ชาวสวนจันท์ร้องศาลปกครองเลิกแบนพาราควอต ชี้ยิ่งห้ามใช้มีขายใต้ดินเกลื่อน

สารเคมี

เกษตรกรสวนผลไม้จันทบุรีผนึกเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ล่ารายชื่อร้องศาลปกครองเลิกแบน “พาราควอต” เหตุได้ผลดี-ราคาถูก ขณะที่สารทดแทน “กลูโฟสิเนต” ราคาแพงกว่าเท่าตัว เผยยิ่งห้ามใช้มีขายใต้ดินเกลื่อน

วันที่ 7 มีนาคม 2566 กรณีการแบน 3 สารเคมีอันตรายทางการเกษตร พาราควอต (Paraquat) คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos) และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต (Glyphosate) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อปกป้องอันตรายสุขภาพเกษตรกร ตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และมีผลบังคับใช้ และตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 มีมติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 เห็นชอบให้ยกเลิกการจำหน่ายและยกเลิกในประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 และมีการนำเข้ากลูโฟสิเนต (Glufosinate) ทดแทนพาราคาควอตนั้น

นายสมชาย ลินจง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เจ้าของทุเรียน GI ทองลินจง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ได้ลงพื้นที่ จ.จันทบุรี นัดประชุมหารือเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อเรียกร้องให้นำพาราควอตกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

สารเคมี

เนื่องจากเกษตรกรยังมีความจำเป็นที่ต้องใช้ เพราะพาราควอตเป็นสารกำจัดหญ้าที่ได้ผลดี และมีราคาถูก ในขณะที่สารกลูโฟสิเนตที่นำเข้ามาทดแทนราคาแพงกว่า และต้องใช้ปริมาณมากกว่า ทำให้ต้องซื้อ-ขายพาราควอตกันหลังร้านในราคาที่สูงขึ้น และเกษตรกรเองไม่มั่นใจคุณภาพ เพราะไม่มีฉลากปิด ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนในเรื่องต้นทุน เพราะปัจจัยการผลิตทุกอย่างแพงขึ้นหมด เช่น ค่าจ้างแรงงาน ค่าปุ๋ย น้ำมัน และยังได้ผลผลิตน้อย เนื่องจากสภาวะอากาศ

“ช่วงที่จะมีการแบน 3 สาร เกษตรกร จ.จันทบุรี ไม่เห็นด้วย และมีการรวมกลุ่มกันมาคัดค้านที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ได้มีประกาศห้ามจำหน่ายและห้ามนำเข้า” นายสมชายกล่าว

ADVERTISMENT

แหล่งข่าวจากเกษตรกรสวนผลไม้ ใน จ.จันทบุรี และ จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในลักษณะเดียวกันว่า สารเคมีพาราควอตที่ใช้กำจัดหญ้ามีความสำคัญ ส่วนใหญ่เกษตรกรต้องการใช้เพราะไม่มีแรงงานมาตัดหญ้าและค่าแรงงานแพง และถ้าเป็นสวนใหญ่ขนาด 50 ไร่ขึ้นไป จะทำไม่ทัน จำเป็นต้องทำการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า แม้ว่าพาราควอตจะห้ามจำหน่าย แต่สามารถซื้อได้ตามร้านค้าที่ซื้อเป็นประจำ เป็นสารใต้ดินมีขายเกลื่อน ซึ่งราคาจะแพงกว่าที่เคยอนุญาตให้จำหน่ายได้ และภาชนะที่บรรจุจะไม่ใช้ของพาราควอต เป็นฉลากสารเคมีอื่น ๆ

เช่น กล่องยาฆ่าแมลง ที่อนุญาตให้จำหน่ายปิดทับ จึงไม่มีฉลากอธิบายกำกับวิธีการใช้ อัตราส่วนประกอบ ทำให้เกษตรกรไม่เชื่อมั่นในคุณภาพและไม่แน่ใจว่าเป็นของจริงหรือไม่ ส่วนกลูโฟสิเนตสารใหม่ที่นำเข้ามาทดแทนจะมีราคาแพงกว่าพาราควอต 3-4 เท่า และอัตราการใช้ต้องใช้ปริมาณมากกว่าเท่าตัว และประสิทธิภาพน้อยกว่าพาราควอต

ADVERTISMENT

“ราคาพาราควอตเดิมก่อนห้ามจำหน่าย แกลลอน (5 ลิตร) ละ 500 บาท เมื่อห้ามราคา 600-700 บาท ขณะที่ราคาสารทดแทนกลูโฟสิเนต แกลลอนละ 1,200-1,4000 บาท และอัตราการผสม พาราควอต 5 ลิตรต่อน้ำ 1,000 ลิตร กลูโฟสิเนตใช้ 10 ลิตร ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ตอนนี้ทั้งค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี โดยเฉพาะค่าแรง ปกติวันละ 400 บาท คนตัดหญ้า 400-600 บาท ค่าโยงทุเรียนก่อนนี้ต้นละ 100-120 บาท ตอนนี้ 300-400 บาท ค่าพ่นยา 500 บาท ถ้าทุเรียน กก.ละ 50 บาท จะอยู่ไม่ได้ แต่อย่ามองแต่สวนทุเรียนมีรายได้สูงอย่างเดียว ยังมีผลไม้อื่น ๆ พืชอื่น ๆ ที่ไม่ได้ราคาอย่างทุเรียน แต่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 10% จากเดิม 30%” แหล่งข่าวจากเกษตรกรกล่าว

ทางด้านนายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เจ้าของเพจทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พืชสวนประเภทผลไม้มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้าพาราควอต แต่ไม่มากเท่าพืชไร่ อ้อย มันสำปะหลัง แต่การแบนสารพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และกำจัดการใช้สารไกลโฟเซต และมีสารกลูโฟสิเนตทดแทนพาราควอตนั้น

สารเคมี

มีผลกระทบคือ 1) พาราควอตมีราคาแพงขึ้น ส่วนสารที่มาทดแทน ราคาแพง ต้องใช้ปริมาณมากกว่า ทำให้ต้นทุนเกษตรกรสูงขึ้น 2) การลักลอบขายสารที่แบน โดยไม่ปิดฉลากสินค้าที่มีคำเตือน หรือข้อมูลเสี่ยงต่อของปลอมที่ไม่มีประสิทธิภาพ

และ 3) ไกลโฟเซตและกลูโฟสิเนต ปัญหาฉีดแล้วไม่ตาย ยังไม่มีสารตัวใหม่ที่มีคุณภาพเท่าพาราควอต ที่สำคัญ เกษตรกรที่ทำสวนมา 30-40 ปี ไม่เชื่อว่าพาราควอตจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้ใช้ และตกค้างในดิน น้ำ เป็นผลกระทบต่อผู้บริโภคเจ็บป่วย ยกเว้นผู้ใช้มีแผล หนอง สิ่งสำคัญเรื่องการแบนสารควรให้เรื่องจบไป แต่ต้องหาสารตัวใหม่ที่ใช้กับพืชใบเลี้ยงคู่อย่างผลไม้ต่าง ๆ ที่ราคาไม่แพงกว่ามาทดแทน

“ปัญหาที่ไม่ตอบโจทย์ คือ กลูโฟสิเนตที่มาทดแทน ราคาแกลลอนละ 1,300-1,400 บาท ใช้ไม่ได้ผล เหมือนพาราควอตแกลลอนละ 700-800 บาท ทำให้รอบการใช้บ่อยขึ้น จาก 1 เดือนต่อครั้ง มาเป็น 15 วันต่อครั้ง และไกลโฟเซต ที่จำกัดการใช้มีในสต๊อกเริ่มหมดแล้ว จึงเป็นการเร่งให้เกษตรกรต้องใช้กลูโฟสิเนตที่ต้นทุนสูง การแบนสาร 3 สารน่าจะจบไปแล้ว แต่ปัญหาคือ เกษตรกรเรียกร้อง เพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้อยู่ ทั้งพาราควอต คลอร์ไพริฟอส เพราะยังไม่มีสารตัวอื่นมาทดแทนได้

ตอนนี้พาราควอตราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว แกลลอนละ 700-900 บาท จากเดิม 400-500 บาท คลอร์ไพริฟอส ราคา 700 บาท จากเดิม 350 บาท ร้านค้าส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายจะไม่ติดฉลาก ทำให้ไม่แน่ใจว่าเป็นพาราควอตแท้หรือไม่ และกลูโฟสิเนตราคาแกลลอนละ 900-1,400 บาท 1 ปีฉีด 3-4 รอบ พื้นที่ 100 ไร่ มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะการตัดหญ้าทำไม่ทัน แต่ละรอบใช้เงิน 80,000 บาท เป็นต้นทุนสูงมาก” นายสัญชัยกล่าว