หอการค้าจัดทัพโรดโชว์จีน ปลุกเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2

สนั่น อังอุบลกุล-โรดโชว์จีน

“หอการค้า” เตรียมผนึกอีอีซีปักหมุดโรดโชว์จีน Q2 ก่อนเลือกตั้งจีบทุนจีนฟื้นเศรษฐกิจ ชูโมเดลรัฐ-รัฐเจาะรายมณฑล หวังดูดเม็ดเงินปั๊มจีดีพี 3.8% ชงรัฐช่วยเอกชนลดต้นทุนค่าไฟฟ้า-แรงงานขาด-ค่าแรงแพง ตลาดหลักทรัพย์ฯชี้อุตสาหกรรมแห่งอนาคต “แพลนต์เบส ไบโอเบส พลังงานหมุนเวียน ท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” มีโอกาสดึงดูดลงทุนสูง แนะรัฐวางธีมสร้างสตอรี่เพิ่มความเชื่อมั่น

การลงทุนจะกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2566 คู่ขนานไปกับการท่องเที่ยว ไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางในอาเซียนต้องเร่งเปิดเกมเร็วดึงดูดการลงทุน โดยอาศัยจังหวะที่จีนเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเปิดทางให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางออกนอกประเทศ แน่นอนว่าไม่เพียงนักท่องเที่ยว แต่ยังจะนำมาสู่การเดินทางของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ การเซอร์เวย์การลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ไทยต้องเตรียมมาตรการดึงดูดการลงทุนจีนที่เป็นนักลงทุนอันดับ 1 ที่ขอสนับสนุนจากบีโอไอสูงสุด เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2566 ให้ขยายตัวให้ได้ 3.8% ตามเป้าหมายของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

หอการค้าเตรียมโรดโชว์จีน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยควรเตรียมแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนเดินทางไปดึงดูดการลงทุนโรดโชว์ยังประเทศจีน ในช่วงต้นไตรมาส 2 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ โดยหอการค้าเตรียมจะหารือกับ ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ในสัปดาห์ หลังจากนั้นจะมีการหารือร่วมกับทูตพาณิชย์จีน เพื่อเตรียมในช่วงต้นเดือน มี.ค.ต่อไป เพื่อกำหนดเป้าหมายแนวทางในการส่งเสริมก่อนจะเดินทางไปโรดโชว์ หลักการสำคัญการวางแนวทางดึงดูดนักลงทุนจีนที่เข้ามาจะต้องสร้างประโยชน์ให้ประเทศ ไม่ให้มาแย่งงานคนไทย แต่มาเพื่อสร้างความร่วมมือกัน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับคนไทย

“การเดินทางครั้งนี้ภาคเอกชนและรัฐควรดำเนินการร่วมกัน ต้องทำงานเชิงรุกก่อนจะมีการเลือกตั้ง โดยโฟกัสเป็นรายมณฑล แบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งครั้งนี้อาจจะมีหัวหน้าคณะเป็นระดับรองนายกรัฐมนตรี และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุน ขณะเดียวกัน เราต้องการรู้ว่าดีมานด์ในจีนต้องการสินค้าอะไรเข้าไป หรือมีอุตสาหกรรมใดของจีนที่มองหาโอกาสในประเทศไทยบ้าง ซึ่งนอกจากอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีแล้ว จะมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ ก็จะต้องวางภาพร่วมกับ อีอีซี ผมจะพบ ดร.จุฬาสัปดาห์หน้า และจะพบกับทูตพาณิชย์จีนในเดือนหน้าด้วย”

นายสนั่นกล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ไทยจะได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 11 ล้านคน เป็น 30 ล้านคน ดังนั้น ไทยควรจะใช้โอกาสนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่เพียงแค่ห่วงโซ่ซัพพลายในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเท่านั้น แต่การเดินทางเข้ามาของชาวจีนยังส่งผลดีต่อภาคการลงทุนด้วย ขณะเดียวกัน ไทยก็จำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศคู่ขนานกันไป โดยเฉพาะอย่างการดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ สิ่งที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอมาโดยตลอดคือเรื่องการดูแลค่าไฟฟ้า และขอให้รัฐตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน (กรอ.ด้านพลังงาน) ขึ้นมา เพื่อเป็นเวทีในการหารือระหว่างกัน และเรื่องที่ 2 คือ เรื่องแรงงานทั้งในแง่จำนวนแรงงานที่จะเข้ามา ทำอย่างไรให้แรงงานมีเพียงพอรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาเร็ว ขณะเดียวกัน ก็มองถึงเรื่องค่าแรง ซึ่งไทยก็มีกลไกของภาครัฐและเอกชนอยู่แล้ว อยากจะขอให้ภาคการเมืองให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่ากลไกการดูแลค่าแรงที่มีอยู่มีความเหมาะสมอยู่แล้ว

หนุนสร้างธีมรับการลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ในอนาคตหากไทยอยากจะดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก ต้องมีการวางสตอรี่หรือมีธีมที่ชัดเจน และต้องแสดงให้เห็นว่าธีมดังกล่าวจะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ผู้ที่จะได้ประโยชน์คือใครบ้าง หรือมีบริษัทจดทะเบียนอะไรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้บ้าง ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจว่าไทยมีการทำงานร่วมกันเป็น value chain ระหว่างรัฐ-เอกชน มีหน่วยงานกำกับที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจ-ภาครัฐจะต้องมีการสร้างพันธมิตร (พาร์ตเนอร์) ในการทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้ได้ประโยชน์มาแบ่งปันกัน

นายภากรย้ำว่า อุตสาหกรรมที่เป็นจุดแข็งของประเทศและมีโอกาสการลงทุนในอนาคตคือ อุตสาหกรรมอาหาร ท่องเที่ยว และกลุ่มที่เกี่ยวกับความยั่งยืน เช่น พลังงานหมุนเวียน ไบโอเบส หรือที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน อุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve แต่ทิศทางการลงทุนจะมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าในอุตสาหกรรม และดึงดูดการลงทุนมากขึ้น เช่น การต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอาหารอนาคต หรือแพลนต์เบส การท่องเที่ยวแบบใหม่ ๆ เช่น การมาพักอาศัยระยะยาว ๆ หรือ long residence, medicall and wellness ซึ่งจะเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนมากขึ้น

กางตัวเลขทัพนักลงทุนจีนบุกไทย

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า สถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปี 2565 (ม.ค.-ธ.ค.) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 1,070 โครงการ เพิ่มขึ้น 42% มูลค่าเงินลงทุน 433,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% นั้น เป็นนักลงทุนจากประเทศจีนมูลค่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ซึ่งอยู่ที่ 77,381 ล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนโครงการที่ยื่นขอ 158 โครงการ เป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสิงคโปร์ โดยจีนนิยมลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โลหะและเครื่องจักร สิ่งทอ เคมีภัณฑ์ และกระดาษ

หากย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 ระบาด หรือช่วงปี 2562 จะพบว่าการลงทุนจากจีนอยู่ที่ 203 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 261,705.72 ล้านบาท หรือคิดเป็น 51.7% ของมูลค่าการลงทุนต่างชาติทั้งหมดที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน โดยส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามมาด้วยเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์