ค่าฝุ่น PM 2.5 อีสาน พุ่งสูงเกินอันดับหนึ่ง ภาคเหนือรุนแรงสุดที่เชียงใหม่

หมอกควัน

ฝุ่น PM 2.5 ภาคอีสานเฉลี่ยเกินค่ามาตรฐานขึ้นอันดับหนึ่ง ตรวจวัดได้ 57-158 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ภาคเหนือ 119 ไมโครกรัม/ลบ.ม. เชียงใหม่สูงสุด 161 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ภาคใต้ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 17 – 28 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 จากรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย จากกองจัดการคุณภาพและเสียง กรมควบคุมมลพิษพบว่าแต่ละภูมิภาคมีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 62-139 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สุมทรปราการ สทุรสาคร และนครปฐม

ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ตรวจวัดได้ 43-119 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และจังหวัดในภาคเหนือที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง แบ่งออกเป็น เชียงราย, เชียงใหม่, ลำปาง, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน, น่าน, แพร่, พะเยา, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, อุทัยธานี

ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 57-158 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง แบ่งออกเป็น บุรีรัมย์, มุกดาหาร, ขอนแก่น, นครราชสีมา, เลย, หนองคาย, อุบลราชธานี, นครพนม, สกลนคร, อุดรธานี, บึงกาฬ, ร้อยเอ็ด, ศรีสะเกษ, กาฬสินธุ์, หนองบัวลำภู, ชัยภูมิ

ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 48-110 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง แบ่งออกเป็น ประจวบคิรีขันธ์, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี, ต.ปากเพรียว อ.เมือง จ.สระบุรี, ราชบุรี, กาญจนบุรี, สมุทรสงคราม, สุพรรณบุรี, ลพบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง

โดยภาคตะวันออกเกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 40-79 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง แบ่งออกเป็น ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, ปราจีนบุรี และภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 17-28 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

อย่างไรก็ตามประชาชนทั่วไป ควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น โดยผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์

ขอนแก่นฝุ่นจากการเผาอ้อยหนักสุด

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาเรื่องค่าฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดขอนแก่นเกิดจากสาเหตุหลักคือเผาพืชทางเการเกษตร โดยเฉพาะการเผาไร่อ้อย ซึ่งตอนนี้มีปัญหาขาดแคนแรงงานตัดอ้อยด้วยเกษตรจึงเผา

ปัญหาเหล่านี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วแต่ยังไม่สามารถแก้ไขอย่างเป็นรูปประธรรม เพราะหากจะให้ได้ผลต้องปรับทั้งระบบ หลายองค์ประกอบมีปัญหาเต็มไปหมด บางพื้นที่เมื่อต้องการใช้เครื่องจักรก็ยังไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องเริ่มตั้งแต่การปลูก ปรับปรุงพื้นที่ เว้นระยะการปลูกให้เหมาะสม และที่จะช่วยแก้ปัญหาดีที่สุดคือเรื่องราคา การซื้ออ้อยที่ถูกเผากับอ้อยที่ตัดสดจะต้องต่างกันมากพอสมควร เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตร

“จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยเห็นโรงงานที่จังหวัดชัยภูมิ ใช้เรื่องราคาอ้อยเผากับอ้อยไม่เผามาแก้ปัญหาได้ แม้จะต้องใช้เวลานานให้เกษตรกรปรับและใช้เครื่องจักรแทนคน แต่ถือว่าได้ผลดีจนอ้อยเผาเหลือไม่ถึง 5% ของพื้นที่ จังหวัดขอนแก่นก็น่าจะเอาแนวทางดังกล่าวมาวางรากฐานปฏิบัตเช่นกัน”

นายไกรสรบอกว่า ตอนนี้กำลังเตรียมจะพูดคุยหารือกับโรงงานน้ำตาลในพื้นที่เพื่อให้ทั้งหมดให้เป็น Zero waste ทำของเสียจากอ้อยให้เป็นศูนย์ ถ้าเป็นไปได้ทางโรงงานต้องเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง ซึ่งใบอ้อยนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานผลิตไฟฟ้าได้เหมือนชานอ้อย แต่จุดรับซื้อใบอ้อยยังมีไม่มาก

ประเด็นสำคัญอีกอย่างคือการรวบรวมใบอ้อยมาอัดเป็นก้อนเหมือนฟางข้ามต้องใช้เครื่องจักรราคาแพง เกษตรกรธรรมดาไม่มีต้นทุนพอทำได้

“เราต้องดำเนินการตามแนวทางของรัฐบาล และกำลังเชิญทุกหน่วยงานในจังหวัดมาคุยกันในเร็ว ๆ นี้ เบื้องต้นสั่งให้ทุกอำเภอตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในท้องถิ่นไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว หากมีไฟไหม้ให้นำรถดับเพลิงเข้าไปก่อน ส่วนเรื่องกรณีไร่อ่อยเกษตรควรจะต้องเริ่มปรับตั้งแต่การปลูกเลย”

ฝุ่นควันคลุมทึบเชียงใหม่ จี้รัฐเร่งคุมพื้นที่เผาป่า

สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาบนพื้นที่สูงยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยในวันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2566) คุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ พบว่า PM 2.5 รายนาที อยู่ที่ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร

อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพอากาศ USAQI ณ เวลา 14.00 น. อยู่ที่ 161 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์กเมตร ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 10 ของเมืองที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุดของโลก

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มี 3 ปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้จังหวัดเชียงใหม่ต้องตกอยู่ในสภาวะคุณภาพอากาศแย่ในช่วงตลอดสัปดาห์นี้คือ 1.สภาพอากาศที่แห้งและแล้ง 2.กระแสลมจากทางใต้ที่พัดมาจากภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ 3.การเผาในพื้นที่ป่า (แปลงใหญ่) ซึ่งเกิดไฟในพื้นที่ป่าอุทยานฯและป่าอนุรักษ์

ทั้งนี้ การเผาในพื้นที่ป่า อุทยานและป่าอนุรักษ์ เป็นการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของหน่วยงานภาครัฐโดยตรง ที่ควรต้องจัดการให้เร็ว รอบคอบและกระชับ แต่ยังไม่สามารถควบคุมพื้นที่การเผาได้ โดยเฉพาะไฟป่าในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และอุทยานแห่งชาติออบหลวง เกิดไฟป่ามาต่อเนื่องตั้งแต่ 2-3 วันที่ผ่านมา

สำหรับข้อเรียกร้องของสภาลมหายใจภาคเหนือ ต้องการให้ภาครัฐลดพื้นที่การบริหารจัดการเชื้อเพลิงลง โดยซอยพื้นที่แปลงใหญ่ให้เป็นแปลงเล็ก และบริหารจัดการเชื้อเพลิงให้จบภายในตอนเย็น ไม่ปล่อยลามไปถึงช่วงกลางคืนที่เป็นช่วงที่อากาศเย็นซึ่งจะทำให้เกิดฝุ่นควันมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้เกิดการเผาในพื้นที่แปลงใหญ่เพื่อให้ได้งบประมาณในการบริหารจัดการ ซึ่งหากสถานการณ์ฝุ่นควันยังคงรุนแรงและวิกฤตเพิ่มขึ้น ก็ควรต้องหยุดและทบทวน

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาฝุ่นควันในปีนี้ (2566) รอยต่อของไฟป่าต้องหมดไป โดยจะเชิญ 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน มาร่วมประชุมหารือไม่ให้มีไฟรอยต่อระหว่างจังหวัด ที่ต้องระวังไม่ให้เกิดการเผา หรือเผาน้อยที่สุด

โดยจังหวัดเชียงใหม่มีข้อสั่งการคือ ห้ามเผาในเขตป่า ห้ามเผาในเขตชุมชน และเพิ่มรถเข้าไปเก็บขยะในพื้นที่ชุมชน เป็นต้น