การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลเพื่อติดตามระบบการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำให้รองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สร้างความหวังให้กับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและน้ำภาคอุตสาหกรรม
เมื่อปรากฏภาพการจับมือระหว่าง นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำรายเก่า กับ นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ตัวแทนจากบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก
โดยนายเศรษฐากล่าวว่า ปัญหาที่มีในอดีตก็มีการตกลงกันเรียบร้อยทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม และมั่นใจได้ว่าต่อไปนี้ ปัญหาจะไม่เกิดขึ้นอีก และรู้สึกดีใจที่ทุกภาคส่วนมาร่วมมือกัน ซึ่งเรื่องน้ำก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญที่ได้มีการหยิบยกมาพูดคุยกัน
พร้อมกล่าวว่า “จะกลับมาที่นี่อีกใน 60 วันข้างหน้า เพื่อมาดูเรื่องการแก้ไขเรื่องความขัดแย้งที่ยังไม่ถูกบริหารจัดการไป” พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และจะทำงานอย่างรวดเร็วฉับไว และตอบโจทย์ประชาชนและนักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในประเทศด้วย
สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในข้อที่ว่า ตั้งแต่กรมธนารักษ์เปิดประมูลเพื่อหาผู้ชนะในโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกรายใหม่ ก็เกิดปัญหาในการจัดการท่อส่งน้ำและแหล่งน้ำ ในเมื่อฝ่ายหนึ่งยังส่งมอบท่อส่งน้ำไม่ครบถ้วน
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเข้าไปใช้ท่อของกรมธนารักษ์ที่ชนะการประมูลมาได้ ตลอดจนการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำในอ่างเก็บน้ำหลักของกรมชลประทาน เข้าทำนอง “มีท่อแต่ไม่มีน้ำ” ซึ่งได้สร้างความกังวลให้กับภาคอุตสาหกรรมใน EEC ทั้งหมด
ผู้ให้บริการน้ำ 2 ราย
คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้เปิดประมูลโครงการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกมาตั้งแต่ปี 2565 โดยมีบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เป็นผู้ชนะประมูล ขณะที่บริษัท อีสท์วอเตอร์ ผู้บริหารโครงการและระบบท่อรายเดิมจะต้องส่งมอบสินทรัพย์ส่งคืนให้กับกรมธนารักษ์ ประกอบไปด้วย
1) โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย มูลค่าโครงการ 772.09 ล้านบาท 2) โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ มูลค่าโครงการ 2,205.05 ล้านบาท และ 3) โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) มูลค่าโครงการ 254.87 ล้านบาท
โดยท่อส่งน้ำดิบเหล่านี้ได้เชื่อมต่อกับอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำดอกกราย มีปริมาตรความจุอ่าง 71.40 ล้าน ลบ.ม., อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล มีปริมาตรความจุอ่าง 163.75 ล้าน ลบ.ม. และอ่างเก็บน้ำหนองค้อ มีปริมาตรความจุอ่าง 21.40 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมลุ่มน้ำระยองและชลบุรีบางส่วน ด้วยปริมาตรความจุน้ำรวมกัน 256.58 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้ง 3 “เกินกว่า” ครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำดิบในอ่างทั้งหมดของจังหวัดระยองกับชลบุรีรวมกัน
ทว่าการเข้ามาบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักทั้ง 3 เส้นท่อ ของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ตามที่เป็นผู้ชนะการประมูลที่ผ่านมา “ก็ไม่ได้ราบรื่น และเต็มไปด้วยข้อจำกัด” จากข้อเท็จจริงที่ว่า ยังมีท่อและทรัพย์สินบางส่วนของกรมธนารักษ์ ที่ทางอีสท์วอเตอร์ ยังไม่ได้ส่งมอบให้อย่างครบถ้วน
ประกอบกับแม้บริษัท อีสท์วอเตอร์ จะเป็นผู้พ่ายแพ้ในการประมูล ไม่สามารถเข้ามาบริหารจัดการท่อส่งน้ำสายหลักทั้ง 3 เส้นต่อไปได้ แต่อีสท์วอเตอร์ก็ยังเป็น 1 ในผู้ให้บริการส่งจ่ายน้ำในภาคตะวันออกให้กับลูกค้าทั้งรายเก่าและรายใหม่ในพื้นที่ EEC ต่อไป
พร้อมกันนี้ก็ได้ลงทุนก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำสายใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น หนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง และท่อส่งน้ำมาบตาพุด-สัตหีบ เพิ่มเติมอีกประมาณ 120 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท โดยเป็นระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid คู่ขนานไปกับท่อน้ำสายหลักของกรมธนารักษ์ ที่เชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้งหมดอีกด้วย
ปมปัญหาโควตาน้ำ
นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งของปีที่ผ่านมา แม้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจะเริ่มเข้ามาบริหารท่อส่งน้ำสายหลักเป็นบางส่วน ประกอบกับเกิดสถานการณ์ภัยแล้งจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ขึ้นในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออก ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอ่างหนองปลาไหล ลดต่ำลงอย่างมาก
โดยในขณะนั้น อีสท์วอเตอร์เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้น้ำ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ได้รับ “โควตาน้ำ” จากกรมชลประทาน ในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยโควตาน้ำดังกล่าวได้ผูกติดมากับการเป็นผู้บริหารและจัดการโครงการและระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกของกรมธนารักษ์
ขณะที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง แม้จะเป็นผู้ชนะการประมูลและเข้ามาบริหารโครงการและระบบท่อส่งน้ำสายหลักรายใหม่ ยังไม่สามารถ “เข้าถึง” น้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานได้ จนเกิดปรากฏการณ์การใช้น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางกรมชลประทานยืนยันว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้ทำเรื่องมาถึง กรมชลประทาน
เพื่อขออนุญาตใช้น้ำในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม./ปี หรือเท่ากับปริมาณน้ำที่อนุญาตให้อีสท์วอเตอร์ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจาก อีสท์วอเตอร์ ยังไม่ขอ “ยกเลิก” การใช้น้ำในปริมาณดังกล่าว ส่งผลให้กรมชลประทานก็ยังไม่สามารถอนุญาตให้ทางผู้บริหารเส้นท่อรายใหม่ คือ “วงษ์สยามฯ” เข้ามาใช้น้ำได้ เพราะ “มันไปทับซ้อนกับผู้ใช้น้ำรายเดิม”
ดังนั้น เอกชนไม่ว่าจะเป็นรายใดสามารถขอโควตาน้ำได้เหมือนกันทุกราย กรมชลประทานมีหน้าที่จัดสรรให้ แต่จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ประการ คือ 1) ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการขออนุญาตใช้น้ำ 2) มีเครื่องมือที่จะนำน้ำขึ้นมา และ 3) ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่เพียงพอที่จะจัดสรรได้หรือไม่
โดยกรมชลประทานมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการจัดสรร ส่วนการ “อนุญาต” นั้นเป็นหน้าที่ของกรมธนารักษ์ หรือเท่ากับย้อนกลับไปที่ต้นทางของโครงการนั่นเอง ขณะที่อีสท์วอเตอร์ มี “โควตาน้ำ” ตามใบอนุญาตจะสิ้นสุดลงในปี 2571 หรือในอีก 5 ปีข้างหน้า
ล่าสุดจากการติดตามพบว่าบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้รับการจัดสรรน้ำ ซึ่งถือเป็น “ปริมาณน้ำส่วนเกิน” จากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างจัดสรรให้ 30 ล้าน ลบ.ม./ปี ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยการจัดสรรน้ำจำนวนนี้เป็นผลมาจาก “คำร้อง” ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรม 6 ราย ที่แจ้งปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ผ่านท่อส่งน้ำของบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง
นั้นหมายความว่า ปัญหาการจัดสรรน้ำจะปรากฏเด่นชัดในช่วงทุกฤดูแล้งที่แหล่งน้ำหลัก ๆ ในภาคตะวันออก ลดปริมาณลง “ต่ำกว่า” ปริมาณน้ำต้นทุนที่กำหนดไว้ นับเป็นปมปัญหาสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออก ไม่เพียงแต่จะต้องมีท่อส่งน้ำเท่านั้น แต่ผู้ให้บริการจะต้องได้รับการจัดสรร “โควตาน้ำ” ในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทานด้วย
แล้งหน้า EEC รอด
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในโครงข่ายน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นั้น นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล 1 ใน 11 อ่างเก็บน้ำ ในโครงข่ายรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 624 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC
โดยกรมชลประทานได้มีการผันน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม รวม 130 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 624 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียงพอต่อการบริหารจัดการน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมชลประทานได้มีการผันน้ำมาเติมในอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม รวม 130 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่
1) การสูบผันน้ำจากคลองวังโตนด มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 5.66 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน 2) การสูบกลับจากคลองสะพาน มาเติมอ่างเก็บน้ำประแสร์ ปริมาณน้ำ 7.95 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100% ของแผน 3) การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ปริมาณน้ำ 44.23 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 79% ของแผน
4) การสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 43.60 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75% ของแผน 5) การสูบผันน้ำจากคลองพานทองมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ ปริมาณน้ำ 2.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 75% ของแผน
6) การสูบผันน้ำจากแม่น้ำบางปะกง มาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระ (EW) ปริมาณน้ำ 24.45 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 83% ของแผน และ 7) การสูบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ มาเติมอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล (EW) ปริมาณน้ำ 4.04 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 34% ของแผน