หอการค้าเชียงใหม่ชี้ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังปี’65 ท่องเที่ยวฟื้น

ท่าอากาศยานเชียงใหม่
ท่าอากาศยานเชียงใหม่

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประเมินเศรษฐกิจไตรมาส 2 ชี้การฟื้นตัวต่ำ ชี้ 6 ปัจจัยเสี่ยงฉุดเศรษฐกิจ คาดครึ่งปีหลังแนวโน้มกระเตื้องขึ้น

วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 นายจุลนิตย์ วังวิวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในการแถลงข่าวประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่จากการสำรวจความเห็นของคณะกรรมการและสมาชิกหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มในครึ่งปีหลัง 2565 พบว่า

ภาคการค้า 80% เห็นว่ายอดขายยังอยู่ในทรงตัวจนถึงขั้นดีขึ้น ที่ชัดเจนคือธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ดีขึ้น เนื่องจากปัญหาโควิดจะค่อย ๆ คลี่คลายจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงครึ่งหลังของปี และคาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มกลับมาช่วงวันแรงงานปี 2566 หรืออย่างช้าวันชาติจีน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ภาคเอกชนในพื้นที่ประสบหลัก ๆ ได้แก่ ต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้น เช่น ราคาน้ำ มัน ปุ๋ย ในต้นปีที่ผ่านมาปัญหาหมอกควัน ยังเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยว/ผู้พำ นักระยะยาวและตลาด Wellness รวมถึงปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจที่มีเครดิตเทอมยาวขึ้น และลูกหนี้ธุรกิจไม่ชำระหนี้ตามกำหนด

“ข้อเสนอของหอการค้ายังต้องการให้สถาบันการเงินสนับสนุนเงินให้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรออกมาตรการช่วยลดต้นทุน รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อลดค้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ที่สำคัญคือภาคเอกชนกำลังจะเร่งประสานให้เกิดเที่ยวบินตรงหรือ Direct Flight จากต่างประเทศมาลงจังหวัดเชียงใหม่ เช่น

จากซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ประเทศในยุโรปและประเทศเอเชียกลุ่ม Wellness Travelers ทั้งนี้ ปัจจัยเร่งคือมีการอำนวยความสะดวกทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาซึ่งทางภาคเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับภาครัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวในไตรมาส 3ต่อไป”

ด้านนายอาคม สุวรรณกันธา รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่ที่สำคัญ ได้แก่ 1.GDP โลกชะลอลง กระทบการส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้าลง 2.นโยบายโควิด 0% ของจีน ทำให้การท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวช้า

3.ปัญหาการชำระหนี้และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้ควรมีความยืดหยุ่นในเกณฑ์ตามสภาพความเป็นจริงและความสามารถในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของลูกค้า ไม่ควรมีกฎเกณฑ์และรูปแบบตายตัว

4.ปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนเกี่ยวกับน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในสัดส่วนสูง เช่น ขนส่ง ปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ และก่อสร้าง 5.เศรษฐกิจหดตัวขาดกำลังซื้อและแข่งขันสูง ที่เชียงใหม่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง ทำให้เกิดปัญหาแย่งงานกัน และแข่งขันกันด้านราคา 6.ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลง ที่ในด้านดีก็จะช่วยภาคส่งออกให้สามารถแข่งขันได้มาก ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกจะขยายตัวสูง