“บิ๊กตู่” บินภูเก็ตมอบยุทธศาสตร์ SMILES ดึงทั่วโลกเที่ยวไทยฟื้นเศรษฐกิจ

นายกฯมอบยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES) กระตุ้นท่องเที่ยวไทย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในทุกมิติ เชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเป็นปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนากำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวประเทศไทย (Thailand Tourism Congress 2022) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง

“ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน” โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้การต้อนรับและกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่มาเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา ซึ่งนับเป็นการส่งสัญญาณให้นานาประเทศได้ตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะอยู่ร่วมกับโควิดอย่างสมดุล เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกลุ่มประเทศที่เป็นลูกค้าหลักของการท่องเที่ยวไทยถึงการเดินหน้าอย่างมียุทธศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจที่สำคัญให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อร่วมมือกันระดมความคิดและออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยด้วยตัวเอง

จากนั้นนายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ยุทธศาสตร์การยกระดับการท่องเที่ยวไทยสู่การท่องเที่ยวคุณภาพที่ยั่งยืน” นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล สรุปสาระสำคัญดังนี้ การเปิดโครงการ Thailand Tourism Congress 2022 ในวันนี้ เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ประกอบการและทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย

โดยเฉพาะพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ตที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้ Phuket Sandbox กลายเป็นแบบอย่างของหลายประเทศ แม้ทุกคนจะผ่านความยากลำบากมาตลอด 2 ปี แต่วิกฤตได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวไทยให้เดินหน้าต่อไป

และเชื่อมั่นว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับมาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญพร้อมการเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอีกครั้ง จากสถิติจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และจะค่อย ๆ กลับคืนสู่ภาวะปกติเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะเงื่อนไขการเดินทางเข้าประเทศที่อำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ Phuket Sandbox นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ กระตุ้นด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรมและที่พัก การเดินทาง ร้านอาหาร ไปจนถึงสินค้าอื่น ๆ ให้สามารถประคองตัวต่อไปได้ โดยรัฐบาลพร้อมผลักดันและหามาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวแนวใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวชุมชน

ซึ่งจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ รูปแบบการท่องเที่ยวไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ดีจะต้องเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ให้พี่น้องประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญของรัฐบาลที่มุ่งมั่นสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นเพื่อการสร้างและกระจายรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงหลักเศรษฐศาสตร์ Multiple Effects หรือผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจที่สามารถต่อยอดได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากการท่องเที่ยวในประเทศ และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องผ่านการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ต้องการการดูแลที่เข้าใจและใกล้ชิดโดยเฉพาะการดูแลสิ่งแวดล้อม อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของการท่องเที่ยวไทย

โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และให้ความสนใจกับคุณภาพของนักท่องเที่ยวมากกว่าปริมาณนักท่องเที่ยว และยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อคุณค่าของสิ่งแวดล้อม ต่อคุณค่าวัฒนธรรม และต่อคุณค่าความเป็นไทยด้วย ซึ่งเป็นสิ่งผู้เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทยจะต้องร่วมมือกันในการสร้างยุทธศาสตร์ มีแผนการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและสอดคล้องกัน และที่สำคัญคือการเป็นแบบอย่างที่ดี

นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงอนาคตการท่องเที่ยวโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วบนความไม่แน่นอน และเต็มไปด้วยความท้าทายทุกรูปแบบ หรือ VUCA ดังนี้ V-Volatile หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว U-Uncertainty โลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน C-Complexity โลกที่มีความซับซ้อน

และ A-Ambiguity โลกที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ซึ่งการรับมือกับ VUCA World มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์ที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวมาก การร่วมมือกันของทุกคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในวันนี้

เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมเพื่อร่วมกันออกแบบยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยให้สามารถตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ ซึ่งแนวโน้มสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำ และเรื่องธรรมาภิบาลทั้งของภาครัฐและเอกชน หากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยใช้หลักดังกล่าวเป็นกรอบนโยบายในการออกแบบยุทธศาสตร์ ประเทศไทยก็จะมียุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่ดี และจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพของโลก

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการเข้ามาและการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลที่เริ่มมีบทบาทอย่างมากทั้งในชีวิตประจำวัน และโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะเรื่อง Metaverse ที่ทุกประเทศต่างมียุทธศาสตร์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ไปท่องเที่ยวและสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทยก็มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ

โดยต้องให้ความสำคัญมากขึ้น คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงการบริการด้านการแพทย์ หรือการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับเรื่องอาหารพื้นถิ่น กิจกรรมพื้นบ้าน รวมถึงของที่ระลึก เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในอนาคต

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีมอบยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม (SMILES) เพื่อเป็นกรอบในการระดมสมอง ประกอบด้วย S-Sustainability ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งเรื่องการใช้พลังงาน Carbon Footprint ไปจนถึง Food Waste/M-Manpower ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการท่องเที่ยวที่มีทักษะในระดับนานาชาติ แต่รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างมีเสน่ห์/ I-Inclusive Economy ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ให้ความสำคัญกับคนทุกเพศ ทุกวัย เด็ก คนชรา ออกแบบสถานที่การท่องเที่ยวให้ตอบสนองทุกกลุ่มคน และสร้างโอกาสในการทำงานด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส/

L-Localization ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ชูจุดเด่นที่แตกต่างกัน และนำมาร้อยเรียงกันให้สนับสนุนกัน มีความเชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาคที่ประสานและสอดรับกันได้/E-Ecosystems ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางการท่องเที่ยว ทั้งเรื่องระบบนิเวศธรรมชาติ และระบบนิเวศทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

รวมถึงการลดเงื่อนไข ลดขั้นตอนทางด้านกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้ และ S-Social Innovation ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปจากปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญกับคน (People) ใส่ใจโลก (Planet) และสิ่งแวดล้อม (Profit) ด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ส่งเสริม และร่วมกันแก้ปัญหา โดยการระดมความคิดและร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวไทยในวันนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ร่วมกันกำหนดทางเดินของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ให้มียุทธศาสตร์อย่างรู้ทันแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้ง Demand และ Supply เพื่อส่งต่อหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้คนรุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจ

และนับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ทุกคนจะร่วมกันกำหนดอนาคตการท่องเที่ยวไทยด้วยคนท่องเที่ยวเอง และรัฐบาลจะรับบทสรุปหรือข้อเสนอจากการระดมสมองกำหนดยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้ไปพิจารณา และจะลงมือทำในสิ่งที่ทำได้ทันที เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวของประเทศเดินหน้าต่อไป และเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย

ด้านนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตกล่าวว่า การประชุมสัมมนาโครงการ Thailand Tourism Congress 2022 ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมบียอนด์ รีสอร์ท กะตะ ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นและองค์ความรู้ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวสำคัญของการท่องเที่ยวโลก

อีกทั้งเป็นโอกาสในการระดมสมองและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ความยั่งยืนและสมดุล รวมทั้งการสร้างเครือข่ายการพัฒนาทั้งจากภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อเป็นกลไกในการสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขัน และสร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมไทยได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกมิติอย่างครอบคลุม

นอกจากนี้ เป็นการผลักดันบทบาทของประเทศไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (Medical Tourism Destination) ตอบรับแผนการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ