พัทลุง เริ่มฤดูทำนาข้าวริมทะเลสาบ แห่งเดียวในประเทศไทย 

พัทลุง เริ่มฤดูทำนาข้าวริมทะเลสาป
ภาพจาก สำนักงานประชาพันธ์จังหวัดพัทลุง

องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง จัดกิจกรรมลงแขกดำนาริมทะเลสาบสงขลา ส่งเสริมภูมิปัญญาทำนาเพื่อการท่องเที่ยวประจำปี 2566 และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทำนาริมทะเล

วันนี้ 11 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง จัดกิจกรรมลงแขกดำนาริมทะเล ส่งเสริมภูมิปัญญาทำนาเพื่อการท่องเที่ยว เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 มิถุนายน 2566) บริเวณแปลงนาริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง โรงเรียนวัดปากประ ตำบลลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง 

โดยใช้ต้นกล้าปักดำลงบนดินโคลนที่จมอยู่ใต้ทะเลสาบ ซึ่งได้จากข้าวที่เริ่มหว่านมาตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จนต้นกล้าโตเจริญงอกงามพร้อมปักดำ ถือเป็นการเปิดฤดูกาลทำนาริมทะเล สร้างความสมดุลของระบบนิเวศริมทะเลสาบสงขลา เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ และเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนทำนาริมทะเล รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์สิ่งดีงามที่ทรงคุณค่าสู่คนรุ่นหลังอย่างภาคภูมิและยั่งยืน

สำหรับวิถีทำนาในทะเลสาบหนึ่งเดียวของประเทศไทย เกิดจากชาวประมงริมทะเลสาบสงขลาฝั่งจังหวัดพัทลุง ที่ส่วนใหญ่มีอาชีพหลักคือ การออกเรือหาปลา และเนื่องจากบ้านเรือนตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา จึงคิดค้นหาวิธีการเพาะปลูกพืชในทะเลสาบ หรือริมฝั่งริมทะเลสาบ เพื่อให้มีพืชผลผลิตเลี้ยงครอบครัว นอกเหนือจากการออกเรือ มีมาตั้งแต่บรรพบุรษ ซึ่งชาวบ้านคิดค้นการทำนาข้าวในทะเลสาบโดยใช้พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบที่เป็นดินโคลน เหมาะสำหรับปลูกต้นข้าวให้ทอดยาวตามแนวชายฝั่งเกือบ 10 กิโลเมตร

ทั้งนี้ การเพาะปลูกโดยแต่ละปีจะทำนาข้าวลักษณะนี้ได้เพียงครั้งเดียว ตั้งแต่ช่วงเริ่มปักดำต้นเดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวปลาย ๆ เดือนกันยายนของทุกปี และในปี 2566 นี้เป็นปีที่ท้องทะเลสาบบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบรูณ์มากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจึงได้ทำนาข้าวในทะเลสาบตามแนวชายฝั่งประมาณ 10  กิโลเมตร แต่ละแปลงจะทำนาจากชายฝั่งลงไปในทะเลประมาณเกือบ 30 เมตร

ส่วนเหตุผลที่เลือกทำนาในช่วงเวลานี้ เป็นเพราะน้ำในทะเลสาบจะเป็นน้ำกร่อย และเป็นช่วงน้ำลงมากที่สุด หากเกินช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่ได้ผลผลิต เพราะน้ำทะเลจะหนุนสูงท่วมต้นข้าวเสียหาย และการเพาะปลูกข้าวในบริเวณดังกล่าว ต้องหาพันธุ์ข้าวที่ลำต้นแข็งแรง มีรากลึก และต้นข้าวเมื่อเจริญเติบโตแล้วต้องมีความสูง สามารถต้านทานกับสภาพแรงลมและคลื่นขนาดเล็กที่ซัดเข้าหาฝั่งได้ ดังนั้น ชาวบ้านจึงนิยมใช้พันธุ์ข้าว กข.55 และพันธุ์ข้าวหอมราชินี ที่สำคัญไม่ต้องใส่ปุ๋ยเนื่องจากมีแร่ธาตุอาหารที่สมบูรณ์ให้กับต้นข้าวเจริญเติบโตงอกงามและได้เมล็ดข้าวที่สมบูรณ์