ภัยแล้งกระหน่ำตรังพื้นที่เสียหายกว่าแสนไร่

เกิดปัญหา - ตรังมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่าค่าปกติ น้ำใต้ดินมีน้อยอากาศแห้ง เกิดปัญหาภัยแล้ง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

ภัยแล้งกระหน่ำ ฝนทิ้งช่วง ขยายวงกว้างครอบคลุม 10 อำเภอกว่าแสนไร่เสียหาย พร้อมประสานทำฝนหลวงช่วยแก้ปัญหา

นายจรูญศักดิ์ สุขขุม เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง จากการสำรวจเบื้องต้น เป็นปาล์มน้ำมันขนาดเล็กอายุ 1-2 ปี ในพื้นที่ทุกอำเภอ ประมาณ 29,776 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 28.448 ยางพาราขนาดเล็กอายุ 1-3 ปี ในพื้นที่ทุกอำเภอ ประมาณ 72,489 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 69.255 ข้าวนาปีอยู่ในระยะตั้งท้อง ในพื้นที่อำเภอเมืองตรัง อำเภอห้วยยอด อำเภอวังวิเศษ อำเภอนาโยง และอำเภอรัษฎา ประมาณ 1,542 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.473 ไม้ผลในพื้นที่ทุกอำเภอ ประมาณ 782 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.447

นายจรูญศักดิ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับพืชผักในพื้นที่อำเภอวังวิเศษ อำเภอปะเหลียน อำเภอเมืองตรัง และอำเภอนาโยง ประมาณ 80 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.076 ทั้งนี้ ในปี 2562 จังหวัดตรังมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปี 2561 ประมาณร้อยละ 10 ส่งผลให้ปริมาณน้ำใต้ดินมีน้อย รวมทั้งปริมาณน้ำใต้ดินหายไปเร็วขึ้นทำให้อากาศแห้งแล้งเร็วกว่าเดิม และมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา

“สำหรับปีนี้จะได้รับผลกระทบเร็วกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่ามีพื้นที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น และจะเริ่มคลี่คลายในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นภาวะปกติของจังหวัดตรัง โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ คาดการณ์ว่าพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยแล้งด้านการเกษตรในช่วงปี 2563 จะครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอ 84 ตำบล 399 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 104,669 ไร่” นายจรูญศักดิ์กล่าว

นายธวัชชัย ฤกษ์เกลี้ยง หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง กล่าวว่า ด้วยสภาวะในปัจจุบันได้เกิดปัญหาภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางหลายอำเภอในจังหวัดตรัง และสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกษตรกร ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและทันท่วงที ที่จะเกิดผลกระทบเสียหายต่ออาชีพทำการเกษตรและอาชีพอื่น ๆ ของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรัง โดยประสานทุกพื้นที่เตรียมรถบรรทุกน้ำแจกจ่ายให้ประชาชนทุกพื้นที่อย่างพอเพียง

“สภาเกษตรกรจังหวัดตรังได้ตระหนักถึงปัญหาภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนทั่วไป จึงได้ขอความร่วมมือให้เครือข่าย คณะผู้ปฏิบัติงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง ระดับตำบล หมู่บ้านร่วมกันแจ้งพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคมายังสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง เพื่อที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดตรังจะได้ดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการประสานกับศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรเนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วย” นายธวัชชัยกล่าว