เปิดประมูลที่ดิน ม.เอเชียน ใจกลางอีอีซีราคาพุ่งพันล้าน

มหาวิทยาลัยเอเชียน
เครดิตภาพ: เฟสบุ๊คเพจ Asian University

เปิดประมูลที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง มหาวิทยาลัยเอเชียน เนื้อที่ 410 ไร่ ใจกลางเขตพัฒนาพิเศษ
ภาคตะวันออก หลัง AREA ทำการประเมินราคาเริ่มต้น 1,139 ล้านบาท ด้านผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม WHA ติงราคาประเมินสูงเกินไป หากลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมจะไม่คุ้ม สอดคล้องกับ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ เห็นว่า ราคาที่ในอดีตถูกกว่านี้มาก

แวดวงนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังจับตามองการเปิดประมูลแบบยื่นซองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมหาวิทยาลัยเอเชียน ชลบุรี เนื้อที่ 410-0-83.3 ไร่ ติดทางสาธารณประโยชน์แยกจากถนนสายสัตหีบ-ฉะเชิงเทรา ทางหลวงหมายเลข 311 หลักกิโลเมตร 18+300 นับเป็นที่ดินผืนงามที่อยู่ใจกลาง EEC

AREA ประเมิน 1,139 ล้าน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า บริษัท ควอลิตี้ อ๊อกชั่น จำกัด (QA) ได้ออกประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมประมูลที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมหาวิทยาลัยเอเชียน ชลบุรี เนื้อที่ 410-0-83.3 ไร่ ตามผังเมืองจัดอยู่ในเขตสีส้มประเภทชุมชนเมือง และอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่แปลงนี้เหมาะสำหรับการพัฒนาทำโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ

หรือสำหรับซื้อลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในโครงการ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการเสนอขายที่ดินแปลงนี้ บริษัท อิมพีเรียล เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้แต่งตั้งให้ บริษัท ควอลิตี้ อ๊อกชั่น ใช้วิธียื่นซองประมูลราคาในการขาย

ทั้งนี้ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด หรือ AREA ได้ทำการประเมินราคา ณ วันที่ 26 มกราคม 2566 ไว้ที่ราคา 1,139,570,000 บาท โดยการประมูลจะเริ่มประมูลราคาแบบไม่มีราคาขั้นต่ำ เพื่อให้ผู้สนใจจะซื้อกำหนดได้ สามารถกรอกแบบฟอร์มและยื่นซองประมูลราคาในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม 2566 เวลา 09.00-15.00 น. ณ ที่ทำการสำนักงาน บริษัท อิมพีเรียล เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

สำหรับรายละเอียดของที่ดิน 410 ไร่ มีระยะห่างจากสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา 19.31 กม. นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 38 กม. สวนนงนุช 12.23 กม. พระพุทธรูปเขาชีจรรย์ 10.94 กม. วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร 8.36 กม. และสถานีตำรวจห้วยใหญ่ 1.8 กม.

ส่วนบริษัทเจ้าของกรรมสิทธิ์คือ บริษัท อิมพีเรียล เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 3,549,400,000 บาท แจ้งวัตถุประสงค์การจดทะเบียนส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ส่งงบการเงินสุดท้ายปี 2560 สถานะนิติบุคคล “เลิก”

สอดคล้องกับ มหาวิทยาลัยเอเชียน ที่ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวก็ได้แจ้งเลิกกิจการมหาวิทยาลัย ตามราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สกอ.1433/2560 เรื่องให้เลิกกิจการมหาวิทยาลัยเอเชียน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2560 หลังจากเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2540 โดยชื่อเดิมของมหาวิทยาลัยเอเชียน ก็คือ มหาวิทยาลัยวิทยศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเซียน

นิคมติงราคาสูงเกินไป

ด้าน นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานเรื่องการเชิญประมูลที่ดิน 400 ไร่ ของมหาวิทยาลัยเอเชียนแล้ว “แต่เรายังไม่สนใจ” เนื่องจากหากคำนวณจากพื้นที่ 400 ไร่ ตามราคาที่แนะนำมา จะเฉลี่ยเป็น 2.7 ล้านบาท/ไร่

หากนำมาพัฒนาเป็น “นิคมอุตสาหกรรม” จะสามารถใช้เพื่อขายได้ประมาณ 65 ถึง 70% ของพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ส่วนที่เหลือจะถูกกันให้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง เท่ากับว่าหากนำที่ดินมาทำนิคม ต้นทุนราคาเฉพาะที่ดินเริ่มที่ 2 ล้านกว่าต่อไร่แล้ว

และยังไม่รวมค่าพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเข้าไปอีก ก็จะกลายเป็นต้นทุน 4 ล้านบาทต่อไร่ “ถือว่าสูงมาก” แต่ยังไม่รู้ว่าราคาที่กำหนดมา (ราคาประเมินโดย AREA ที่ 1,139,570,000 บาท) นั้น ต้องอิงราคานั้นหรือไม่

“เราดูแต่เท่าที่คำนวณมาเฉพาะที่ดิน ยังไม่รวมการพัฒนาสาธารณูปโภคก็ 2 ล้านกว่าบาทต่อไร่แล้ว จะสามารถขายได้อย่างไร เพราะราคามันแพง มีคนส่งข้อมูลมาเหมือนกัน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเข้าประมูล ที่ดินก็ 400 ไร่ ทำนิคมก็ทำยาก สำหรับราคาของที่ดินในนิคมแต่ละนิคม เราจะขายในอัตราที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่อุตสาหกรรมที่ลงทุน

เช่น ถ้าเป็นปิโตรเคมี ราคาอาจจะสูงมาก เพราะจะมีเรื่องสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นมาก แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไม่ต้องใช้อินฟราสตรักเจอร์มากนัก ราคาก็ไม่ได้แพง ดังนั้นราคาจึงเฉลี่ยกันไปตั้งแต่ 3 ล้านบาท ไปจนถึง 9 ล้านบาทต่อไร่” น.ส.จรีพรกล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เคยศึกษาพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเอเชียนดังกล่าวมาแล้ว และในขณะนั้นราคาขายต่อไร่ยังไม่สูงขนาดนี้ แต่ราคาประเมินปัจจุบันของ AREA นับว่าค่อนข้างแพงจากในอดีตค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากบริษัทจะเข้าร่วมการประมูลก็ต้องเสนอเรื่องเข้าบอร์ดเพื่อพิจารณาก่อน