“ทุเรียนพาสเจอไรซ์” ตราด เล็งขยายแฟรนไชส์ 6 ประเทศ

ความต้องการ “ทุเรียน” ราชาผลไม้ของไทยในหลายประเทศยังพุ่งขึ้นสูง แม้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ทั้งทุเรียนผลสด ทุเรียนแช่แข็ง (frozen durian) ทุเรียนอบกรอบระบบสุญญากาศ (durian vacuum freeze dried)

รวมถึงทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ (fresh pasteurized durian) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชื่นชอบทุเรียนสดที่มีคุณภาพ และผู้บริโภคยุคใหม่ Gen Y ที่ต้องการความสะดวกสบายประเภท ready to eat

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สุวรรณ ภักดีวงศ์” ประธาน บริษัท เฟรช พาสเจอไรซ์ ทุเรียน จำกัด ผู้คิดค้นนวัตกรรมทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ส่งตลาดต่างประเทศ จีน อเมริกา ยุโรป แคนาดา และเป็นโอกาสทุเรียนหมอนทองของไทยได้แข่งขันกับมูซังคิงของมาเลเซีย

สิทธิบัตรทุเรียนสดพาสเจอไรซ์

นายสุวรรณ ภักดีวงศ์ หรือ แดน วีรวงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เฟรช พาสเจอไรซ์ ทุเรียน จำกัด เล่าว่า ก่อนก้าวมาสู่ธุรกิจส่งออกทุเรียน ทำธุรกิจเนื้อปูม้ากระป๋องพาสเจอไรซ์

ส่งออกไปตลาดอเมริกามาร่วม 30 ปี ในนามบริษัท Gulf.coast Crab International co,Ltd. และ GrandbaySeafood ทำแบรนด์ของตัวเองและรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นอีก 5 บริษัท

โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.หนองคันทรง อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยใช้วัตถุดิบปูม้าในไทยและประเทศเพื่อนบ้านรอบ ๆ แต่ปี 2557 โรงงานได้ปิดตัวเพราะไม่มีวัตถุดิบ

ด้วยประสบการณ์ทำเนื้อปูสดพาสเจอไรซ์ จึงคิดทำ “ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์” ลักษณะแบบเดียวกัน เพราะทุเรียนเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน และตลาดจีนยังต้องการบริโภคทุเรียนสดที่มีคุณภาพ

และเป็นช่องทางที่ทุเรียนหมอนทองไทยได้แข่งขันกับมูซังคิง ประกอบกับเป็นนวัตกรรมใหม่ ตลาดไม่มีการแข่งขันสูงเหมือนทุเรียนผลสด ทุเรียนแช่แข็ง (frozen) จึงใช้เวลา 3 ปีเต็ม ทุ่มเทให้มหาวิทยาลัยในไทย และต่างประเทศ

เพื่องานวิจัยทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ให้มีคุณภาพเหมือนทุเรียนสด โดยการผลิตเนื้อปูสดและทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ มีค่า pH เท่ากัน คือ 7.2-7.6 โดยการทำพาสเจอไรซ์ค่า pH ต้องสูงกว่า 4.6

หลังประสบความสำเร็จ ปี 2562 ได้จดสิทธิบัตรในไทย จีน อเมริกา เวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ปี 2563 เริ่มผลิตและทำการตลาด

ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในตลาดต่างประเทศมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้ทำตลาดยากขึ้น แต่อีกมุมมองกลับเป็นโอกาสให้สินค้าตัวใหม่ทำตลาดได้ง่ายขึ้น

“การมีคอนเน็กชั่นกับผู้ที่เคยร่วมกันทำธุรกิจปูสดพาสเจอไรซ์ ทั้งแหล่งวัตถุดิบในประเทศเพื่อนบ้านและตลาดอเมริกาปลายทาง เปรียบเสมือนมีต้นทุนสูง ทำให้การบริหารจัดการง่ายขึ้น ใช้คอนเน็กชั่นกับกลุ่มคู่ค้าเดิม ๆ เป็นส่วนใหญ่

ชูหมอนทองท้าแข่งมูซังคิง

สุวรรณกล่าวถึงการทำวิจัยว่า ได้ตั้งเป้าหมายทำทุเรียนหมอนทองสดพาสเจอไรซ์ให้มีคุณภาพพรีเมี่ยม เทียบเท่าทุเรียนผลสดมูซังคิงของมาเลเซีย โดยการพาสเจอไรซ์เริ่มตั้งแต่ต้นทาง

สวนต้องมีใบรับรอง GAP ไม่เน้นทรง แก่จัด 90% อายุ 120 วัน เม็ดสีแดง ถ้าสีเหลืองขาวต้องคัดออก จะนำมาบ่มให้สุกก่อน 2-3 วัน จากนั้นนำมาแกะเป็นพูและนำเมล็ด (seedless) และบริเวณติดไส้สีขาวออก

ทดสอบความหวาน 27-35 บริกซ์ ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ที่รักษาไม่ให้ทุเรียนสุกเกินไป ฆ่าเชื้อด้วยความร้อนและช็อกด้วยความเย็น ใช้เวลา 1-2.30 ชั่วโมง จากนั้นบรรจุในถุง pouch เนื้อจะเป็นพลาสติกเคลือบ 3 ชั้น

ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร ให้พอดีกับพูทุเรียนไม่ให้เสียรูปทรง ซีลปากถุงด้วยระบบ vacuum pack ถาดที่ใส่จะทนความร้อน กระบวนการต้องเสร็จภายใน 4 ชั่วโมง ภายในห้องที่ควบคุมอุณหภูมิ 10-15 องศาเซลเซียส จะได้เนื้อทุเรียนสด

สีเหลืองนวล เนื้อนุ่ม คงความหวาน และเก็บรักษาในอุณภูมิตู้เย็นปกติ 1-4 องศาเซลเซียส เช่นเดียวกับตู้คอนเทนเนอร์ขนส่ง

โชคดีที่ปีนี้หน่วยราชการมีมาตรการป้องกันทุเรียนอ่อน ทำให้ทุเรียนที่เข้าโรงงานมีการคัดคุณภาพง่ายขึ้น การฆ่าเชื้อทำความสะอาดด้วยกระบวนการพาสเจอไรซ์จะมี 2 เวอร์ชั่น คือ อายุการบริโภคเก็บไว้ไม่เกิน 3 เดือน และ 6 เดือน

ในรายละเอียดของรสชาติ และเทกซ์เจอร์จะต่างกัน โดยเฉพาะความหวานจะเพิ่มขึ้น 40-45 บริกซ์ โดยเฉพาะการส่งออกประเทศจีน จะขออายุเก็บรักษา 6 เดือน

เพราะมีความหวานกว่า เนื้อนุ่มกว่าที่เรียกว่า กรอบนอก นุ่มใน ส่วนอายุ 3 เดือนจะเหมาะกับคนไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี เพราะหวานน้อยกว่า

“มูซังคิงโปรดักต์เป็นที่ยอมรับในตลาดจีน เป็นทุเรียนสุก แต่ราคาสูงกว่าหมอนทอง หากคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพทุเรียนหมอนทองของไทยให้คุณภาพเทียบเคียงกับมูซังคิงได้ ทั้งรสชาติ เนื้อสัมผัส ความนุ่มละมุน ความหวาน

แต่ราคาถูกกว่ามูซังคิงครึ่งหนึ่ง ต้นทุนจะต่ำกว่าและทำให้ผู้บริโภคได้ทานทุเรียนสดที่สะดวกสบาย ง่ายขึ้น เหมาะกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ

และดีต่อสุขภาพ ปลอดภัยจากแบคทีเรียต่าง ๆ แต่การทำตลาดจะไม่ระบุพันธุ์หมอนทองเพราะคนจีนเปรียบเทียบหมอนทองเป็นโลว์ควอลิตี้หากเทียบกับมูซังคิง”

พาสเจอไรซ์เสียบผลสด แช่แข็ง

นายสุวรรณกล่าวถึงสถานการณ์ตลาดทุเรียนในจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักว่า การขายทุเรียนผลสดมีการแข่งขันสูง เพราะชาวจีนเริ่มเข้ามาทำตลาดเองถึงสวนทุเรียนในเมืองไทย การแข่งขันสูงมาก เราค้าขายสู้คนจีนไม่ได้

และพฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของคนจีนเปลี่ยนไป โดยเฉพาะคนรุ่น Gen Y ที่ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และสะดวกรวดเร็ว และราคาจับต้องได้ ดังนั้นการทำตลาดทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ได้จดสิทธิบัตรในจีนไว้แล้ว

ไม่ต้องแข่งขันกับคนจีน และในช่วงที่ไม่มีทุเรียน 6 เดือน เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ส่งไปขายได้ตลอดปี ซึ่งลูกค้าตอบรับดีเพราะไม่มีเปลือก ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคและแมลง และเชื้อโควิด-19

“ทุเรียนแช่แข็งพรีเมี่ยม กิโลกรัมละ 500 บาท ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ 800 บาท แต่ยังต่ำกว่าทุเรียนสดเกรดพรีเมี่ยมแกะเปลือก กิโลกรัมละ 1,000 บาท แต่ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ไร้เมล็ด ปลอดเชื้อ

และยังคงคุณค่าทางโภชนาการ เป็นช่องว่างที่ทุเรียนสดพาสเจอไรซ์ทำตลาดได้ โดยสินค้าที่ส่งออกมีบรรจุ 4 ขนาด น้ำหนักตั้งแต่ 150-200-300-400 กรัม ให้ลูกค้าได้เลือก ขนาด 150-200 กรัม เด็ก ๆ นักศึกษามีกำลังซื้อ ทานได้ทันที

ซึ่งต้นทุนการทำพาสเจอไรซ์ทุเรียนสด กิโลกรัมละ 150 บาท ยังทำได้ ในขณะที่ทุเรียนแช่แข็งต้นทุนสูงกว่า 90 บาท จะไม่คุ้มทุน”

เล็งขยายแฟรนไชส์สู่ตลาดโลก

นายสุวรรณกล่าวว่า ได้เปิดตลาดปลายปี 2563 ตลาดหลักลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงในตลาดจีน และชาวจีนที่อยู่ในอเมริกา ยุโรป แคนาดา เพราะคนจีนชื่นชอบทุเรียนมาก นอกจากทุเรียนสดพาสเจอไรซ์แล้ว ยังผลิต duriand pulp

เนื้อทุเรียนที่นำไปปรุงอาหารด้วย การตลาดในจีนจะส่งขายห้างเหอมา (Herma) ซูเปอร์มาร์เก็ตของอาลีบาบา ที่เมืองคุนหมิงและอีกหลาย ๆ เมือง ให้กระจายสินค้าออกไป ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

เพื่อแข่งขันกับมูซังคิง และได้ทำข้อตกลงกับบริษัท Vet Products Group เป็นตัวแทนขายในจีน ซึ่งบริษัทได้ทำสัญญากับบริษัท Esenagro และอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท Pure Energy

พยายามให้บริษัทรายเล็กได้เข้ามาซื้อโดยตรงและกระจายสินค้าออก โดยเป็นผู้ผลิตส่งโดยตรง ระบบการขนส่งทางบกน่าสะดวกที่สุด เพราะทางเครื่องบินต้องจองนาน หรือทางรถไฟจะส่งได้ปริมาณน้อยครั้งละไม่เกิน 1 ตัน

อนาคตประเทศต่าง ๆ ที่จดสิทธิบัตรไว้ จะมีแฟรนไชส์ทำการผลิตและทำการตลาด อีคอมเมิร์ซ มีแพลตฟอร์มของบริษัทเอง เป้าหมายต่อไปตลาดกลุ่มอเมริกัน ยุโรป

โดยสร้างความเข้าใจการบริโภคทุเรียนที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะเส้นใยสูงถึง 21% และคอเลสเตอรอล 0% ส่วนวัตถุดิบได้ประสานกับเกษตรกรและองค์กรภาคใต้ ภาคตะวันออก

เป็นซัพพลายเออร์ส่งทุเรียนให้ และโรงงานมีขีดการผลิตอย่างต่ำ 500-1,000 แพ็ก/วัน สูงสุดผลิตได้ถึง 10,000 แพ็ก/วัน