“เอ็ม.ที.ฟรุทฯ” ส่งออกส้มโอวูบ 30% จีนชะลอซื้อ-ขาดแคลนตู้ขนส่ง

พิษโควิดทำส่งออกส้มโอซบเซา ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ผู้ประกอบการประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า กระทบการส่งออกกว่า 30% ราคาส้มโอในประเทศตกต่ำกว่าทุกปี คาดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ราคาจะปรับสูงขึ้นและส่งออกส้มโอจะกลับมาปกติ

นายบุญเกิด มีทวี ผู้จัดการบริษัท เอ็ม.ที.ฟรุท โปรดักส์ จำกัด ผู้ส่งออกส้มโอรายใหญ่ จ.พิจิตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจปัจจุบันค่อนข้างซบเซา เนื่องจากยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง

ทำให้กระทบต่อตลาดส่งออกกว่า 30% ซึ่งโดยปกติจะส่งออกไปยังประเทศจีน 90% และประเทศโซนตะวันออกกลางอีก 10% มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 80-90 ล้านบาท/ปี

“จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การส่งออกส้มโอได้รับผลกระทบกว่า 30% จึงหันมาขายตลาดภายในประเทศ ซึ่งการทำตลาดเป็นไปได้ยาก เนื่องจากตลาดภายในประเทศมีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคอยู่แล้ว

อีกทั้งปีนี้ราคาส้มโอต่ำกว่าทุกปี โดยส้มโอตระกูลขาวใหญ่ ขาวแตงกวา และขาวน้ำผึ้งอยู่ประมาณ 35-40 บาท/กก. ส้มโอพันธุ์ทองดีประมาณ 30-35 บาท/กก. และทับทิมสยามประมาณ 60 บาท/กก.”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาส้มโอจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม เนื่องจากในต่างประเทศ เช่น ประเทศจีนผลไม้ที่ปลูกเองในประเทศกำลังจะหมด ดังนั้น หลังจากเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นต้นไป ความต้องการนำเข้าสินค้าประเภทผลไม้ในจีนจะเพิ่มขึ้น ทำให้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การส่งออกทางบริษัทมีระบบขนส่ง 2 รูปแบบ คือ ขนส่งทางเรือที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี แต่ตอนนี้ประสบปัญหาขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้า ทำให้การขนส่งต้องชะลอตัว และการขนส่งทางบกไปเส้นทางถนนผ่าน สปป.ลาว และเวียดนาม เข้าไปยังประเทศจีน ซึ่งค่าขนส่งยังคงเดิม เนื่องจากการขนส่งจะเกี่ยวโยงกับน้ำมันเป็นส่วนใหญ่

สำหรับผลผลิตทางบริษัทมีการรับซื้อมาจากเกษตรกรในเครือข่ายทั่วประเทศมีพื้นที่การปลูกกว่า 21,000 ไร่ ปัจจุบันได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% โดยส่วนใหญ่จะรับซื้อส้มโอ 3 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ พันธุ์ทองดี 40% ส้มโอตระกูลขาว 50% อาทิ ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ขาวใหญ่ และพันธุ์ทับทิมสยาม 10% เนื่องจากยังมีพื้นที่ปลูกน้อย

ในส่วนของพื้นที่ปลูกส้มโอทั่วประเทศคาดว่ามีประมาณ 2-3 แสนไร่มูลค่าตลาดส้มโอทั่วประเทศหลายพันล้านบาท เนื่องจากมีหลายจังหวัดที่ประกอบธุรกิจส่งออกส้มโอ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจส่งออกส้มโอรายใหญ่ประมาณ 3-4 ราย

และที่เหลือเป็นผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้จังหวัดพิจิตรเป็นตลาดกลางส้มโอยังคงไม่เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีงบประมาณในส่วนนี้ ทำให้โครงการต้องชะลอไว้ก่อน