จีนไล่ซื้อโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผุดคอมเพล็กซ์สันกำแพง

จีนไล่ซื้อโรงเรียน มหาวิทยาลัย ผุดคอมเพล็กซ์สันกำแพง
ภาพจาก pixabay

กลุ่มทุนจีนยังคงรุกหนักเชียงใหม่ เล็งซื้อโรงเรียน มหาวิทยาลัยเอกชน 4 แห่ง วางแผนอัพเกรดสู่ระดับนานาชาติ-ต่อยอดทำธุรกิจข้ามชาติในอนาคต เผยเตรียมกว้านซื้อที่ดินในอำเภอสันกำแพงอีก 400 ไร่ พัฒนาโครงการคอมเพล็กซ์ที่อยู่อาศัยครบวงจร ประธานหอการค้าฯ หวั่นธุรกิจเชียงใหม่ถูกกลืืน แนะภาครัฐเร่งใช้มาตรการด้านกฎหมายและภาษี คุมการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ

ยังคงเป็นกระแสที่ร้อนแรงสำหรับกลุ่มทุนจีนที่ตั้งใจปักหมุดลงทุนทำธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดมีแผนจะซื้อกิจการสถาบันการศึกษาของภาคเอกชนในระดับโรงเรียนและมหาวิทยาลัย

ทุนจีนเล็งซื้อ 4 โรงเรียนเอกชน

นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้ามาของทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มทุนจีนได้เข้ามาลงทุนทำธุรกิจ หรือซื้อกิจการในจังหวัดเชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งอสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรมการผลิต เช่น ธุรกิจหัตถกรรม (handicraft) เป็นต้น

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่อนคลายและมีการเปิดประเทศ การขับเคลื่อนของกลุ่มทุนจีนในจังหวัดเชียงใหม่ยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการเข้ามาลงทุนในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ล่าสุดพบว่ามีกลุ่มทุนจีนอยู่ระหว่างการทาบทามซื้อกิจการโรงเรียนเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่จำนวน 4 แห่ง รวมถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการรุกเข้าสู่ธุรกิจการศึกษาครั้งแรก โดยให้ความสนใจในธุรกิจนี้มาก เนื่องจากคนจีนที่มีกำลังซื้อสูงนิยมเดินทางมาเรียนหนังสือในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งระดับประถมฯและมัธยมฯ โดยเฉพาะโรงเรียนนานาชาติและมหาวิทยาลัย ส่งผลให้ดีมานด์ด้านที่อยู่อาศัยเติบโตตามไปด้วย

“คนจีนที่มีเงินมีอยู่จำนวนมาก เป็นตลาดค่อนข้างใหญ่มาก คนกลุ่มนี้จะนิยมส่งบุตรหลานมาเรียนที่เชียงใหม่ เพราะเดินทางสะดวก ทั้งการเชื่อมโยงด้านการบิน หรือ direct flight ระหว่างเชียงใหม่กับเมืองต่าง ๆ ในจีนก็บินไปมาสะดวก ใช้เวลาเดินทางแค่ 2-3 ชั่วโมง”

นอกจากจะส่งบุตรหลานมาเรียนในระดับนานาชาติแล้ว ยังพบว่าหลังจบการศึกษาก็มีการต่อยอดให้ทำธุรกิจในประเทศไทยด้วย เพื่อเชื่อมกับตลาดจีน เป็นลักษณะการค้าระหว่างประเทศ ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้เป็นหลักแหล่งในเชียงใหม่ โดยทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย

ทุนจีนกว้านซื้อที่ 400 ไร่

นอกจากนี้ ยังมีกระแสทุนจีนกลุ่มหนึ่งกำลังเล็งหาซื้อที่ดินในอำเภอสันกำแพงอีก 300-400 ไร่ เพื่อเตรียมพัฒนาโครงการจัดสรรให้เป็นที่อยู่อาศัยครบวงจร พื้นที่เป้าหมายคืออำเภอสันกำแพงและอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโซนที่ราคาที่ดินยังไม่สูงมากนัก ทั้งมีการเดินทางที่สะดวก ไม่ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่

และยังพบอีกว่า กลุ่มทุนจีนได้ขยายการลงทุนด้วยการซื้อธุรกิจอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมการผลิต ประเภทหัตถกรรม (handicraft) ในพื้นที่บ้านถวาย อำเภอหางดง รวมถึงทราบมาว่าทุนจีนมีการซื้อโรงงานหัตถกรรม แล้วนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศจีนเข้ามาผลิตแปรรูป แล้วระบุสินค้าที่ว่าผลิตจากประเทศไทย โดยตีตรา “เมดอินไทยแลนด์” เป็นต้น

รวมถึงการซื้อตัวสล่า (ช่าง) ด้านหัตถกรรมจากเชียงใหม่โดยตรง เพื่อจ้างไปผลิตสินค้าให้ในประเทศจีน ซึ่งประเด็นนี้จะส่งผลให้ธุรกิจทำมือที่เป็นภูมิปัญญาของคนพื้นเมืองจังหวัดเชียงใหม่อาจต้องล่มสลาย หรือสูญเสียอำนาจการต่อรองในตลาด จึงเป็นภาคธุรกิจที่ต้องเร่งปรับตัวไม่ให้ธุรกิจถูกกลืนไปอยู่ในมือของทุนต่างชาติ

นายจุลนิตย์กล่าวต่อไปว่า การลงทุนของต่างชาติในเชียงใหม่ ในลักษณะการลงทุนข้ามชาติที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีทั้งผลบวกและผลลบ ด้านดีคือเศรษฐกิจของเชียงใหม่จะมีการขับเคลื่อนและได้รับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยรวม หลังวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้น เพราะอาจได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าทั้งวัสดุก่อสร้างในท้องถิ่นและการจ้างงานที่มากขึ้น

ส่วนผลด้านลบ ภาครัฐควรพิจารณาใช้มาตรการด้านกฎหมายและภาษี เข้ามาบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการถือครองที่ดินของชาวต่างชาติ รวมไปถึงการควบคุมทุนต่างชาติโดยจำกัดโซน อาทิ กำหนดระยะเวลาการถือครองอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ เหมือนประเทศสิงคโปร์อนุญาตให้ต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาว 99 ปี

หลังจากนั้นให้คืนแก่รัฐ หากปล่อยให้ชาวต่างชาติมีการซื้อหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเรื่องปกติก็อาจส่งผลเสียหายในระยะยาวเหมือนชาติถูกกลืนกลาย ๆ

กระทรวง อว.ยังไม่ได้รับการรายงาน

จากกระแสกลุ่มทุนจีนเตรียมจะเข้าซื้อกิจการการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่นั้น ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งมาที่กระทรวง อว. หากเป็นเช่นนั้นจริงจะต้องดำเนินการเป็นไปตามกฎหมาย เหมือนกับ 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง

โดยมีต่างชาติเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น มีผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นชาวจีน ทั้งมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

สำหรับสัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทยตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีสามารถเป็นชาวต่างชาติได้ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย

ทั้งนี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหรือผู้บริหารอย่างไร ต้องถูกกำกับ ควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน และ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอุดมศึกษาเอกชนของไทยอย่างเคร่งครัด โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.), คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล

จีนบุกธุรกิจการศึกษามากว่า 10 ปี

ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมสถานศึกษาเอกชนจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทุนจีนเข้ามาซื้อกิจการโรงเรียนในไทยหลายสิบปีแล้ว มีทั้งซื้อและขาย ส่วนผู้ที่ขายเพราะมีสถานะไม่มั่นคง หรือหากยังคงดำเนินกิจการอยู่ก็ไม่คุ้ม

ซึ่งปี 2566 สถานการณ์โรงเรียนเอกชนเริ่มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้แล้ว แต่อาจมีบางโรงเรียนปิดตัวลง เพราะไปไม่ไหวจริง ๆ แต่ก็มีหลายโรงเรียนเปิดขึ้นมาใหม่

“จีนที่เข้ามาซื้อธุรกิจการศึกษาในไทย อาจซื้อเพื่อรองรับเด็กจีนด้วยกันเอง หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องควบคุมเรื่องระบบวีซ่านักเรียน ซึ่งตอนนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ ไม่รู้ว่าถ้ารับเด็กเข้ามาจำนวนมาก ๆ เด็กจะเข้ามาเรียนที่ไหน สถาบันอะไร เรียนหลักสูตรอะไรบ้าง ต้องมีการตรวจสอบควบคุมให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต”

ยอมรับทุนจีนรุกหนัก

แหล่งข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จ.เชียงใหม่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ปัจจุบันนักลงทุนชาวจีนเข้ามากว้านซื้อโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่จริง ทั้งยังขยายไปยังจังหวัดเชียงรายด้วย เพราะนักเรียน นักศึกษาในพื้นที่แถบภาคเหนือลดลงอย่างมาก

เนื่องจากประชากรแรกเกิดมีจำนวนลดลง จึงเป็นเหตุให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งต้องตัดสินใจขายให้กับนักลงทุนจีนแล้วไปทำธุรกิจอื่นแทน

ขณะที่มหาวิทยาลัยในจีนก็มีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้เรียน จึงทำให้นักศึกษาชาวจีนต่างเบนเข็มมาเรียนที่ไทย เนื่องจากวัฒนธรรม ประเพณีไม่ต่างกันมาก อีกอย่างเป็นเพราะข้อกฎหมายของไทยเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อกิจการในประเทศได้ ด้วยการใช้นอมินีถือหุ้น หรือถือหุ้นด้วยกันเอง


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจัดการหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากจะถูกดีไซน์ให้ตอบสนองนักศึกษาชาวจีนโดยเฉพาะแล้ว ยังมีการเปิดหลักสูตร 2 ภาษา (จีน, อังกฤษ) เพื่อดึงดูดนักศึกษารุ่นใหม่ของจีนและประเทศอื่น ๆ ให้เข้ามาเรียนในสาขาบริหารจัดการธุรกิจ และหลักสูตรการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพอีกด้วย