ภูเก็ตซ้อมหนีภัยสึนามิ 20 ก.ค.นี้ แจ้งเตือนภัย 5 ภาษา

ภูเก็ตซ้อมหนีภัยสึนามิ

ภูเก็ตซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ 20 ก.ค.นี้ แจ้งสัญญาณเตือนภัย 5 ภาษา ไทย-อังกฤษ-ญี่ปุ่น-จีน-รัสเซีย เตรียมพร้อมจุดอพยพหลบภัย 3 อำเภอ กว่า 200 แห่งรับมือ

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ต โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดฝึกซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิ ประจำปีงบประมาณ 2565 ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เน้นทดสอบระบบแจ้งเตือน ระบบบัญชาการเหตุการณ์และระบบศูนย์พักพิง

จังหวัดภูเก็ต มี 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ ซึ่งการฝึกซ้อมในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 กำหนดไว้ 2 อำเภอ คือ อำเภอเมือง และอำเภอถลาง ส่วนอำเภอกะทู้ จะกำหนดวันฝึกซ้อมในเร็ว ๆ นี้

ภูเก็ต

การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เริ่มการฝึกซ้อมเวลา 10.00 น. โดย นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมบนโต๊ะ (TTX) ระบบคอนเฟอเรนซ์ (ออนไลน์) ไปยังทุกศูนย์ที่ร่วมฝึกซ้อมและฝึกภาคสนาม (Drill) ในวันเดียวกัน

โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดจะแจ้งไปศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอให้อำเภอรับทราบเตรียมความพร้อมตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ และอำเภอแจ้งไปยังศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อซ้อมอพยพหนีภัย

โดยกำหนดสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเล ที่มีโอกาสเกิดสึนามิ ขนาด 7.8 ริคเตอร์ มีการแจ้งสัญญาณเตือนภัย 5 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษารัสเซีย ไปที่หอเตือนภัย จำนวน 19 หอ ทำการแจ้งเตือน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1.แจ้งเฝ้าระวัง ครั้งที่ 2.แจ้งอพยพ ไปยังพื้นที่ปลอดภัย ที่กำหนดไว้ ซึ่งภูเก็ตมีจุดอพยพหลบภัยใน 3 อำเภอ รวม กว่า 200 แห่ง

ภูเก็ตซ้อมหนีภัยสึนามิ

การฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิตามแผนปฏิบัติการครั้งนี้ อำเภอเมือง จัดให้มีการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยสึนามิ ทุกตำบล จุดหลักที่ทำการฝึกซ้อมปฏิบัติ ของอำเภอเมือง คือ หาดกะรน ให้กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชน ผู้ประกอบการ นักเรียน ในพื้นที่ รวมตัวกันประมาณ 100 คน เริ่มต้นวิ่งจากชายทะเลหาดกะรน ไปที่ วัดสุวรรณคีรีเขต (วัดกะรน)

ส่วนอำเภอถลาง การซ้อมบนโต๊ะ ทุกตำบลต้องเข้าร่วมฝึกซ้อม การซ้อมปฏิบัติกำหนดจุดเดียว คือ อบต.สาคู เป็นจุดปฏิบัติการ กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชน ผู้ประกอบการ นักเรียนในพื้นที่ รวมตัวกันประมาณ 100 คน ที่บริเวณหาดในยาง และวิ่งอพยพจากชายหาดในยางไปที่โรงเรียนวัดมงคลวนาราม (วัดในยาง)

การฝึกซ้อมครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ตามกระบวนการจัดการที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการจัดการศูนย์พักพิงให้มีความพร้อมที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัยให้มีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภครองรับสถานการณ์