ทุเรียนอ่อนพ่นพิษราคาตก ยกเครื่องมาตรฐานส่งออก

ทุเรียน

4 สมาคมส่งออกทุเรียนโวย “มาตรฐานบังคับ มกอช. ” สกัดทุเรียนอ่อน ซ้ำซ้อนมาตรฐาน GMP เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจประเมินคุณภาพ หวั่นทำให้ส่งออกทุเรียนแสนล้านบาทสะดุด ชี้การควบคุมทุเรียนอ่อนต้องคุมตั้งแต่เกษตรกรเจ้าของสวนต้นทางไม่ใช่คุมเฉพาะล้ง-ผู้ส่งออก ร้องขอให้ทบทวนเลื่อนประกาศใช้ออกไปก่อน

แหล่งข่าวจากวงการทุเรียนกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงปัญหาการส่งออกทุเรียนอ่อนที่หมักหมมมานานหลายสิบปี ขณะที่ “จันทบุรี” เองก็เป็นจังหวัดเดียวที่มีมาตรการในระดับจังหวัดออกมาควบคุม ล่าสุด สำนักงานมาตรฐานเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับใหม่เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ขึ้นมาในลักษณะเป็นมาตรฐานบังคับ “ล้ง” ทั่วประเทศต้องปฏิบัติตาม โดยมีเงื่อนไขหลัก ๆ อาทิ

การบังคับให้ไปยื่นเรื่องขอรับ “ใบอนุญาต” เป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า, บุคคลคนที่จะมาตัดทุเรียนหรือแรงงานตัดทุเรียน ต้องมีหลักฐานใบประกาศนียบัตรรับรองได้ผ่านการอบรมมาจริง ล้งต้องมีหลักฐานการจัดการแหล่งปลูก มีการคัดแยกทุเรียนอ่อน มีการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแป้ง และการตรวจแต่ละขั้นตอนจะมีค่าธรรมเนียมในการตรวจ

“ตามขั้นตอนร่างหลักปฏิบัติในการตรวจทุเรียนจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียพิจารณา ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้ตามแผนเดิมภายในเดือนกันยายน 2566 แต่ล่าสุดในการเปิดรับฟังความคิดเห็นปรากฏมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยและว่าเป็นการแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนไม่ถูกจุด การให้ขึ้นทะเบียนผู้ผลิต-ผู้ส่งออก-ผู้นำเข้า ซ้ำซ้อนกับ มาตรฐาน GMP ที่กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนอยู่แล้ว ดังนั้น มกอช.อาจจะต้องนำร่างฉบับดังกล่าวกลับไปทบทวนและขยายมาตรการบังคับใช้เป็นภายในปี 2567”

โดย 4 สมาคมทุเรียน ประกอบด้วย สมาคมทุเรียนไทย, สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย, สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ และสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุด ได้ทำหนังสือไปยัง เลขาธิการ มกอช. และสำเนาถึง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนำเข้าที่ประชุม กรอ.จังหวัดจันทบุรี เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยหนังสือฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ “ไม่เห็นด้วยกับร่างมาตรฐานของ มกอช.” พร้อมกับให้มีการทบทวนใน 4 ประเด็น ได้แก่

1) ร่างของ มกอช.มีความซ้ำซ้อนกับ มาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ควรแก้ไขมาตรฐาน GMP ให้สมบูรณ์ หากจะควบคุมเรื่องทุเรียนอ่อนก็ไม่ควรแยกเป็นมาตรฐานใหม่ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระค่าบริการตรวจสอบรับรอง แต่ให้ใส่เพิ่มเข้าไปในมาตรฐาน GMP

Advertisment

2) การดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานให้ผู้ประกอบการไม่ทันต่อฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งประเทศ

3) ร่างดังกล่าวไม่มีการกำหนดบทลงโทษเกษตรกรและผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว ทั้งที่ปัญหาทุเรียนอ่อนควรควบคุมตั้งแต่เกษตรกรต้นทาง ซึ่งเป็นผู้ที่ทราบดีว่า “ทุเรียนนั้นอ่อนหรือแก่”

Advertisment

และ 4) ไม่เห็นด้วยที่ผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวต้องผ่านการอบรม เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน อีกทั้งแรงงานตัดทุเรียนมีจำนวนมาก หากมาตรฐานนี้ถูกบังคับใช้จะทำให้เกษตรกรไม่สามารถตัดทุเรียนเองได้

สำหรับสาระสำคัญของร่างมาตรฐานบังคับหรือหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนของโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ประกอบด้วย

1) ร่างค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลผลิตทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุใช้บังคับโดยตรงกับ เกษตรกร มือตัด/สายตัด/โรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุและหน่วยรับรอง CB/

2) องค์ประกอบค่าบริการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน สำหรับมาตรฐานทั่วไปและบุคคลธรรมดาไม่เกินฉบับละ 500 บาท นิติบุคคลไม่เกิน 1,000 บาท มาตรฐานบังคับไม่เกินฉบับละ 1,000 บาท

3) ค่าบริการตรวจประเมินมี 2 รูปแบบ รูปแบบที่ 1 ตรวจประเมินร่วมกับมาตรฐานสินค้าเกษตรฉบับอื่น เช่น มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ.9035) มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ.9047) ค่าบริการปริมาณที่รับเข้า (เฉลี่ยต่อวันในช่วงฤดูกาลผลิต) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ตัน/วัน ไม่เกิน 2,500 บาท มากกว่า 10 ตัน/วัน ไม่เกิน 5,000 บาท

ส่วนรูปแบบที่ 2 ตรวจประเมินเฉพาะมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุเพียงฉบับเดียว ค่าบริการปริมาณที่รับเข้าเฉลี่ย ตัน/วันในช่วงฤดูกาลผลิต น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ตัน/วัน ไม่เกิน 5,000 บาท มากกว่า 10-50 ตัน/วัน ไม่เกิน 7,500 บาท มากกว่า 50 ตัน/วัน ไม่เกิน 10,000 บาท

ส่วนบทลงโทษ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ไม่ได้ใบรับรอง หรืออนุญาต หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับหรือไม่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้าเกษตรที่ได้ใบรับรอง มีบทกำหนดโทษ ปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท เพิกถอน/พักใช้ใบอนุญาตจำคุกสูงสุดไม่เกิน 5 ปี แล้วแต่ความผิดตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร

ล้ง-ส่งออกค้านร่าง มกอช.

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย กล่าวว่า มาตรฐานบังคับฉบับนี้ “ซ้ำซ้อนกับมาตรฐาน GMP ที่ต้องปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว” กลายเป็นภาระในการบริหารจัดการและเพิ่มค่าใช้จ่าย เป็นกฎหมายที่บังคับโรงรวบรวม โรงคัดบรรจุโดยตรงโดยเฉพาะ ปัญหาการบังคับให้ล้งต้องมีคนตัดทุเรียน หรือ “มือตัด” ที่ผ่านการอบรม มือตัดมีจำนวนมาก ปัจจุบันสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) ไม่สามารถอบรมได้ทั้งหมด และการจัดอบรมระยะสั้น มือตัดทั้งหมดตัดไม่ได้จริง

ดังนั้นต้องแยกแนวความคิดเชิงวิชาการทำถูกต้อง แต่กระบวนการทำไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและบทลงโทษกับผู้ส่งออกที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานบังคับ มีทุเรียนอ่อนไม่ได้คุณภาพ ทั้งที่ในทางปฏิบัติ ปัญหาทุเรียนอ่อนเชื่อมโยงมาตั้งแต่เกษตรกรต้นทางถึงมือตัด นอกจากนี้มาตรฐานใหม่กำหนดจะส่งผู้มาตรวจสอบทุเรียน โดยสุ่มตรวจที่ล้ง ในทางปฏิบัติควรตรวจที่ด่านส่งออกดีกว่าหรือไม่ เพราะทุเรียนตู้ละ 3-4 ล้านบาท ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงเสียหายมากกว่า ดังนั้นทุเรียนอ่อนน่าจะเกิดขึ้นยาก

นายมณฑล ปริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมการค้ายุคใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้ร่วมประชุมแสดงความเห็นคัดค้านร่างมาตรฐานบังคับ “แต่ไม่เป็นผล” ในกรณีปัญหาทุเรียนอ่อนจังหวัดจันทบุรีมีมาตรการควบคุมทำได้ดี เป็นโมเดลของภาคตะวันออก ตั้งแต่การตรวจแป้งก่อนตัด ประกาศวันตัด อบรมคนตัด มาตรฐานล้ง GMP Plus ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพ เหมือนกับขั้นตอนในร่างมาตรฐานใหม่และปัจจุบัน “ล้ง” ต้องทำตามขั้นตอนใบรับรอง GMP ต้องจ่ายอยู่แล้ว 60,000 บาท อายุ 3 ปี ไม่รวมการตรวจสารตกค้างตัวอย่างละ 3,000-4,000 บาท/ครั้ง 1 ปี ตรวจ 3-4 ครั้ง หากมีร่างมาตรฐานบังคับใช้กับโรงคัดบรรจุส่งออกต้องรับภาะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ต้องจ่ายค่าบริการตรวจประเมินเพิ่มขึ้นอีก

เช่น หากทุเรียนมีปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ตัน/วัน ค่าตรวจประเมินเพื่อรับรอง 5,000 บาท ถ้าเกิน 50 ตัน ค่าบริการ 10,000 บาท และค่าใบรับรองไม่เกินฉบับละ 1,000 บาท “เราต้องการความชัดเจนจุดประสงค์ของการร่างมาตรการใหม่ เพราะการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการตรวจ อาจกระทบไปถึงราคาทุเรียนของชาวสวน” นายมณฑลกล่าว

นายภานุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด กล่าวว่า ได้ร่วมกับ 4 สมาคมทำหนังสือคัดค้านทักท้วงไปแล้ว “เราไม่เห็นด้วยกับร่างมาตรฐานบังคับนี้” จริง ๆ แล้วโรงคัดบรรจุที่ส่งออกในภาคตะวันออกมีใบรับรอง GMP กันอยู่แล้ว แต่ภาครัฐยังมีปัญหาในการออกใบรับรอง GAP ให้กับชาวสวนไม่ทัน ปัญหาควบคุม “มือตัด” ยังทำไม่ได้ มีทุเรียนอ่อนหลุดออกมามาก การพัฒนาไม่มีทุเรียนอ่อนต้องมาจากสวน ไม่ใช่ออกกฎหมายบังคับล้ง ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ถ้าสู้ค่าใช้จ่ายไม่ได้ ต้องคิดเป็นต้นทุน ในที่สุดต้องไปลดราคาที่ชาวสวน

“ทุกวันนี้ทุเรียนไทยมีคู่แข่งมาก เวียดนาม ฟิลิปินส์ ทางหนึ่งคือ การลดต้นทุน ส่งเสริมการส่งออกให้ผู้ประกอบการ ไม่ใช่เพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการ” นายภานุวัชร์กล่าว

นายวุฒิชัย คุณเจตน์ นายกสมาคมทุเรียนไทย กล่าวว่า ในส่วนการนำเสนอของ 4 สมาคม เป็นการแก้ปัญหาในรายละเอียด สามารถแก้ได้ในระดับปฏิบัติจริง ส่วนในมาตรฐานหลัก ๆ เน้นการตรวจสอบคุณภาพนั้น “เห็นด้วย” เพราะเป็นกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนตามขั้นตอน ทั้งเกษตรกร มือตัดโรงคัดบรรจุ ครอบคลุมถึงโรงงานคัดบรรจุทั้งขนาดเล็ก ใหญ่ เพื่อให้ทุเรียนมีคุณภาพมาตรฐานรองรับการแข่งขันทุเรียนกับเพื่อนบ้าน รวมทั้งการปรับมาตรฐาน GMP ที่ต่อไปอาจจะปรับรวมไว้ในฉบับมาตรฐานบังคับ

“มาตรฐานบังคับนี้ชัดเจนว่า จะเป็นกฎหมายฉบับแรกที่มีบทกำหนดโทษปรับ จำคุก ส่วนรายละเอียดที่สมาคมนำเสนอให้พิจารณา ใบ GAP เกษตรกร มือตัดที่ไม่เพียงพอ หน่วยงานต้องดูรายละเอียดว่า ขาดแคลน หรือไม่ และหาทางแก้ไข ไทม์ไลน์ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว น่าจะนำเข้า ครม.ไม่ทัน เพราะรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ น่าจะยืดระยะเวลาออกไปจากที่จะมีผลบังคับใช้ กันยายน 2566 คาดว่าเร็วสุดปี 2567” นายวุฒิชัยกล่าว

เกษตรยันไม่ซ้ำซ้อน GMP

ด้าน นายณวัฒน์ สิทธิบริบูรณ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ได้ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร (คกก.มกษ.) ได้ตอบข้อชี้แจงของ 4 สมาคมไปแล้วว่า 1) ความซ้ำซ้อนมาตรฐาน GMP ที่เกี่ยวข้องเป็นเกณฑ์กว้าง ๆ ใช้กับผัก ผลไม้ทั่วไป

ดังนั้นร่างมาตรฐานใหม่จึงไม่ซ้ำซ้อน” การแก้ไขมาตรฐานโดยนำข้อกำหนดการตรวจและรับผลทุเรียนโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุมารวมไว้ใน GMP เดิม จะทำให้เกิดความสับสนในทางปฏิบัติและการบังคับเกณฑ์ GMP ทั้งฉบับจะส่งผลผู้ประกอบการรายเล็ก การจัดทำมาตรฐานรูปแบบใหม่เป็นมาตรฐานเฉพาะเรื่องที่ต้องการควบคุมและกำหนดเป็นมาตรฐานทั้งฉบับ และลดค่าใช้จ่ายค่าบริการตรวจสอบรับรองมาตรฐานร่วมกับมาตรฐาน GMP ได้กว่า 50% และมีการพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้บังคับเพื่อให้เลือกรอบตรวจร่วมกับมาตรฐานอื่น ๆ ได้

2) ร่างมาตรฐานฉบับนี้กำหนดหลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุทุเรียน เกษตรกรไม่ใช่ผู้ผลิต แต่มีข้อระบุเชื่อมโยงผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวทางอ้อมและภายใต้มาตรการอื่น ๆ มีบทลงโทษเกษตรกร ควบคุมกำกับผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยว

3) ผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวมีทางเลือกที่ยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ ไม่ได้กำหนดให้แรงงานทุกคนที่เก็บเกี่ยวต้องรับการอบรม กำหนดเฉพาะผู้ควบคุมการเก็บเกี่ยวเท่านั้น เกษตรกรเก็บเกี่ยวเองได้ไม่มีข้อห้าม ทั้งนี้ มกอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมบูรณาการฝึกอบรมผู้เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมสู่ระบบ ผู้ประกอบการโรงรวบรวม/โรงคัดบรรจุ เตรียมความพร้อมและยื่นขอใบรับรองก่อนประกาศใช้มาตรฐานบังคับ โดยจะพิจารณาขยายเวลาการใช้บังคับออกไป

ขณะที่ นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้มอบให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี ประสานไปยัง มกอช. เพื่อจัดประชุมชี้แจงทั้ง 4 สมาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

จีนเจอทุเรียนอ่อน

แผงรับซื้อทุเรียนใน จ.ชุมพร รายหนึ่งกล่าวว่า ราคาทุเรียนภาคใต้ดิ่งลงตั้งแต่เปิดฤดูกาลต้นเดือนมิถุนายน โดยราคาไม่แรงเท่าทุเรียนจากภาคตะวันออก AB กก.ละ 140-150 บาท C 100 บาท ABC 130 บาท (ไม่เกิน 15%) เหมาคว่ำหนาม 120 บาท และล้งรับซื้อหวั่นทุเรียนอ่อน ตลาดจีนไม่รับ เพราะเจอทุเรียนอ่อนอ่วมทั้งจากเวียดนามและไทย และราคาทุเรียนในช่วงนี้ได้ลดลงมาเรื่อย ๆ แต่คาดว่าราคาน่าจะลงมากช่วงวันที่ 10-20 มิถุนายน 2566 แต่จะทรง ๆ ไม่ต่ำกว่า 120 บาท ต่างกับช่วงต้นของฤดูทุเรียนภาคตะวันออก เช่น หมอนทองราคา 220-250 บาท