกอบการโต๊ะจีนไม่ได้มีกำไรเหมือนสมัยก่อน เพราะต้องแบกรับราคาต้นทุนสูงหลังจากโควิด-19 พ่อค้าแม่ค้าบางคนก็ฉวยโอกาสขึ้นราคา อยากให้รัฐบาลคุมราคาต้นทุนวัตถุดิบให้ได้และสร้างมาตรฐานเรื่องราคา ตลอดจนค่าขนส่ง ค่าน้ำมันด้วย”