
ตลาด “รถยนต์มือ 2” พัทลุง ปี 2566 วิกฤตยอดขายอืดหนัก เหลือ 40% ขายยากสุดในรอบหลายปี เหตุราคายางพาราดิ่ง ทำให้เกษตรกรไม่มีกำลังผ่อนต่อ รถถูกยึด เต็นท์รายย่อยโบกมือลาเปลี่ยนอาชีพ นักลงทุนหน้าใหม่เบรกลงทุน
แหล่งข่าวจากวงการค้ารถ จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะธุรกิจตลาดค้ารถยนต์มือ 2 หรือเต็นท์รถยนต์มือ 2 ในปี 2566 ยอดขายลดลงมากตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน และคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ทั้งปี
ส่งผลให้นักลงทุนเต็นท์รถยนต์มือ 2 ต้องชะลอการซื้อรถยนต์เข้าเต็นท์ และนักลงทุนรายใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนเต็นท์รถยนต์มือ 2 ต่างได้รับสัญญาณให้ชะลอการลงทุนในปี 2566 ไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ขณะนี้ที่มีผู้ประกอบการรถยนต์มือ 2 ประมาณ 2-3 ราย ได้ยุติการดำเนินกิจการเปลี่ยนไปทำอาชีพอย่างอื่น
ปี 2566 มีรถถูกยึด รถคืนบริษัทไฟแนนซ์เป็นจำนวนมากถูกส่งเข้าตลาดประมูลรถ โดยส่วนใหญ่กลุ่มเต็นท์รถยนต์มือ 2 จะเข้าไปประมูลในราคาที่ต่ำลงประมาณ 50% เช่น รถยนต์ราคา 1 ล้านบาท จะเข้าประมูล 500,000 บาท เป็นต้น การประมูลรถที่ถูกยึดคืน และส่งคืนบริษัทไฟแนนซ์น่าจะอ่อนตัวลง เพราะจากภาวะเศรษฐกิจที่ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ
นายหมีนหยาน เหล็มลุย ผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์มือ 2 อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะธุรกิจรถยนต์มือ 2 ได้เกิดภาวะถดถอยมาหลายปีตั้งเกิดโควิด-19 มาจนถึงขณะนี้ ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มียอดขายเพียง 40% สำหรับในกลุ่มและเครือข่าย
ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์มือ 2 ต่างทยอยคืนรถ ทั้งนี้ ตัวเลขยอดขายรถยนต์มือ 2 ในพื้นที่ทางภาคใต้จะดีหรือไม่ขึ้นอยู่ตัวเลขการเติบโตของภาคเกษตร โดยเฉพาะยางพาราเป็นหลัก ถ้าปีใดยางพาราราคาสูง ตลาดรถยนต์มือ 2 จะทำยอดขายได้ดี ขณะนี้ก็ถือว่ายังเดินไปได้ ไม่ถึงกับขาดทุน
“ปัจจุบันเต็นท์รถยนต์มือ 2 ส่วนหนึ่งหันมาทำตลาดขายออนไลน์กันอย่างกว้างขวาง แต่ลูกค้าบางส่วนยังนิยมที่จะมาดูสินค้าด้วยตัวเอง สามารถทดสอบระบบได้อย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจซื้อ แต่การขายรถยนต์ทางออนไลน์มีจุดได้เปรียบคือเป็นการขายตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายไม่ต้องจ่ายค่าส่วนต่างให้กับพ่อค้าคนกลาง” นายหมีนหยานกล่าว
นายสันติ มาลยาภรณ์ เจ้าของเต็นท์รถยนต์มือ 2 จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ภาวะการค้ารถยนต์มือ 2 ในปี 2566 ค่อนข้างจะตกไปมากเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีในพื้นที่ภาคใต้
ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นกับราคายางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เมื่อยางพาราราคาไม่ดี ส่งผลให้กำลังซื้ออ่อนตัวลงมาก ทั้งนี้ผู้ซื้อส่วนใหญ่จะชำระเงินด้วยระบบเงินผ่อนมากกว่าการจ่ายเงินสด ขณะที่สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ มีมาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ