กว่า 1 ปีความพยายามของภาคเอกชนในจังหวัดตราดที่จะปัดฝุ่น “ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่” มูลค่าก่อสร้าง 1,295 ล้านบาท ที่ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 8 ปี เพื่อทำเป็น “ท่าเรือท่องเที่ยว” ยังไม่มีอะไรคืบหน้า ล่าสุดได้มีการประชุมกันในจังหวัด เพื่อผลักดันกันอีกเฮือก
3 หน่วยรัฐกลืนไม่เข้าคายไม่ออก
ย้อนรอยวังวน “ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่” สร้างบนที่ราชพัสดุ หมู่ที่ 7 ต.คลองใหญ่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด โดยใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่า ในการก่อสร้างปี 2560 กรมเจ้าท่าเปิดหาผู้เช่าเข้ามาบริหารตามหลักเกณฑ์กรมธนารักษ์ แต่ไม่มีใครมาเช่า เพราะอัตราค่าเช่าสูงมาก และท่าเรือมีข้อจำกัด ไม่เหมาะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้า และรับเรือสินค้าได้ไม่เกิน 500 ตันกรอส
ต่อมากระทรวงคมนาคม ซึ่งรับผิดชอบ 2 หน่วยงาน ได้เสนอ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 มอบให้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เป็นผู้บริหารจัดการ เพื่อการขนส่งสินค้าเป็นหลัก แต่ผ่านมาเกือบ 6 ปี กทท.ไม่ได้เข้ามาบริหาร เพราะคงเห็นแล้วว่า เปิดไปไม่มีผู้มาใช้บริการขนถ่ายสินค้า ตามผลการศึกษาอันสวยหรูที่บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ไว้ ก่อนลงมือก่อสร้างเมื่อปี 2548
และล่าสุด กทท.แสดงนัยว่า “ไม่ต้องการเข้ามาบริหารท่าเรือแห่งนี้” แต่ “ติดมติ ครม.” ที่ค้ำคออยู่
หากขอยกเลิกมติ ครม.ต้องมีเหตุผลที่ดูดีในการส่งมอบคืนให้กรมเจ้าท่า ขณะที่ทางกรมเจ้าท่าก็ไม่อยากรับคืน และแสดงนัยว่าอยากโยนภาระนี้ส่งคืนให้กรมธนารักษ์
ขณะที่กรมธนารักษ์รู้ทัน ประกาศชัดเจนว่าจะรับคืนต่อเมื่อกรมเจ้าท่าต้องหาผู้ใช้ประโยชน์ท่าเรือให้ได้ก่อน เนื่องจากกรมธนารักษ์เห็นอยู่แล้วว่า รับมาต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทันที ก่อนเปิดประมูลหาผู้เช่าได้ โดยที่ผ่านมากรมเจ้าท่าต้องซ่อมแซมปรับปรุงตัวท่าเทียบเรือที่ทรุดโทรมตามกาลเวลามาแล้ว 3 ครั้ง อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อมีความพยายามผลักดันจากภาคเอกชนในจังหวัด ทำให้เมื่อปี 2566 กทท.ได้ศึกษาความเหมาะสม จัดทำ MARKET SOUNDING ไป 2 ครั้ง ซึ่งความเห็นทุกภาคส่วนออกมาตรงกันต้องการทำเป็น “ท่าเรือท่องเที่ยว” แต่จนถึงวันนี้ไม่มีความก้าวหน้าใด ๆ เกิดขึ้น
ชงเปิดทดลองใช้ท่าเรือฟรี
ที่ผ่านมาองค์กรภาคเอกชนในจังหวัดตราด ทั้งหอการค้าจังหวัดตราด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นว่าท่าเทียบเรือมีมูลค่าการลงทุนเกือบ 1,300 ล้านบาท ควรนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านการท่องเที่ยวเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ทันตแพทย์หญิงวิภา สุเนตร ประธานหอการค้าจังหวัดตราด เสนอว่า ขณะนี้บริษัท เลียวพาสด์ ทรานสปอร์เทชั่น จำกัด (LEOPARD TRANSPORTATION CO.,LTD) แสดงความสนใจขอเช่าท่าเรือแห่งนี้เพื่อการท่องเที่ยว เชื่อมโยงการเดินเรือท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล 3 ประเทศ ระหว่างไทย เวียดนาม กัมพูชา
จึงเสนอว่า ทางราชการควรเปิดให้เอกชนทดลองใช้ท่าเรือฟรีไปก่อน 2-3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่น เพราะตามระเบียบกรมธนารักษ์ต้องวางเงินประกันถึง 120 ล้านบาท และต้องเสียค่าเช่ารายปี รวมทั้งค่าใช้จ่ายดูแลท่าเรือ จึงทำให้ยังไม่มีเอกชนสนใจขอเช่า
นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรม จ.ตราด กล่าวเพิ่มเติมกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขอใช้ประโยชน์ท่าเรือจากกรมธนารักษ์มี 2 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 กทท.ได้รับมติ ครม.เห็นชอบให้เข้ามาบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งหน่วยงานรัฐได้รับข้อยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า และอัตราค่าเช่าต่ำกว่าภาคเอกชน แต่ กทท.ไม่ได้ทำสัญญาเข้ามาบริหาร และหากคืนสิทธิให้กรมเจ้าท่าต้องผ่านความเห็นชอบมติ ครม. ซึ่งกรมเจ้าท่าจะต้องหาเอกชนมาเช่าก่อนจึงคืนให้กรมธนารักษ์ได้ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆ
รูปแบบที่ 2 เอกชนเช่าจากกรมธนารักษ์โดยตรง จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า 10% ของมูลค่าโครงการ ประมาณ 120 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายดูแลท่าเรือ ค่าเช่ารายปี และมีการปรับขึ้น ตามอัตราและช่วงระยะเวลาที่กรมธนารักษ์กำหนด
“คาดว่าไม่เกิน 5 ปี การท่องเที่ยวทางน้ำจะลดระดับลง เพราะเส้นทางถนนเชื่อมโยงสีหนุวิลล์มีความสะดวกมากขึ้น จะเหลือเพียงนักท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ที่มีจำนวนไม่มากนัก ถ้าการท่าเรือฯบริหารจัดการ และเปิดโอกาสให้เอกชนมาทำสัญญาใช้บริการ หรือท้องถิ่นเข้ามาใช้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่การเช่าช่วง น่าจะทำให้เกิดผลดีได้ใช้ประโยชน์จากท่าเรือได้เร็วขึ้น ถ้าภายใน 2-3 ปี เส้นทางเชื่อมโยงทางน้ำกับเพื่อนบ้านยังไม่เกิดขึ้นจะไปต่อได้ยาก
หรือกรณีการท่าเรือฯยกเลิกสัญญา มีบริษัทเลียวพาสด์ ทรานสปอร์เทชั่น จำกัด สนใจขอเช่า กรมเจ้าท่าจะส่งคืนกรมธนารักษ์ได้ แต่ด้วยอัตราค่าเช่าที่สูง น่าจะมีการพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือลดจำนวนเงินวางประกัน ซึ่งหน่วยงาน กรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ การท่าเรือฯ และผู้ประกอบการคงต้องหารือร่วมกัน” นายสุทธิลักษณ์กล่าว
ค่าเช่าสูงทำท่าเรือเอง 50 ล้าน
ทางด้าน นางวิยะดา ซวง ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.ตราด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวให้ความสนใจท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่มาก จากการเปิดใช้เพื่อต้อนรับคณะท่องเที่ยวเชื่อมโยง CVTEC เมื่อเดือนมิถุนายน 2567
และเดือนกันยายนนี้จะมีผู้ประกอบการธุรกิจ บริษัทเดินเรือจากเมืองสีหนุวิลล์ กำปอต แกป จากกัมพูชามาร่วมประชุมออกแบบการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำเชื่อมโยงระหว่างประเทศ และกระจายไปตามเกาะต่าง ๆ ใน จ.ตราด เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก จึงเป็นโอกาสของท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแบบ One Stop Service เป็น “ศูนย์กลางของการท่องเที่ยวทางเรือ” ซึ่งจะเปิดเที่ยวเรือปฐมฤกษ์ในเดือนพฤศจิกายน 2567
“ด้วยโอกาสและศักยภาพของการพัฒนาเส้นทางน้ำเชื่อมโยงชายฝั่ง 3 ประเทศ ควรเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนอนุญาตใช้ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่ขับเคลื่อน “ทดลองนำร่อง” ไปก่อน ระยะ 1-2 ปีแรกอาจจะต้องยอมขาดทุนปีละ 5 ล้านบาท แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) เพิ่มขึ้น 5% คือ 1,000 ล้านบาท ซึ่งคุ้มค่า
หากเอกชนเห็นโอกาสไปได้ดีจะขอเช่า แต่ถ้าไม่บริหารจัดการ ปล่อยไปตามสภาพ มีท่าเรือเอกชนอีก 2-3 แห่งที่ใช้ได้ หรือเอกชนอาจจะสร้างท่าเรือขนาดเล็กด้วยงบประมาณ 50-60 ล้านบาทขึ้นมาเอง ดีกว่าต้องเสียค่าเช่าในอัตราที่สูง แต่การมีหลาย ๆ ท่าเรือต้องมีความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ แต่ถ้าท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่จะพัฒนาเป็นวันสต็อปเซอร์วิสได้คือความสะดวก” นางวิยะดากล่าว
ชาวบ้านชงเจ้าท่าขอจัดอีเวนต์
นายเจษฎาพงษ์ ศิริขวัญ ตัวแทนชาวบ้าน อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ระหว่างที่ยังไม่มีผู้ประมูลใช้ประโยชน์ท่าเรือ ต้องการให้กรมเจ้าท่าอนุญาตให้ชาวบ้านได้เข้าไปใช้ประโยชน์ ให้จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การท่องเที่ยวทางน้ำ พายเรือคายัก ซับบอร์ดบริเวณปลายสะพาน การจัดอีเวนต์ถนนคนเดิน ตกปลา ฟู้ดทรักขายอาหาร คาดว่าจะทำให้ชาวบ้านใน อ.คลองใหญ่ และจังหวัดตราดได้มีรายได้
“ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวที่จะนำเงินรายได้ 50-100 ล้านบาท ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลากี่ปี และไม่แน่ใจว่าชาวบ้านจะมีรายได้จากตรงนี้ด้วยหรือไม่ แต่หากอนุญาตชั่วคราวระหว่างนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ทันที”
ชี้ตั้งต้นผิดล็อคสสเป็กเลี่ยงEIA
นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่าเรืออเนกประสงค์คลองใหญ่นี้ ไม่มีผู้ประกอบการกล้าเช่านำไปใช้ประโยชน์ เพราะผิดแบบมาตั้งแต่ต้น มีการ “ล็อกสเป็ก” ให้เรือขนาดไม่เกิน 500 ตันกรอส เพื่อให้ก่อสร้างได้ โดยไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงสร้างของท่าเรือไม่ได้รองรับการขนส่งสินค้า หรือหากใช้ประโยชน์ด้านท่องเที่ยวต้องแยกพื้นที่ออกไปคนละโซน
หลักเกณฑ์การส่งมอบจากกรมเจ้าท่าให้กรมธนารักษ์ ต้องหาผู้เช่าให้ได้ แต่อัตราค่าเช่าถูกกำหนดไว้สูงมากขนาดเงินประกันต้องใช้ถึง 10% ของมูลค่าการก่อสร้าง คือ 100 กว่าล้านบาท และยังไม่รวมอัตราค่าเช่ารายปีอีก
จริง ๆ เป็นเรื่อง “เนื้อเต่า ยำเต่า” หน่วยงานของรัฐด้วยกันที่จะร่วมกันแก้ไข ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขาดการตัดสินใจจากผู้กำหนดนโยบาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ จึงอยู่ที่ตัวแทนระดับสูงระหว่างกรมเจ้าท่าและกรมธนารักษ์ จะมาปรึกษาหารือร่วมกัน เพื่อผ่อนปรนและหาทางออกได้มากน้อยเพียงใด และเสนอมติ ครม.ให้ปรับเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลา
“ในเมื่อโอกาสของการใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดตราดมีให้เห็น ที่จะสร้างรายได้มูลค่าเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1,000 ล้านบาท หากปล่อยนานไปท่าเรือมีแต่จะเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ และหมายถึงงบประมาณซ่อมบำรุงที่ต้องเพิ่มขึ้น” นายศักดินัยกล่าว