คนเชียงใหม่ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้พุ่ง 1.5 เท่า

คนเชียงใหม่ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้พุ่ง 1.5 เท่า

คนเชียงใหม่ป่วยหอบหืด-ภูมิแพ้พุ่ง 1.5 เท่า PM 2.5 ส่งผลต่อยีน-กระตุ้นโรคมะเร็งปอด

วันที่ 8 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวการปฏิบัติการทางการแพทย์และบริการสาธารณสุข เพื่อรักษาผู้ป่วยทางเดินหายใจและกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งมาตรการดูแลประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่าค่าฝุ่นได้เพิ่มสูงขึ้นตลอดเดือนมีนาคมและเมษายน ซึ่งพื้นที่ท้าทายในช่วง 2 เดือนนี้คือ พื้นที่ป่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดอันดับ 1 ของประเทศไทยที่มีปริมาณการเผาอยู่มาก โดยเฉพาะเดือนเมษายน การเผายังไม่ลดลง วันที่ 2 เมษายน มีการเผาถึง 561 จุด วันที่ 3 เมษายน การเผาพุ่งถึง 565 จุด ซึ่งได้ใช้วิธีตอบโต้ในการดับไฟภายใน 1 วัน บางวันสามารถดับได้ทั้งหมด แต่บางวันดับได้ 80-90%

ขณะที่การเผาในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในช่วงวันที่ 1-6 เมษายน ประเทศเพื่อนบ้านมีการเผาถึง 6,000-7,000 จุด เป็นควันที่ลอยมากระทบพื้นที่เชียงใหม่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ด้านสุขภาพ จังหวัดได้ดำเนินการด้านสุขภาพร่วมกับทุกภาคส่วนมาเป็นเวลานานแล้ว ทั้งการเตรียมการเรื่องห้องปลอดฝุ่น การจัดหาหน้ากากอนามัย การรักษาพยาบาลที่สามารถเข้ามารับบริการได้ตามสิทธิที่รัฐให้การดูแล ณ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง

ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า PM 2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กมาก มีผลต่อปอด หัวใจ สมอง ไต และอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่ง PM 2.5 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิคุ้มกัน และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เพราะ PM 2.5 ทำเกิดการอักเสบทั่วร่างกายได้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุก 10 ไมโครกรัม ส่งผลให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 10% รวมถึงโรคอื่นๆที่ตามมา

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ข้อมูลของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ (ข้อมูลปี 2566 และปี 2567) พบว่าผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง หอบหืด ภูมิแพ้ เลือดกำเดา โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เยื่อบุตาอักเสบ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่าในปีนี้ เมื่อเทียบกับ 2566 ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้รับผู้ป่วยซับซ้อนไว้รักษาด้วย ขณะนี้เตียงผู้ป่วยของศูนย์หัวใจและเตียงของศูนย์สมอง ขณะนี้เกือบจะเต็มศักยภาพแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมจำนวนเตียงของจังหวัดเชียงใหม่ทั้งหมดน่าจะเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้อยู่

สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด พบว่าอัตราของผู้ป่วยมะเร็งปอดในภาคเหนือยังคงสูงกว่าภาคอื่น ๆ ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค ด้วยอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นของ PM 2.5 ในช่วงหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมากขึ้น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน

ADVERTISMENT

ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก เป็นโมเลกุลขนาดที่เล็กมาก สามารถไหลเข้าไปสู่ร่างกายเราได้ง่าย สามารถเข้าสู่ถุงลมเล็ก ๆ ในช่องปอด ซึมเข้าไปในกระแสเลือด และสร้างการอักเสบได้ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก โดยในส่วนของการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้สร้างระบบของการส่งต่อให้กับสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการดูแลผู้ป่วยให้ดีที่สุด

นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า PM 2.5 มีผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพของประชาชน ซึ่งโรคที่จะมีผลในระยะสั้น มีอยู่ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 2.กลุ่มโรคตาอักเสบ 3.กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 4.กลุ่มโรคหัวใจหลอดเลือด

ขณะที่ในระยะยาว จะมีผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง ๆ ด้วย โดยเฉพาะมะเร็งปอด หากไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองได้

โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (1 มกราคม 2567-6 เมษายน 2567) เปรียบเทียบผู้ป่วย ปี 2566 และปี 2567 พบว่ากลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีผู้ป่วยมารับบริการ 57,714 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19,182 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 24.95 โรคผิวหนังอักเสบ 2,195 ครั้ง เพิ่มขึ้น 109 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 5.23 โรคตาอักเสบ 2,502 ครั้ง เพิ่มขึ้น 107 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 4.47 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน 2,691 ครั้ง ลดลง 409 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.19

สำหรับมาตรการจัดการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยมีจำนวนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเด็ก (0-5 ปี) 101,837 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3,339 ราย ผู้สูงอายุ 249,363 ราย กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 16,143 ราย และได้ดำเนินการกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือประชาชน แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5

ซึ่งผลการดำเนินงาน 225 ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม-6 เมษายน 2567) มีผู้มารับบริการ 9,817 ราย กิจกรรมเยี่ยมบ้าน “เคาะประตูให้ความรู้ แจกหน้ากากสู้ฝุ่น PM 2.5 ในชุมชน” ติดตามการเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยในชุมชนด้วยทีม 3 หมอ จำนวน 11,720 ราย แจกหน้ากาก ทั้งหมด 153,557 ชิ้น

นอกจากนี้ ยังได้ให้ทุกอำเภอเตรียมความพร้อมเรื่องการสำรองเวชภัณฑ์ยาหน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย ให้บริการคลินิกมลพิษ เปิดให้บริการ 25 โรงพยาบาล มีผู้มารับบริการ จำนวน 410 ราย และคลินิกมลพิษออนไลน์ มีผู้มารับบริการ จำนวน 53 ราย จัดทำห้องลดฝุ่นสำหรับประชาชน ทั้งหมด 1,466 ห้อง (ภาครัฐ 1,408 ห้อง และภาคเอกชน 58 ห้อง) ห้องลดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุขครบ 100% และศูนย์พัฒนาเด็กในจังหวัดเชียงใหม่ 516 แห่ง ดำเนินการจัดทำห้องลดฝุ่นไปแล้ว 416 แห่ง

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับปัญหา PM 2.5 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการในหลายด้าน โดยเฉพาะการลดความแออัดในการไปโรงพยาบาลของประชาชน โดยมีนโยบายให้แพทย์ไปประจำอยู่ตาม รพ.สต. เพื่อบริการผู้ป่วยนอก และได้จัดตั้ง Contact Unit for All Primary Care (CUP) จำนวน 10 แห่ง มีแพทย์ประจำ เพื่อแบ่งเบาภาระในการดูแลรักษาของโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ พร้อมได้จัดซื้อหน้ากากอนามัยเพื่อแจกให้กับประชาชนจำนวน 3 ล้านชิ้น กระจายให้กับ อปท.ต่าง ๆ จำนวนกว่า 200 แห่ง

นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกรมฝนหลวง กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้ ฯลฯ โดยยังต้องการกำลังเพิ่มทั้งจากทหาร หรือภาคส่วนต่าง ๆ โดยในวันที่ 9 เมษายน 2567 จะได้จัดกิจกรรม Big Cleaning Day ล้างทำความสะอาดถนน รดน้ำต้นไม้ และสร้างความชุ่มชื้นในอากาศพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 08.30 น. ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่